งานแรกมาแล้ว! ชัชชาติ รับทบทวนยกเลิกหาบเร่จตุจักร-หนุนหมวกกันน็อกเด็ก

Home » งานแรกมาแล้ว! ชัชชาติ รับทบทวนยกเลิกหาบเร่จตุจักร-หนุนหมวกกันน็อกเด็ก


งานแรกมาแล้ว! ชัชชาติ รับทบทวนยกเลิกหาบเร่จตุจักร-หนุนหมวกกันน็อกเด็ก

ชัชชาติ รับทบทวนยกเลิกหาบเร่จตุจักร ผลักดันเป็นตลาดนัดยอดนิยมระดับโลก พร้อมรับข้อเสนอ เครือข่ายเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน หนุนหมวกกันน็อกเด็ก

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 2 มิ.ย.2565 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเริ่มทำงานในฐานะผู้ว่าฯกทม.อย่างเป็นทางการในวันแรก ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ปรากฎว่า ได้มีตัวแทนผู้ค้าหาบเร่แผงลอยภายในตลาดนัดจตุจักร ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯกทม. เพื่อขอให้ทบทวนการยกเลิกการทำการค้าของผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เป็นผู้รับหนังสือเอง

ตัวแทนผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ระบุว่าได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯกทม. ไปแล้วเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา วันนั้นนายชัชชาติ ได้ลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาที่ตลาดนัดจตุจักร วันนี้จึงมาติดตามความคืบหน้า เนื่องจากผู้ค้าหาบเร่แผงลอยภายในตลาดนัดจตุจักร จำนวน 97 ราย ที่ถูกยกเลิกให้ทำการค้า ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักเพราะไม่ได้ทำการค้ามานานแล้ว จึงขอให้ผู้ว่าฯกทม. ทบทวนการยกเลิกดังกล่าวด้วย

ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า เข้าใจความเดือดร้อนของผู้ค้า จะรับข้อเรียกร้องดังกล่าวไปพิจารณา ทั้งนี้ ตลาดนัดจตุจักรเป็นตลาดนัดขนาดใหญ่ของ กทม. จึงมีนโยบายผลักดันตลาดนัดจตุจักรเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของกรุงเทพฯ และเป็นตลาดนัดยอดนิยมระดับโลก ขณะเดียวกัน ได้มีนโยบายจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อรองรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอย และขึ้นทะเบียนผู้ค้าหาบเร่แผงลอยด้วย

ชัชชาติ รับข้อเสนอเครื่อข่ายอุบัติเหตุ

ชัชชาติ รับข้อเสนอเครื่อข่ายอุบัติเหตุ

ขณะที่ นายประศม สุขแสวง ประธานเครือข่ายเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ กทม. เพื่อเสนอนโยบายสนับสนุนหมวกกันน็อกให้เด็กที่เดินทาง ด้วยรถจักรยานยนต์ โดยมี นายชัชชาติเป็นผู้รับหนังสือเอง

โดยนายประคม กล่าวว่า จากผลการสำรวจมูลนิธิไทยโรดส์ พบว่าปัจจุบันมีสถิติเด็กในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ สวมใส่หมวกกัน น็อกเพียงร้อยละ 7 เนื่องจากทัศนคติของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ยังไม่เห็นว่าการที่นำบุตรหลานนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์แล้วไม่จัดหาหมวกกันน็อกสวมใส่ให้ มีปัจจัยเสี่ยงสูงที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจว่าการเดินทางในระยะใกล้ ไม่มีอันตราย ประกอบกับหมวกกันน็อกเต็กมีราคาแพง เฉลี่ยใบละไม่ต่ำกว่า 100-200 บาท

ดังนั้น เครือข่ายฯ จึงเสนอนโยบายสนับสนุนหมวกกันน็อกให้เด็กในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ เพื่อเสริมสร้างวินัยทางด้านการจราจร และอัตราการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน

เครือข่ายฯ ยังได้เสนอให้กทม. จัดรถบริการด้านขนส่งมวลชนให้แก่ผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น ซึ่งการจัดรถบริการดังกล่าว จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาลตามนัดแพทย์ และทำให้เดินทางได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ของทั้งผู้พิการ ผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น และผู้ที่ดูแล แต่ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้หมดสัญญาตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.63

ด้านนายชัชชาติ กล่าววาา ได้รับข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณา โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียดต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ