งานวิจัยอังกฤษชี้ – วันที่ 9 พ.ย. บีบีซี รายงานการศึกษาเวลาเข้านอนที่เหมาะสมที่สุด ระหว่าง 22.00-23.00 น. มีความเชื่อมโยงกับสุขภาพหัวใจที่ดีขึ้น.
คณะนักวิจัยดังกล่าวอยู่เบื้องหลังการทำงานยูเค ไบโอแบงก์ (UK Biobank) เชื่อว่าการจัดการนอนหลับให้ตรงกับนาฬิการ่างกาย อาจอธิบายความสัมพันธ์ที่พบว่าลดความเสี่ยงของอาการหัวใจวายและหลอดเลือด.
สำหรับการศึกษาดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ในวารสารยูโรเปียนฮาร์ต (European Heart Journal) คณะนักวิจัยรวบรวมข้อมูลการนอนและเวลาตื่นนอนตลอด 7 วัน โดยใช้อุปกรณ์คล้ายนาฬิกาข้อมือที่อาสาสมัคร 80,000 คน สวม. จากนั้น ติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาสาสมัครในส่วนของหัวใจและสุขภาพระบบไหลเวียนโลหิตโดยเฉลี่ย 6 ปี.
มีผู้ใหญ่เพียง 3,000 คนเท่านั้นที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งหลายกรณีเกิดขึ้นในผู้เข้านอนช้ากว่าหรือเร็วกว่าที่เหมาะสม คือ 22.00-23.00 น. ความเชื่อมโยงดังกล่าวยังเหมือนเดิม หลังปรับระยะเวลาเข้านอนและความผิดปกติในการนอนหลับ.
คณะนักวิจัยพยายามควบคุมปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นที่รู้ว่ากระทบความเสี่ยงหัวใจของแต่ละคน เช่น อายุ น้ำหนัก และระดับโคเลสเตอรอล (ไขมัน) แต่เน้นว่า การศึกษาดังกล่าวไม่สามารถพิสูจน์สาเหตุและผลกระทบได้.
ดร.เดวิด แพลนส์ ผู้ทำการศึกษา จากมหาวิทยาลัยเอ็กซีเตอร์ กล่าวว่า “แม้ว่าเราไม่สามารถสรุปสาเหตุจากการศึกษาของเราได้ แต่ผลลัพธ์ชี้ว่าเวลาเข้านอนเร็วหรือนอนดึกอาจทำให้นาฬิกาในร่างกายรวนมากกว่า ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด.
ช่วงเวลาที่เสี่ยงที่สุดคือหลังเที่ยงคืน เนื่องจากอาจลดโอกาสที่จะเห็นแสงยามเช้า ซึ่งเป็นการเริ่มต้นนาฬิการ่างกายใหม่”
เรจินา กิบลิน พยาบาลโรคหัวใจอาวุโสที่มูลนิธิหัวใจอังกฤษ กล่าวว่า “การศึกษาขนาดใหญ่นี้ชี้ว่า การเข้านอนระหว่างเวลา 22.00-23.00 น. อาจเป็นจุดร่วม (sweet spot) สำหรับคนส่วนใหญ่ในการรักษาหัวใจแข็งแรงในระยะยาว.
“อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องอย่าลืมว่า การศึกษานี้สามารถแสดงความสัมพันธ์เท่านั้น และไม่สามารถพิสูจน์สาเหตุและผลได้. จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับเวลาเข้านอนและระยะเวลาในการนอนหลับซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด.
“การนอนหลับเพียงพอเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความเป็นอยู่ที่ดีทั่วไปตลอดจนสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด และผู้ใหญ่ส่วนมากควรตั้งเป้านอนคืนละ 7-9 ชั่วโมง. แต่การนอนหลับไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่สามารถส่งผลสุขภาพหัวใจได้. สิ่งสำคัญคือพิจารณาไลฟ์สไตล์ของตัวเองผ่านตัวเลขต่างๆ เช่น ความดันโลหิตและระดับคอเลสเตอรอล.
“การรักษาน้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การลดการบริโภคเกลือและแอลกอฮอล์ และการรับประทานอาหารที่สมดุลสามารถช่วยให้หัวใจแข็งแรงด้วย” กิบลินกล่าว.