คุ้มไหม? ทบ.นำเครื่องบินรับผู้ป่วยโควิด ใช้งบรอบละหลายแสน แต่รับได้แค่ 18 คน

Home » คุ้มไหม? ทบ.นำเครื่องบินรับผู้ป่วยโควิด ใช้งบรอบละหลายแสน แต่รับได้แค่ 18 คน
คุ้มไหม? ทบ.นำเครื่องบินรับผู้ป่วยโควิด ใช้งบรอบละหลายแสน แต่รับได้แค่ 18 คน

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564  ที่ท่าอากาศยานสนามบินนครพนม นายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย พลตรี สามารถ จันสมิทธิ์ ผบ.มทบ.210 นครพนม นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับเจ้าหน้าที่คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดนครพนม นำเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง รับตัวผู้ป่วยโควิดที่เดินทางมาในเที่ยวบินปฐมฤกษ์ โดยกองทัพบกได้จัดบริการรับส่ง ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด จากพื้นที่ กทม. ที่เดินทางมาดูแลรักษาที่บ้านเกิด จ.นครพนม เป็นการบริการรับส่งโดยเครื่องบิน ลำเลียงขนส่ง แบบ ซี 295 ของกองทัพบก มีผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อโควิดเดินทางมาในเที่ยวบิน เที่ยวแรกในภาคเช้า จำนวน 18 ราย  และมีเที่ยวบินที่ 2 ในช่วงบ่าย จำนวน 20 ราย รวม 38 ราย 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ในการบริการเที่ยวบินแต่ละครั้ง มีค่าใช้จ่ายประมาณ เที่ยวละ 2-3 แสนบาท  แต่เป็นนโยบายของรัฐบาล ที่มอบหมายให้กองทัพบกดำเนินการ ดูแลอำนวยความสะดวกบริการบริการชนทั่วประเทศ ซึ่งที่ จ.นครพนม เป็นเที่ยวบินปฐมฤกษ์ ก่อนที่จะมีการตรวจคัดแยกตามกระบวนการ ก่อนส่งไปกักตัวและรักษาในโรงพยาบาลสนาม ทั้ง 12 อำเภอ

ขณะเดียวกันได้มีตัวแทนภาคเอกชน คือ นายวัชรินทร์ เจียวิริยบุญญา รองประธานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ออกมาเปิดเผยว่า มาถึงวันนี้จากการพูดคุยกับผู้นำท้องถิ่น ในพื้นที่ทั้ง 12 อำเภอ ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า การบริการเที่ยวบินของรัฐบาลให้แก่ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ที่ติดเชื้อโควิด ถือเป็นการใช้จ่ายงบประมาณสูง เที่ยวละหลายแสนบาท  และไม่คุ้มค่า โดยต้องการให้เป็นการบริการทางรถยนต์โดยสารจะมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า และต้องการให้นำเงินงบประมาณ มาดูแลเรื่องวัคซีน รวมถึง การพัฒนาปรับปรุงโรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่ 12 อำเภอ ที่กำลังขาดแคลนงบประมาณ ซึ่งบางอำเภอยังต้องขอสนับสนุน บริจาคทั้งภาคเอกชน รวมถึงประชาชน ในการสร้างปรับปรุงพื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐเป็นโรงพยาบาลสนาม และจุดพักคอย รอรับการตรวจรักษา หรือกักตัวมาจากพื้นที่เสี่ยง เช่นเดียวกับพื้นที่ อ.นาแก จ.นครพนม กำลังมีการปรับพื้นที่ภาครัฐเป็นโรงพยาบาลสนาม แต่มีปัญหาขาดแคลนงบประมาณ ต้องขอรับบริจาค ทั้งเตียงนอนผู้ป่วย เป็นแคร่ไม้จากภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อรองรับผู้ป่วย โดยการนำเครื่องบินรับส่ง เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ สูญเปล่า  ส่วนการนำคนกลับบ้านถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องใช้งบประมาณให้คุ้มค่า และต้องแก้ปัญหาปลายเหตุ ทั้งเรื่องวัคซีน การควบคุมป้องกันระยะยาว

ด้าน พลตรี สามารถ จันสมิทธิ์ ผบ.มทบ.210 นครพนม เปิดเผยว่า  สำหรับการบริการผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงโควิดมาจากต่างจังหวัด ถือเป็นนโยบายของกองทัพบก วันนี้ถือเป็นวันแรกของเที่ยวบิน จ.นครพนม มี 2 เที่ยวบิน ภาคเช้าจำนวน 18 ราย ภาคบ่ายอีก 20 ราย  ซึ่งตนทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนกองทัพบกที่ดูแลอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน  เมื่อมาถึงทุกคนจะได้เข้าสู่มาตรการคัดกรอง คัดแยก ดูแล จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ขอให้ประชาชนอุ่นใจ เกี่ยวกับการระบาดในพื้นที่  ทุกรายที่มาในเที่ยวบินจะมีการรัดกุมในการดูแลกักตัวตามกระบวนการ ส่วนเรื่องอื่นในส่วนของ มทบ.210 ได้ช่วยเตรียมพร้อมดูแล เป็นศูนย์คัดกรอง และโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยเช่นกัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ