ค้นอดีตถึง "ฮาร์วี่ย์ เอลเลียตต์" : เจ็บหนัก 1 ครั้ง ทำร้ายอาชีพแข้งดาวรุ่งแค่ไหน?

Home » ค้นอดีตถึง "ฮาร์วี่ย์ เอลเลียตต์" : เจ็บหนัก 1 ครั้ง ทำร้ายอาชีพแข้งดาวรุ่งแค่ไหน?

อาการบาดเจ็บที่ชวนสยองของ ฮาร์วี่ย์ เอลเลียตต์ กองกลางดาวรุ่งของ ลิเวอร์พูล ดูจะน่าเป็นห่วงไม่น้อย เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดจากการวินิจฉัยว่า “ข้อเท้าหลุด”.. นี่คือฝันร้ายของนักเตะที่อายุแค่ 18 ปีเท่านั้น

ในวัยแห่งความฝัน ออกสตาร์ตตัวจริง 3 เกมติดต่อกันให้กับ 1 ในทีมที่ดีที่สุดในโลกอย่าง ลิเวอร์พูล ไม่ต้องบอกก็รู้ว่ามันจะรับมือยากขนาดไหน ? 

วันนี้เราจะย้อนกลับไปเรื่องของการเจ็บยาวของนักเตะตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน แล้วลองมาวิเคราะห์ดูว่า เอลเลียต จะต้องเจอกับอะไรบ้างหลังจากการผ่าตัดสิ้นสุดลง และจะกลับมาเก่งเหมือนเดิมได้ไหม 

ติดตามได้ที่ Main Stand

เรื่องธรรมดา.. ที่รับมือยาก 

อาการบาดเจ็บกับนักเตะนักฟุตบอลคือของคู่กัน นี่คือกีฬาที่ใช้ร่างกายเข้าห้ำหั่นกันตลอด ไม่ใช่แค่ 90 นาที แต่มันยังรวมถึงในสนามซ้อมหรือแม้กระทั่งขั้นตอนของการเข้ายิมเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของร่างกาย

ของที่ใช้ทุกวันอย่างไรก็ต้องมีวันทรุดโทรมต้องซ่อมบำรุง ร่างกายของนักฟุตบอลหรือแม้กระทั่งนักกีฬาชนิดอื่น ๆ ก็เช่นกัน เพียงแต่วิธีการรับมือจะแตกต่างออกไป การซ่อมไม่ได้เหมือนกับข้าวของเครื่องใช้ที่เรียกช่างมาจัดการเปลี่ยนอะไหล่ทุกอย่างก็จบ เพราะการซ่อมร่างกายนั้นมีความละเอียด มากขั้นตอน และต้องระมัดระวังยิ่งกว่าสิ่งใดทั้งปวง 

1เกม พรีเมียร์ลีก นัดที่ 4 ของฤดูกาล 2021-22 แม้ ลิเวอร์พูล จะบุกชนะ ลีดส์ ยูไนเต็ด 3-0 แต่โฟกัสของเกมนั้นกลับไปอยู่ที่อาการบาดเจ็บอย่างรุนแรงตรงข้อเท้าของ ฮาร์วี่ย์ เอลเลียต กองกลางดาวรุ่งวัยเพียง 18 ปีเท่านั้น หลายคนบอกว่าในโชคร้ายยังคงมีโชคดี เพราะเขายังเด็กและร่างกายสามารถฟื้นฟูได้เร็วกว่าปกติ ซึ่งนั่นก็จริง … ไม่มีใครเถียงแน่ เพราะวิธีการดูแลรักษาร่างกายของนักฟุตบอลในยุคนี้ มีสิ่งใหม่ ๆ และองค์ความรู้เพิ่มขึ้นมากมาย

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักเตะดาวรุ่ง มีสิ่งหนึ่งที่ยากยิ่งกับสถานการณ์เช่นนี้คือ “สภาพจิตใจ” ของพวกเขาที่ดาวน์ลงมาก และเรื่องนี้จะมีใครบอกได้ดียิ่งกว่านักจิตวิทยาด้านการกีฬา ที่เคยดูแลสภาพจิตใจของนักเตะในช่วงที่พวกเขาต้องรู้สึกแปลกแยกกับเพื่อนร่วมทีมในเวลาที่เผชิญกับอาการบาดเจ็บ

ลีออน แม็คเคนซี่ อดีตนักเตะระดับพรีเมียร์ลีก เล่าผ่านประสบการณ์ของเขาผ่านเว็บไซต์ Metro ว่า ต่อให้เตรียมใจรับกับเรื่องอาการบาดเจ็บไว้แค่ไหน ก็ไม่มีนักเตะอาชีพคนใดในโลกที่จะทำใจได้ง่าย ๆ หากมันเกิดขึ้นจริง 

“ไม่ว่าอาการบาดเจ็บจะเกิดจากการใช้งานมากจนสึกหรอ หรือการลงเล่นตั้งแต่วัยเด็ก การเข้าปะทะที่โชคไม่ดี อะไรก็ตาม คุณไม่สามารถทำใจรับมือกับมันได้เลย เพราะเมื่อคุณรักสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก ๆ และมันถูกพรากไปจากคุณโดยที่คุณไม่ได้เลือกวิธีนั้นเอง มันสามารถทำลายสภาพจิตใจของคุณได้เลย” แม็คเคนซี่ อดีตนักเตะของ นอริช ซิตี้ ในช่วงปี 2003-2006 กล่าว 

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณยังเป็นนักเตะอายุน้อยและได้รับบาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง หัวของคุณจะหมุนไปหมด คุณจะตอบตัวเองไม่ได้เลยว่าฉันกำลังเผชิญกับอะไรอยู่ คุณจะอ่อนแอ เพราะจะทำสิ่งที่อยากและคาดหวังไว้ไม่ได้เลยแม้แต่ข้อเดียว” เขาว่าต่อ 

2ตัวของ แม็คเคนซี่ เล่าว่าเขาเคยคิดถึงขั้นเกือบจะฆ่าตัวตายเลยด้วยซ้ำ หลังจากเจ็บมาตลอดตั้งแต่เป็นดาวรุ่ง ยาวมาจนถึงอายุ 33 ปี … มันเป็นเพราะเขากำลังเดินหน้าสู่ความมืดมิด ความกลัว กลัวว่าโค้ชและเพื่อนร่วมทีมจะประเมินว่าเขาอ่อนแอลงในทุกวัน สภาพใจจิตใจของเขาก็เอาแต่คิดทบทวนว่าคงต้องกลายเป็นตัวสำรองหลังจากนี้

เขาเชื่อว่าทุกคนน่าจะรู้สึกแบบนี้ แต่ในหมู่นักเตะอาชีพ พวกเขาจะไม่พูดมันออกมา พวกเขาจะซ่อนความกลัวไว้ เพราะไม่อยากให้ใครมาเห็นว่าพวกเขากำลังอ่อนแอ 

เรื่องของ เอลเลียต คงแย่มากหากเขาเกิดเร็วกว่านี้สัก 25-30 ปี … ซึ่งยุคสมัยนั้นการดูแลนักเตะบาดเจ็บขาดความละเอียดไปมาก มีเรื่องเล่าของนักเตะในทีมของกุนซือ ไบรอัน คลัฟ ที่เคยคุม นอตติงแฮม ฟอเรสต์ และ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ ที่บาดเจ็บ แต่ตัวของ คลัฟ กลับไม่ฟังคำเตือนของแพทย์ เมื่อเขาใช้งานนักเตะที่ยังเจ็บอยู่ อาการบาดเจ็บก็ทวีขึ้น และสุดท้ายก็ต้องกลับมาพักใหม่ 

3สมัยนั้นนักจิตวิทยาไม่ต้องพูดถึงเลย นักฟุตบอลต่างถูกสอนให้เข้มแข็ง เพราะนี่คือกีฬาของลูกผู้ชาย แต่ในความจริงการรับมือกับปัญหาที่ร้ายแรงของคนแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน พวกเขาอาจจะไม่พูดว่ารู้สึกแย่ แต่ก็ใช่ว่าข้างในพวกเขาจะไม่รู้สึกอะไรเลย

“เมื่อ 25 ปีก่อน มีการปรับสภาพจิตใจนักเตะน้อยมาก ไบรอัน คลัฟ เคยเพิกเฉยกับนักเตะที่เจ็บอยู่ ปฏิบัติกับพวกเขาเหมือนไร้ตัวตน ซึ่งนั่นไม่ช่วยอะไรนักเตะเลย พวกเขาจะรู้สึกตัวว่าตัวเองไร้ค่า ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง และพวกเขาจะถูกตัดขาดออกจากทีมไปเลย” ริชาร์ด ฟอสเตอร์ เขียนไว้ในหนังสือของเขาที่มีขื่อว่า THE AGONY & THE ECSTASY

ความกลัวต่อความรู้สึกเช่นนี้ ทำให้นักเตะรุ่นเก่า ๆ ยอมลงเล่นด้วยสภาพร่างกายที่ไม่เต็มร้อย พวกเขากลัวว่าตัวเองจะไร้ค่า ทว่าสิ่งที่ตามมาคืออาการบาดเจ็บที่ไม่รู้จบ และสุดท้ายพวกเขาก็จะหนีความจริงไม่พ้น มันจะกลับมาเล่นงานพวกเขาหนักขึ้นกว่าเดิม

ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันเรื่องแบบนี้แทบจะหมดไปแล้วสำหรับฟุตบอลระดับสูง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมสำหรับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

อุ่นใจเมื่อใกล้หมอ

อาการช็อกและหดหู่จากการบาดเจ็บหนักตามที่กล่าวมาข้างตัน สามารถยืนยันได้จากการบอกเล่าของ ไมเคิล โคลฟิลด์ นักจิตวิทยาชั้นนำที่เคยดูแลและให้คำปรึกษาด้านสภาพจิตใจกับนักเตะที่เคยเจ็บหนักอย่าง อิลคาย กุนโดกัน กองกลางของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ เคิร์ท ซูม่า อดีตกองหลังของ เชลซี ที่ปัจจุบันเล่นอยู่กับ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด 

4อย่างไรก็ตาม ตัวของ โคลฟิลด์ ยอมรับว่า ขั้นตอนที่ยากที่สุดไม่ใช่ตอนที่นักเตะเหล่านี้โดนหามออกจากสนาม หรือแม้กระทั่งการเข้าห้องผ่าตัด พวกเขารู้ดีอยู่แล้วว่าอาชีพของพวกเขาเสี่ยงที่จะได้เจอกับเรื่องแบบนี้ … แต่ที่ยากที่สุดคือหลังจากที่พวกเขาออกจากห้องผ่าตัด และต้องนอนอยู่บนเตียงเป็นเดือน ๆ ต่างหาก ซึ่งจุดนี้ทำให้ปัจจุบันสโมสรต่าง ๆ ต้องใช้งานทีมนักจิตวิทยาเข้ามาช่วย เพื่อให้นักเตะอยู่ในสภาพจิตใจที่ดี รู้ว่าพวกเขาจะโอเคกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และเลิกดำดิ่งในความผิดหวังแบบไม่รู้จบเหมือนกับนักเตะยุคเก่า  

“พวกเขาคือคนที่อยู่กับฟุตบอลมาแทบทั้งชีวิต และการที่อยู่มาวันหนึ่งพวกเขาหยุดทำงาน ทำได้แค่ดูโทรทัศน์บนเตียงที่ลุกไปไหนไม่ได้  พวกเขาจะต้องเจอกับความรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยแทบทุกวินาทีเลย”

“เพราะในขณะที่พวกเขาหยุด คนอื่น ๆ กำลังก้าวหน้า โดยเฉพาะกับนักเตะดาวรุ่งที่กำลังมีทิศทางที่ดี พวกเขาจะกลัวไปหมดทุกอย่าง เพราะก่อนหน้านี้ความฝันของพวกเขากำลังลอยไปถึงไหนต่อไหน แต่การต้องมานอนอยู่กับที่ พวกเขาจะรู้สึกได้ทันทีเลยว่า ฉันจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไหม และถึงตอนนั้นสิ่งที่เคยได้รับ (หมายถึงโอกาสลงเล่นในเกมระดับสูง) จะอยู่กับพวกเขาต่อไปหรือไม่” ไมเคิล โคลฟิลด์ อธิบายผ่าน The Guardian 

5ความยากยังไม่จบแค่การนอนอยู่กับที่เพื่อรอให้ร่างกายฟื้นฟู แต่เมื่อนักเตะเหล่านี้ลุกขึ้นมาเดินเหินได้ และกลับเข้าสู่ชั่วโมงของการกายภาพบำบัดและเรียกความฟิต เข้าโปรแกรมซ้อมของทีม พวกเขาจะยิ่งรู้สึกแย่เข้าไปอีก เพราะพวกเขาจะถูกแยกออกจากเพื่อนร่วมทีมอย่างชัดเจน

ในขณะที่เพื่อนร่วมทีมลงไปซ้อมทีมกันอย่างเข้มข้น ทบทวนแทคติกสำหรับเกมต่อไป  นักเตะที่เจ็บต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่พื้นฐาน การวางเท้า การวิ่ง การเคลื่อนที่ เพื่อให้กระทบกับอาการเดิมน้อยที่สุด มันเหมือนกับพวกเขากลายเป็นเด็กที่หัดตั้งไข่อีกครั้ง

“เมื่อการซ้อมทีมเกิดขึ้น คุณก็จะเริ่มพบว่าพวกเขา (นักเตะที่เจ็บ) มีท่าทีที่เปลี่ยนไป ผมจะรอจนกว่าช่วงที่นักเตะคนอื่น ๆ ในทีมออกจากอาคารซ้อม ผมจะต้องอยู่กับนักเตะที่เจ็บเสมอ อยู่แบบประกบพวกเขาเลยล่ะ”

“เพราะตอนนั้นจังหวะอารมณ์ของพวกเขาจะดาวน์ (รู้สึกแย่) ลงมาก ๆ ผมพยายามไม่บอกกับพวกเขาตรง ๆ ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ผมพยายามฟังสิ่งที่พวกเขาสื่อสารออกมาให้ได้มากที่สุด พูดให้น้อยลง เพราะสภาวะทางอารมณ์ของนักเตะส่วนใหญ่จะโกรธง่าย และหากพูดอะไรที่มากเกินไป จะทำให้พวกเขาหดหู่ได้ง่าย ๆ เลยทีเดียว” โคลฟิลด์ ว่าต่อ 

6ตอนนี้ทุกทีมให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก พวกเขาเห็นว่าหากนักเตะมีทัศนคติดีนำมาเป็นอันดับแรก ไม่ว่าสิ่งใดที่ตามมาก็จะทำได้ง่ายขึ้นทั้งนั้น เมื่อนักเตะไม่เจ็บ พวกเขาจะรู้สึกสนุกกับงานที่ทำ อยากเรียนรู้ และเข้าใจถึงสิ่งต่างๆ ภายในทีม แต่หากเป็นเวลาที่นักเตะโชคร้ายบาดเจ็บ ขาดเกมไปเป็นเวลานาน ๆ พวกเขาจะไม่ฟุ้งซ่านมากจนเกินไปหนัก เมื่อพวกเขารู้สึกแย่ นักจิตวิทยาจะรู้สึกได้ทันทีหลังผ่านการทดสอบสภาพจิตใจ รวมถึงการพูดคุยของเขาด้วย พวกเขาจะทำใจยอมรับ ปรับตัวกับสิ่งเหล่านั้นได้ดีขึ้น 

โดยสัญชาตญาณ นักเตะอาชีพไม่ว่าจะหนุ่มหรือแก่ ต่างรู้อยู่แล้วว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้นเมื่อตัวเองได้รับการบาดเจ็บที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม หลายสิ่งหลายอย่างในโลกฟุตบอลยุคใหม่สามารถเข้ามาช่วยได้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักเตะที่มีสภาพจิตใจแข็งแกร่งด้วยแล้ว พวกเขามีโอกาสที่จะฟื้นตัวกลับมาสู่มาตรฐานเดิมที่พวกเขาเคยทำไว้ได้.. หากว่ามันไม่ร้ายแรงจนเกินไปนัก

แง่บวกของฟุตบอลยุคใหม่ 

เรื่องจริงที่คุณเห็นได้ในทุกวันนี้ คือกลุ่มนักเตะยุคปัจจุบันไม่ค่อยมีใครที่สามารถใช้คำว่า “ร่างกายพัง” ได้อย่างเต็มปาก ในอดีตนักเตะอย่าง ดาร์เรน แอนเดอร์ตัน ของ ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ เคยถูกเรียกว่ามนุษย์แก้ว เพราะเขาบาดเจ็บแทบจะทุกเดือน เจ็บ ๆ หาย ๆ วนไปอยู่อย่างนั้น แต่ในยุคนี้ วิทยาศาสตร์การกีฬาและเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ช่วยนักเตะที่เผชิญกับอาการบาดเจ็บหนัก ๆ ไว้ได้มากทีเดียว และเรากำลังจะเล่าถึงความต่างนั้นให้เห็นภาพ 

อ้างอิงจากบทความของ The Guardian อีกครั้ง พวกเขาบอกถึงเทคโนโลยีปัจจุบันที่ช่วยให้งานของหมอง่ายขึ้น… 

ทันทีที่นักเตะได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่จะได้รับวิดีโอจากจังหวะที่นักเตะคนนั้น ๆ ได้รับบาดเจ็บ แบบทั้งกล้องซูมและแบบหมุนแทบจะ 360 องศา สิ่งนี้จะช่วยให้แพทย์ประเมินอาการบาดเจ็บเบื้องต้นได้ดีขึ้น บางครั้งแพทย์อาจจะเข้าใจอาการบาดเจ็บนั้นได้ทันทีภายในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง แล้วพวกเขาก็จะสามารถเข้าห้องผ่าตัดได้ทันที  

ขั้นตอนหลังจากการผ่าตัด คือช่วงเวลาสำคัญที่องค์ความรู้ด้านการแพทย์ยุคใหม่จะเข้ามามีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก โค้ชด้านความแข็งแกร่งและการออกกำลังการจะติดต่อกับแพทย์โดยตรง เช่นเดียวกับนักกายภาพบำบัด ที่จะปรับแต่งวิธีการออกกำลังกายอย่างละเอียด 

7ยกตัวอย่างเช่นในรายของ อิลคาย กุนโดกัน ที่บาดเจ็บ ACL (เอ็นไขว้หน้าหัวเข่า) ในปี 2017 นั้น เขาใช้เวลาเรียกความฟิตหลังจากออกจากห้องผ่าตัดในเวลาแค่ 12 สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเปรียบเทียบกับนักเตะยุคเก่า ๆ ที่หากมีอาการบาดเจ็บของการฉีกขาดที่ ACL หรือแม้กระทั่งขาหัก พวกเขาอาจจะต้องหายไปถึง 1 ปีเต็ม ๆ 

นีล ซัลลิแวน อดีตหัวหน้าแผนกกายภาพบำบัดของทีม ดาร์บี้ เคาน์ตี้ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “การออกกำลังกายที่เหมาะสมและวางแผนอย่างละเอียดจะทำให้นักเตะหายเร็วขึ้น มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการลดความปวดและบวมบริเวณที่เจ็บ เราจะทำให้มันกระทบกับแผลนั้นน้อยที่สุด เพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อของนักเตะให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งถ้ารักษาไว้ได้ เมื่อหลังจากพ้นหมวดกายบำบัดไปสู่หมวดการเคลื่อนที่มันก็จะง่ายขึ้นด้วย” 

ที่สำคัญคือ นักกีฬาจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำอะไรที่เสี่ยงโดยเด็ดขาด ทีมแพทย์จะประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักเตะเหล่านี้ในทุกเซสชั่นการซ้อม ด้วยข้อมูลผ่านเครื่อง GPS ที่บอกให้รู้ว่านักเตะกำลังวิ่งด้วยความเร็วขนาดไหน การกระโดดเป็นเช่นไร ตัวเลขเหล่านี้สามารถบอกได้ทันทีเมื่อมีการเอาไปเทียบกับบันทึกครั้งที่่ผ่าน ๆ มา ว่าที่สุดแล้วนักเตะจะได้พักฟื้นอย่างเต็มที่ ตามระบบ ตามขั้นตอน พวกเขาจะไม่ถูกใช้งานก่อนที่ร่างกายจะหายดีแน่นอน 

8สิ่งเหล่านี้เราจะเห็นได้กับนักเตะหลายคนที่ใช้เวลาในการพักฟื้นไวมาก เฟอร์กิล ฟาน ไดจ์ค เจ็บ ACL ในเดือนตุลาคม 2020 และเขากลับมาออกกำลังกายบนพื้นหญ้าได้ตั้งแต่ก่อนฤดูกาล 2020-21 จะจบเสียอีก อาการของเขาดีถึงขั้นที่ว่ามีข่าวทีมชาติเนเธอร์แลนด์จะดึงตัวไปติดทีมชุดยูโร 2020 เลยด้วยซ้ำ … แม้ทาง ลิเวอร์พูล กับตัวนักเตะจะพูดคุยกันแล้วว่า มีความเป็นไปได้แบบไหนจะเกิดขึ้นบ้างหลังจากนั้น ก่อนที่เจ้าตัวจะขอถอนตัวจากรายการดังกล่าว

ไม่ใช่แค่นั้น นักเตะอย่าง ลุค ชอว์ ก็เคยเจ็บหนักยิ่งกว่า เอลเลียต มาแล้ว ข้อเท้าของเข้าหักในเกม ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ที่พบกับ พีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น ในปี 2015 อาการตอนนั้นเหมือนกับว่าเขาจบไปแล้วด้วยซ้ำ แต่สุดท้าย ลุค ชอว์ ก็กลับมาได้ และหลายคนยกให้เขาเป็นหนึ่งในแบ็กซ้ายที่ดีที่สุดของพรีเมียร์ลีก ณ เวลานี้ 

ใกล้ตัวเข้ามาอีกหน่อยก็ในเดือนมีนาคม 2018 ที่ แฮร์รี่ เคน กองหน้ากัปตันทีม สเปอร์ส และทีมชาติอังกฤษมีอาการข้อเท้าบิดอย่างรุนแรง ตัวของ เคน ก็กลับมาฟิตได้เร็วมาก เขาใช้เวลาแค่ 3 เดือนในการรักษาและมีชื่อติดทีมชาติอังกฤษในฟุตบอลโลกครั้งนั้น 

9นี่คือข้อมูลที่แฟนบอล ลิเวอร์พูล น่าจะพอวางใจได้บ้าง เพราะการแพทย์ยุคใหม่ทำให้นักเตะใช้เวลาพักฟื้นสั้นลง และการออกแบบการฝึกซ้อม การลงน้ำหนัก และการยืดเหยียด ก็ทำให้นักเตะแต่ละคนเสี่ยงที่จะเจ็บแผลเก่าน้อยลงกว่าเดิมด้วย ยิ่งในรายของ เอลเลียต ที่มีข่าวล่าสุดจากการแถลงของสโมสรว่าข้อเท้าของเขาไม่ได้หัก แต่เป็นอาการข้อเท้าหลุดเท่านั้น ในเรื่องร้ายก็ยังมีเรื่องดีอยู่บ้าง เพราะดูเหมือนว่า เอลเลียต จะเป็นคนที่ค่อนข้างทะเยอทะยานพอสมควร เราได้เห็นทิศทางที่ดีผ่านสายตาของเขาตั้งแต่ตอนที่เขาถูกหามลงเปลออกไปจากสนาม เอลแลนด์ โร้ด แล้ว

เทียบกับเหตุการณ์บาดเจ็บรุนแรงของนักเตะคนอื่น ๆ เมื่อในอดีต อาทิ ลุค ชอว์, อารอน แรมซี่ย์ (สมัยเล่นให้ อาร์เซน่อล ตอนข้อเท้าหักในเกมกับ สโต๊ก ซิตี้ เมื่อปี 2010), หรือแม้แต่ อังเดร โกเมส (เอฟเวอร์ตัน) ที่ข้อเท้าหักจากการปะทะกบ ซน ฮึง มิน ในปี 2019 พวกเขาขึ้นเปลไปพร้อมกับการก่ายหน้าผาก บางคนถึงขั้นปล่อยโฮออกมาตรงนั้นเลยด้วยซ้ำ 

แต่อากัปกิริยาของ เอเลียต คือ เขาคาบหลอดออกซิเจนและชูหัวขึ้นมาพร้อม ๆ กับการปรบมือให้แฟน ราวกับเป็นการส่งสัญญาณว่า “ผมยังโอเค” ยิ่งเมื่อเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาล เขายังได้มอบเสื้อแข่งในวันนั้นให้กับเด็กที่แขนหักจากการเล่นฟุตบอลที่นอนอยู่เตียงข้าง ๆ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าทัศนคติของเด็กคนนี้ไม่ธรรมดาเลย 

10ดังนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดอย่างเรื่องสภาพจิตใจ ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่แฟนลิเวอร์พูลหลายคนพอจะเบาใจเกี่ยวกับเรื่องของ เอลเลียต ได้ ยิ่งเมื่อบวกกับวิทยาการทางการแพทย์ยุคใหม่ที่เราก็เห็นกันอยู่ว่า ลุค ชอว์ ทำได้ดี, ฟาน ไดจค์ ก็ยังคงเป็นกองหลังเบอร์ท็อปของโลก ลงเล่นด้วยความแน่นอน ในขณะที่ อารอน แรมซี่ย์ ก็ยังเล่นฟุตบอลระดับสูงอยู่กับ ยูเวนตุส ในตอนนี้ ดังนั้นมันก็มีโอกาสที่การ “ข้อเท้าหลุด” ของ เอลเลียต ครั้งนี้ เป็นแค่เพียงโชคร้ายครั้งเดียว และเขาจะกลับมาสวมบทใจดีสู้เสือเพื่อเอาชนะมันได้อีกครั้ง 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ