หนึ่งในอาการสำคัญของผู้ป่วยโควิด-19 คืออาการเหนื่อยหอบ หายใจไม่ทัน ซึ่งนอกจากจะสังเกตอาการได้จากภายนอกแล้ว เรายังสามารถตรวจได้จากค่าออกซิเจนในเลือด หากร่างกายอยู่ในภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติ นั่นหมายถึงคุณกำลังเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตมากขึ้น
ค่าออกซิเจนในเลือด คืออะไร?
ตามปกติแล้วในเลือดของคนเราจะมีออกซิเจนจากการที่ร่างกายหายใจเอาออกซิเจนเข้าสู่ปอด ร่างกายต้องการออกซิเจนที่เพียงพอเพื่อให้การทำงานในทุกระบบทุกอวัยวะเป็นไปได้อย่างปกติ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำลง มีอยู่หลายสาเหตุ อาจมาจากโรคต่างๆ เช่น โรคปอด โรคที่เกี่ยวกับหลอดลม โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ โรคไต ภาวะน้ำท่วมปอด ไปจนถึงภาวะอ้วน และคนที่สูบบุหรี่จัด เป็นต้น
ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ อันตรายอย่างไร?
หากร่างกายเข้าสู่ภาวะพร่องออกซิเจน หรืออาจจะเป็นภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติ ร่างกายจะพยายามปรับสมดุล เพื่อรักษาระดับออกซิเจนไม่ให้ตก ทำให้ร่างกายหายใจถี่ขึ้น เร็วขึ้น แรงขึ้น หัวใจทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ มากขึ้น ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ตามมาด้วยความดันโลหิตที่จะสูงขึ้นจากการสูบฉีดโลหิตมากขึ้นไปด้วย อาจมีอาการวุ่นวาย ต่อสู้ สับสน หรือสีผิว สีริมฝีปาก ดูคล้ำเขียว ผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง อาจมีความดันโลหิตลดลง มีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหลอดเลือดใดๆ ในร่างกายอุดตัน และหากยังไม่สามารถรักษาสมดุลออกซิเจนในเลือดให้กลับมาเป็นปกติได้อีก เซลล์ต่างๆ ในร่างกายจะเริ่มทำงานผิดปกติ จนอาจทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ เริ่มล้มเหลวนั่นเอง
ค่าออกซิเจนในเลือด หรือ การวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด (Oxygen saturation) สามารถวัดได้จากระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดแดงที่ปกติในมนุษย์อยู่ที่ 95–100 เปอร์เซ็นต์ หากต่ำกว่า 90% อาจเสี่ยงภาวะค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายถึงชีวิตได้
ค่าออกซิเจนในเลือด กับโควิด-19 เกี่ยวข้องอย่างไร?
หนึ่งในอาการสำคัญของผู้ป่วยโควิด-19 คืออาการเหนื่อยหอบ หายใจไม่ทัน ซึ่งนอกจากจะสังเกตอาการได้จากภายนอกแล้ว เรายังสามารถตรวจได้จากค่าออกซิเจนในเลือด
เราสามารถวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด (Oxygen Saturation) โดยการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Pulse oximeter หรือเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดจับที่นิ้วของผู้ป่วย ก็จะสามารถบอกได้ว่าออกซิเจนในร่างกายมีปริมาณเท่าใด ซึ่งจะช่วยการวินิจฉัยภาวะร่างกายเบื้องต้นของผู้ป่วยได้ดี และแม่นยำมากเพิ่มขึ้นอีก เหมือนกับปัจจัยที่ 5 ของการวัดสัญญาณชีพ
ไม่เหนื่อยหอบให้เห็น ก็ยังเสี่ยงติดโควิด-19 ได้
แม้ว่าผู้ป่วยโควิด-19 จะมีอาการที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของปอด ที่ทำให้หอบเหนื่อยจนเป็นอาการที่แสดงออกได้ชัดเจน แต่ก็ยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ติดเชื้อแล้ว แต่ยังไม่แสดงอาการใดๆ รวมไปถึงไม่มีอาการเหนื่อยหอบให้เห็น แต่จริงๆ แล้วอาจจะกำลังอยู่ภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำก็ได้ และเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ จู่ๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการเหนื่อยหอบขึ้นมาอย่างกะทันหัน และมีอาการรุนแรงฉับพลัน จนระบบหายใจล้มเหลว ต้องใส่ออกซิเจน ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิตในเวลาไม่นานหลังจากแสดงอาการ ซึ่งวารสารและเว็บไซต์ทางการแพทย์ต่างๆ ที่มีรายงานถึงอาการนี้ เรียกอาการนี้ว่า happy hypoxemia หรือ silent hypoxemia
- “เหนื่อยปุ๊บ ทรุดหนักถึงตาย” (happy hypoxemia) อาการใหม่ที่พบในผู้ป่วย “โควิด-19”
ดังนั้นการวัดค่าออกซิเจนในเลือด จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถส่งสัญญาณเตือนให้เรารู้ได้ว่าเราอาจกำลังเสี่ยงอันตรายในอนาคตอันใกล้หรือไม่ มีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้นกับร่างกายหรือเปล่า โดยไม่ต้องรอให้แสดงอาการก่อน เพื่อการเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตมากยิ่งขึ้น
เครื่องวัดค่าออกซิเจนในเลือด ช่วยผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างไร?
ในภาวะที่โรงพยาบาล เตียง รวมถึงบุคลากรอาจมีไม่เพียงพอ คนที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดี และไม่แน่ใจว่าตัวเองมีความเสี่ยงต่อโควิด-19 หรือไม่ นอกจากการสังเกตอาการทั่วไป เช่น มีไข้ ไอแห้ง ปวดศีรษะ เหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย ไปจนถึงการรับรู้รสและกลิ่นเปลี่ยนแปลง ตาแดง หรือท้องเสียด้วยแล้ว ยังอาจใช้เครื่องวัดค่าออกซิเจนในเลือดในการตรวจสุขภาพเบื้องต้นว่าเรายังแข็งแรงดีอยู่จริงหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การตรวจวัดค่าออกซิเจนในเลือดในคนที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดีไม่มีความเสี่ยงหรืออาการใดๆ อาจไม่จำเป็นมากนัก วิธีตรวจหาโควิด-19 ที่บอกผลได้แม่นยำที่สุด ยังคงต้องเป็นการตรวจกับบุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิคที่ได้รับรองมาตรฐานแล้วเท่านั้น
สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อที่ดูแลตัวเองอยู่ที่บ้าน หรือผู้ที่มีไข้ และมีอาการคล้ายโควิด-19 แต่ยังไม่ได้เข้ารับการตรวจ เครื่องวัดค่าออกซิเจนในเลือดอาจมีประโยชน์มากกว่า เพราะสามารถเช็กอาการของตัวเองด้วยเครื่องวัดค่าออกซิเจนในเลือดได้ว่าอันตรายร้ายแรงถึงขั้นไหน เพื่อประเมินอาการของตัวเอง และเตรียมตัวไปโรงพยาบาลหากวัดแล้วมีค่าออกซิเจนที่ต่ำกว่า 90% ได้อย่างทันท่วงที