กระแสการเมืองของประเทศพัฒนาแล้วของเอเชีย อย่าง เกาหลีใต้ กำลังเข้มข้น ร้อนระอุ หลังจาก ประธานาธิบดียุนซอกยอล ประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะถูกยกเลิกโดยพลังเสียงโหวตของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชนิดไม่ทันข้ามคืน
- เผยสาเหตุทำไม “ยุนซอกยอล” ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ถึงต้องประกาศกฎอัยการศึก?
ว่าด้วยเรื่องการเมืองของประเทศเกาหลีใต้ นั้นถือว่ามีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาก ทุกคนมีความเท่าเทียม แม้ผู้มีอำนาจหรือระดับผู้นำสูงสุดกระทำความผิด ก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเฉกเช่นประชาชนทั่วไป
ย้อนไปในอดีต มีผู้นำดินแดนโสมขาวหลายคนที่ถูกถอดถอน ดำเนินคดี และจำคุก หลังหมดอำนาจ ซึ่งหลายกรณีเป็นฝีมือของคู่แข่งทางการเมืองที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศในวาระถัดมา
โดยหนึ่งในอดีตผู้นำเกาหลีใต้ที่ชะตาชีวิตพลิกผัน มีความอื้อฉาวจนเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก คือ พัคกึนฮเย อดีตประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ ที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2013 ถึง 2016
พัคกึนฮเย ถือเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งคนแรก ที่ถูกรัฐสภาลงมติถอดถอนจากตำแหน่ง เพราะมีข่าวอื้อฉาวกรณีทุจริตและใช้อำนาจในทางมิชอบ เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง เธอถูกดำเนินคดีและตั้งข้อหาตามกระบวนการทางกฎหมาย เบื้องต้นศาลจะตัดสินให้รับโทษจำคุก 24 ปี ก่อนจะมีการลดโทษ และได้รับอภัยโทษจากรัฐบาลของ ประธานาธิบดีมุนแจอิน ซึ่งเป็นหนึ่งในอดีตผู้นำไม่กี่คนที่ลงจากตำแหน่งโดยไม่มีคดี และไม่ติดคุก
ย้อนไปก่อนหน้านั้น อีมยองบัก อดีตซีอีโอของบริษัทฮุนได ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศคนที่ 17 ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2008 ถึง 2013 ก็จบไม่สวย เมื่อเขาถูกดำเนินคดีและตัดสินโทษย้อนหลัง ในความผิดฐานยักยอกเงินและรับสินบน โดยศาลพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 17 ปี ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากปัญหาสุขภาพและอายุที่มากขึ้น และได้รับการอภัยโทษจากรัฐบาลของ ยุนซอกยอล ช่วงปลายปี 2022
โนมูฮยอน ประธานาธิบดีคนที่ 16 ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2003 ถึง 2008 ถูกอัยการเรียกสอบข้อหารับสินบนจากผู้บริหารธุรกิจหลังหมดวาระ เมื่อถูกสื่อและสังคมกดดันอย่างหนัก สุดท้ายเขาตัดสินใจฆ่าตัวตายที่บ้านพักเมื่อปี 2009 ด้วยวัย 62 ปี
คิมแดจอง ประธานาธิบดีคนที่ 15 ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1998 ถึง 2003 เขาเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยเกาหลีใต้ และเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จากนโยบายไกล่เกลี่ยปรองดองกับเกาหลีเหนือ แม้ตัวเขาจะไม่มีเรื่องอื้อฉาวพัวพันการทุจริตโดยตรง แต่ลูกชายของเขาทั้ง 3 คนข้องเกี่ยวกับการทุจริต ถูกดำเนินคดี และจำคุกในความผิดฐานรับสินบน และใช้อำนาจโดยมิชอบ
ย้อนไปไกลกว่านั้น ไม่กล่าวถึงคงไม่ได้ สมัยระบอบประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ยังไม่ผลิบานเท่าปัจจุบัน โนแทอู ประธานาธิบดีลำดับที่ 13 และ ชอนดูฮวาน ประธานาธิบดีลำดับที่ 14 ทั้งคู่คือนายทหารที่ผันตัวมาเป็นนักการเมือง มีบทบาทสำคัญในการก่อรัฐประหาร ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศจากชัยชนะในการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แต่ยุติชีวิตทางการเมืองในเรือนจำ
โนแทอู ถูกจับและพิจารณาคดีเมื่อปี 1995 จากการรับสินบนจากนักธุรกิจระหว่างอยู่ในตำแหน่ง ทั้งยังถูกตั้งข้อหากบฏจากการทำรัฐประหารและการสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยที่เมืองกวางจู
ท้ายที่สุด โนแทอู ถูกศาลสั่งจำคุก 17 ปี และยึดทรัพย์มากกว่า 260,000 ล้านวอน (7,387 ล้านบาท) แต่ก็ได้รับอภัยโทษในปี 1997 และเสียชีวิตระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ในปี 2021 ด้วยวัย 88 ปี
ส่วน ชอนดูฮวาน ถูกศาลตัดสินประหารชีวิตเมื่อปี 1996 เนื่องจากการจัดการกับผู้ชุมนุมในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในกวางจูอย่างเข้มงวดและรุนแรงเกินเหตุ แต่ในเวลาต่อมาได้รับอภัยโทษจาก ประธานาธิบดีคิมยองซัม ด้วยคำแนะนำของประธานาธิบดีคนต่อมา คิมแดจอง ซึ่งเคยถูก ชอนดูฮวาน ตัดสินประหารชีวิตเมื่อ 20 ปีก่อน
ชอนดูฮวาน เสียชีวิตเมื่อปี 2021 ด้วยวัย 90 ปี หลังจากมีอาการป่วยรุมเร้า เช่น เนื้องอกในไขกระดูก และเคยรักษาตัวด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือด