วันที่ 8 ก.พ. บีบีซี รายงานผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเอนดินบะระ สหราชอาณาจักร เกี่ยวกับการใช้พาราเซตามอลที่ชี้ว่า ผู้มีความดันโลหิตสูงที่กินยานี้ตามใบสั่งยาอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด
คณะนักวิจัยระบุว่า หมอควรคิดถึงความเสี่ยงและประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่กินพาราเซตามอลเป็นเวลาหลายเดือน แต่ย้ำว่าการกินพาราเซตามอลเมื่อมีอาการปวดศีรษะและเป็นไข้นั้นมีความปลอดภัย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการวิจัยในคนจำนวนมากขึ้นในระยะเวลายาวนานเพื่อยืนยันผลการวิจัยดังกล่าว
พาราเซตามอลเป็นยาที่ใช้กว้างขวางทั่วโลก ไม่เพียงเป็นยาแก้ปวดเมื่อยในระยะสั้น แต่ยังเป็นยาตามใบสั่งแพทย์กำหนดเพื่อใช้รักษาอาการปวดเรื้อรังด้วย แม้จะมีหลักฐานเพียงเล็กน้อยว่า พาราเซตามอลมีประโยชน์ในระยะยาวก็ตาม
การศึกษาดังกล่าวติดตามอาสาสมัคร 110 คน ในจำนวนนี้ 2 ใน 3 กินยาเพื่อรักษาความดันโลหิตสูง โดยในการทดลองแบบสุ่ม ขอให้อาสาสมัครกินพาราเซตามอล 1 กรัม วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นปริมาณทั่วไปสำหรับคนไข้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง จากนั้น กินยาหลอกต่อไปอีก 2 สัปดาห์
ศาสตราจารย์เจมส์ เดียร์ เภสัชกรคลินิก มหาวิทยาลัยเอดินบะระ กล่าวว่า การทดลองแสดงให้เห็นว่า พาราเซตามอลเพิ่มความดันเลือด ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยความเสี่ยงที่สุดสำหรับโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด มากกว่ายาหลอก
คณะนักวิจัยแนะนำให้หมอเริ่มให้ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังกินพาราเซตามอลในปริมาณต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และจับตาผู้มีความดันโลหิตสูงและมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจอย่างใกล้ชิด
ในสหราชอาณาจักร ความดันโลหิตสูงส่งผลกระทบต่อประชากร 1 ใน ทุก 3 คน
โรคข้ออักเสบเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ใหญ่ที่สุดของอาการปวดเรื้อรังในสหราชอาณาจักร องค์กรการกุศลแห่งหนึ่ง เวอร์ซัส อาร์ธรีติส (Versus Arthritis) กล่าวว่า จำเป็นต้องมียาปลอดภัยกว่าในการรักษาอาการปวด เช่นเดียวกับความช่วยเหลืออื่นๆ เช่น การสนับสนุนด้านสุขภาพจิต และการส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกาย
“หากคุณกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากยาแก้ปวด ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเพื่อสำรวจทางเลือกของคุณ” ดร.เบนจามิน เอลลิส ที่ปรึกษาโรคข้อแห่งเวอร์ซัส อาร์ธรีติส กล่าว
ดร.เอียน แมคอินไทร์ ที่ปรึกษาด้านเภสัชวิทยาทางคลินิกของบริการสุขภาพแห่งชาติโลเธียน (NHS Lothian) กล่าวว่า “สิ่งนี้ไม่เกี่ยวกับการใช้พาราเซตามอลในระยะสั้นเพื่อรักษาอาการปวดศีรษะหรือมีไข้ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องปกติ”
ก่อนหน้านี้ ผลการศึกษาขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาพบความเชื่อมโยงระหว่างการใช้พาราเซตามอลในระยะยาว และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อโรคหัวใจ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าความเชื่อมโยงข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสาเหตุของอีกอย่างหนึ่งหรือไม่ นอกจากนี้ มีการศึกษาขนาดเล็กอื่นๆ ไม่สามารถยืนยันความเชื่อมโยงดังกล่าวได้
คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเอนดินบะระกล่าวว่า ไม่สามารถอธิบายได้ว่า พาราเซตามอลจะเพิ่มความดันเลือดได้อย่างไร แต่การค้นพบครั้งนี้ควรนำไปสู่การทบทวนการสั่งพาราเซตามอลในระยะยาว ก่อนหน้านี้ พาราเซตามอลถือว่าปลอดภัยกว่ายาแก้ปวดแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน ซึ่งเชื่อกันว่าจะเพิ่มความดันโลหิตในบางคน
ด้านมูลนิธิหัวใจอังกฤษซึ่งให้ทุนสนับสนุนการศึกษาดังกล่าว ระบุว่า หมอและผู้ป่วยทบทวนเป็นประจำว่า จำเป็นต้องใช้ยาใดๆ หรือไม่ แม้แต่ “พาราเซตามอลที่ค่อนข้างไม่เป็นอันตราย” ก็ตาม
ส่วนดร.ริชาร์ด ฟรานซิส จากสมาคมโรคหลอดเลือดสมอง กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมในผู้มีความดันโลหิตปกติและปกติในกรอบเวลายาวขึ้น เพื่อยืนยันความเสี่ยงและประโยชน์ของการใช้พาราเซตามอลในวงกว้างมากขึ้น
“สิ่งที่ไม่รู้อีกมาก”
ดร.ดิเพนเดอร์ กิลล์ อาจารย์เภสัชวิทยาคลินิกและการรักษา ที่มหาวิทยาลัยเซนต์จอร์จแห่งลอนดอน กล่าวว่า ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารเซอร์คูเลชั่น (Circulation) พบว่า ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่มีนัยสำคัญในประชากรชาวสกอตผิวขาว แต่ยังมี “สิ่งที่ไม่รู้อีกมาก”
“ประการแรก ไม่มีความชัดเจนว่า ความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้นจะมีอยู่ต่อไปได้ด้วยการใช้พาราเซตามอลในระยะยาวหรือไม่ และสอง ไม่ทราบว่า ความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้นจากการใช้พาราเซตามอลจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่” ดร.กิลล์กล่าว
ทั้งนี้ ประชากร 500,000 คน หรือ 1 ในทุก 10 คน ในสกอตแลนด ได้รับพาราเซตามอลตามใบสั่งยาในปี 2561