คู่มือฝ่าโลกร้อน สหประชาชาติผุดรายงานจี้โลกหยุดวิกฤตสภาพอากาศ

Home » คู่มือฝ่าโลกร้อน สหประชาชาติผุดรายงานจี้โลกหยุดวิกฤตสภาพอากาศ



คู่มือฝ่าโลกร้อน สหประชาชาติผุดรายงานจี้โลกหยุดวิกฤตสภาพอากาศ

คู่มือฝ่าโลกร้อน – วันที่ 20 มี.ค. บีบีซีรายงานว่า สหประชาชาติ หรือยูเอ็นเผยรายงานฉบับใหม่เพื่อเป็นแนวทางให้กับนานาชาติใช้ในการหยุดยั้งปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือโลกร้อน พร้อมเปรียบเทียบว่าเป็นเหมือนกับ “คู่มือเอาชีวิตรอดของมนุษยชาติ”

นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น กล่าวว่า รายงานฉบับล่าสุดที่เผยแพร่ออกมานั้นเป็นเหมือนกับคู่มือเอาชีวิตรอดของมนุษยชาติ โดยกุญแจสำคัญของหนทางรอดของอารยธรรมมนุษย์นั้นอยู่ที่เทคโนโลยีและพลังงานสะอาด

คู่มือฝ่าโลกร้อน

(AP Photo, File)

อย่างไรก็ดี การประชุมของนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เตือนว่า เป้าหมายอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เป็นเส้นตายตามข้อตกลงปารีสนั้นอาจไม่สามารถทำได้ทันกาล

ข้อมูลจากรายงานบ่งชี้ว่าการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิลสามารถทำให้มนุษย์หลีกเลี่ยงผลกระทบขั้นร้ายแรงสุดขั้วจากปัญหาโลกร้อนได้จริง

เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น ระบุว่า ทุกชาติบนโลกควรนำเสนอแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (หนึ่งในก๊าซก่อโลกร้อน) ให้ได้เหลือศูนย์ภายในสิ้นทศวรรษนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กำลังทำให้ชั้นบรรยากาศของโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น

“ช่วงเวลาที่กำลังเป็นโอกาสให้มนุษยชาติเก็บรักษาอนาคตที่ยังยืนไว้ให้ลูกหลานกำลังหมดลง” รายงานระบุ

ข้อตกลงปารีสกำหนดให้นานาชาติที่เข้าร่วมดำเนินการเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทว่า ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นมาถึง 1.1 องศาแล้ว และมีแนวโน้มจะทะลุเส้นตายในทศวรรษหน้า

รายงานฉบับนี้ เป็นการศึกษาจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี เพื่อศึกษาหาต้นเหตุ ผลกระทบ และทางออกจากปัญหาโลกร้อนมาตั้งแต่ปี 2561 พบว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นจะเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ

คู่มือฝ่าโลกร้อน

(AP Photo/Daniel Cole, File)

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า โลกในปี 2643 หรือศตวรรษที่ 22 หากปัญหาโลกร้อนไม่ได้รับการแก้ไขตามข้อตกปารีส ชาติประมาณครึ่งโลกจะเผชิญกับอุทกภัยสุดขั้วระดับที่เกิดเฉลี่ยเพียงครั้งในรอบ 100 ปี จะกลายเป็นเกิดขึ้นทุกปี

รายงานระบุว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกปัจจุบันมีความเข้มข้นมากที่สุดในรอบ 2 ล้านปี และอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกนั้นสูงที่สุดในรอบ 125,000 ปี ที่ผ่านมา และจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 10 ปีข้างหน้า

“การประเมินระยะสั้นพบว่าปัญหาโลกร้อนมีโอกาสที่จะมีอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกทะลุเส้นตายมากกว่าโอกาสที่จะไม่ทะลุแม้ก๊าซเรือนกระจกจะอยู่ในระดับต่ำก็ตาม

ดร.ฟรีเดอไรก์ อ็อตโต จากอิมพีเรียล คอลเลจ มหาวิทยาลัยกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า การที่ขีดเส้นตายไว้ 1.5 องศา แต่สามารถทำได้เพียง 1.6 องศานั้นย่อมดีกว่าการที่ทุกคนยอมแพ้ไม่ทำอะไรเพียงเพราะสิ้นหวังแล้ว

“ที่สำคัญผมว่าคิดว่ารายงานฉบับล่าสุดนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามันยังมีสิ่งดีๆ ที่เรายังสามารถรักษาไว้ได้หากเราพยายาม” ดร.อ็อตโต

การศึกษาพบว่า ปริมาณก๊าซโลกร้อนจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลในปัจจุบัน (ไม่นับที่กำลังสร้างเพิ่มอย่างในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เป็นต้น) นั้นเพียงพอแล้วที่จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกทะลุจุดที่ไม่มีวันหวนกลับมาเป็นเหมือนได้อีก

ดร.โอลิเวอร์ เกเด็น ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิเทศสัมพันธ์และความมั่นคง ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า แท่นขุดน้ำมันและท่อก๊าซในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่นั้นจะทำให้อุณหภูมิทะลุเส้นตายแน่นอน ส่วนที่กำลังสร้างเพิ่มนั้นโลกไม่มีโควต้าให้แล้วหากต้องการรักษาเส้นตายเอาไว้

อย่างไรก็ตาม รายงานยืนยันว่า กรณีอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกทะลุเส้นตายนั้นไม่ใช่จุดอวสานของโลก เพราะอาจเป็นเพียงการพุ่งกระฉูดของอุณภูมิชั่วคราวเท่านั้น

ไอพีซีซี แสดงความเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่องและรวดเร็วสามารถเป็นไปได้ สะท้อนจากราคาพลังงานที่มาจากการผลิตไฟฟ้าด้วยกระแสลมและแสงอาทิตย์

นอกจากนี้ การเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน อาทิ อาหาร ขยะจากอาหาร และการเปลี่ยนมาใช้พาหนะและขนส่งมวลชนที่ไม่ปลดปล่อยก๊าซโลกร้อนสามารถลดทอนการปล่อยก๊าซโลกร้อนโดยรวมลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

ทว่า ไอพีซีซียอมรับว่า การลดก๊าซโลกร้อนอาจต้องอาศัยเทคโนโลยีการดักจับก๊าซโลกร้อนจากอากาศ (DAC) อีกทางหนึ่งด้วย แต่เทคโนโลยี DAC ยังเป็นที่ถกเถียงกันของนักวิทยาศาสตร์ว่าได้ผลจริงหรือไม่ เพราะปัจจุบันแม้จะมีการใช้จริงแล้วแต่ยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ