คุยกับแอดมิน “กลุ่มทะลุแก๊ซ” เมื่อเด็กแว้นลุกขึ้นสู้เพื่ออนาคตของตัวเอง

Home » คุยกับแอดมิน “กลุ่มทะลุแก๊ซ” เมื่อเด็กแว้นลุกขึ้นสู้เพื่ออนาคตของตัวเอง

นับตั้งแต่ปีที่แล้ว การชุมนุมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่กลายเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและน่าจับตามองไม่น้อยสำหรับสังคมไทยในยุคนี้ ซึ่งในขณะที่คนรุ่นใหม่ร่วมกันพังเพดานเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์การเมือง รัฐเองก็พยายามใช้อำนาจที่เข้มข้นขึ้นเพื่อปิดปากประชาชนผ่านวิธีการต่างๆ นำไปสู่ความเจ็บปวดและคับแค้นใจของประชาชน จนกระทั่งในการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ที่ภายหลังกลายเป็นการปะทะกันระหว่างมวลชนกับเจ้าหน้าที่ คฝ. บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง เปิดฉากสมรภูมิรบระหว่างรัฐกับประชาชนอีกครั้ง ตามมาด้วยการชุมนุมประท้วงรายวันที่กินเวลานานเกือบ 2 สัปดาห์

  • เดือดแล้ว! #ม็อบ15 สิงหา ปะทะตำรวจที่สามเหลี่ยมดินแดง ประทัด-แก๊สน้ำตา-ฉีดน้ำ มาครบ
  • เผยอาการล่าสุด เยาวชนอายุ 15 ปี ถูกยิงคอในม็อบ มีอาการอัมพาต ไม่รู้สึกตัว
  • แม่เยาวชนวัย 15 ที่ถูกยิง ร่ำไห้ไม่คิดจะเป็นลูกตัวเอง เผยลูกมาขอไปม็อบครั้งแรก

ม็อบดินแดง

การจัดการชุมนุมที่เต็มไปด้วยสีสัน ความคิดสร้างสรรค์ และความสนุกสนานตามสไตล์ชนชั้นกลางที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา แม้จะสามารถดึงความสนใจจากประชาชนและสื่อได้อย่างดี แต่ดูเหมือนว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่อีกกลุ่มที่ใครๆ เรียกว่า “เด็กแว้น” กลับไม่มีพื้นที่ในการแสดงออกในฐานะประชาชนและคนรุ่นใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ต่างจากคนกลุ่มอื่นๆ จนทำให้ในที่สุด พวกเขาต้องเลือกวิธีแสดงพลังของตัวเองในพื้นที่ใหม่ นั่นคือการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ คฝ. บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง พร้อมพลุ ประทัด และหนังสติ๊กกับลูกแก้ว ซึ่งอานุภาพเทียบไม่ได้กับกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่

แอดมินเพจ “กลุ่มทะลุแก๊ซ” ในฐานะผู้ประสานงานในการชุมนุม บอกกับ Sanook ว่า คนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมเป็นต้นมา จนกระทั่งใช้ชื่อว่ากลุ่มทะลุแก๊ซในขณะนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เกิดจากรัฐ เช่นเดียวกับเยาวชนกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว ระบบการศึกษา รวมทั้งค่านิยมของสังคมที่ทำลายความเป็นปัจเจกของคน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนเครื่องจักรขนาดใหญ่ ที่ผลิตกลุ่มคนที่ถูกเรียกอย่างตราหน้าว่า “เด็กแว้น” “เด็กช่าง” “สก๊อย” หรือ “เด็กติดยา”ออกมาสู่สังคม

AFP

“ผมไม่ได้โทษเขาที่ปัจเจก ผมโทษรัฐมากกว่าที่ทำไมไม่มีพื้นที่ให้เด็กเหล่านี้ได้วิ่งเล่น ทำไมเราไม่มีพื้นที่ทางความคิดให้เราได้เติบโต ได้พัฒนาร่วมกัน ทำไมรัฐถึงต้องคอยจำกัดอิสรภาพของเราอยู่เรื่อยไป มันเลยทำให้เด็กอายุ 12 – 13 ลุกขึ้นมาเป็นผู้ต่อต้านรัฐแล้วน่ะ นี่มันเป็นตัวบ่งชี้ว่ารัฐนี้มันล้มเหลวแล้ว ตอนนี้เราพยายามแสร้งมีชีวิตอยู่ในประเทศที่ไม่มีความหวัง มันอดสูมาก มันอับจนมาก มันเลยบีบบังคับให้เขาต้องออกมาถางทางอนาคตเอง ทั้งที่รัฐควรจะเป็นคนมอบและกระจายโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรพวกนี้ให้กับเขา กลายเป็นว่าเขาต้องแอคทีฟตัวเอง เพื่อไขว่คว้าทรัพยากรเพื่อเอาชีวิตรอดในแต่ละวัน” แอดมินเพจกลุ่มทะลุแก๊ซกล่าว

นอกจากนี้ แอดมินยังระบุว่า ในสถานการณ์ปกติ กลุ่มผู้ที่เข้าร่วมในม็อบดินแดงนี้ไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองอย่างจริงจัง แต่สภาวะที่บีบคั้น โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ครอบครัวของพวกเขาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ก็ผลักให้พวกเขาออกมาแสดงตัวตน และเปิดเผยให้สังคมรับรู้ว่าพวกเขาก็เป็น “อนาคตของชาติ” อีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน

“สมมติว่าเราชนะและเราสามารถสร้างสังคมประชาธิปไตยขึ้นมาได้ 100% ผมว่าเด็กแว้นหนึ่งในพวกนี้ต้องเป็นคนที่มีความสามารถด้านใดด้านหนึ่งที่ดีมากๆ ต้องมองย้อนกลับไปว่า พวกเราทำลายโอกาสพวกนี้ไปเท่าไรแล้ว ผมเลยมองว่ามันไม่คุ้มหรอกที่จะเอาชีวิตเด็กมาเสี่ยง พวก คฝ. หรือฝ่ายรัฐเอง เขาก็รู้ดีว่าเขากำลังเอาต้นทุนที่เขามีออกมาเสี่ยง คือการที่เขากราดยิง มันไม่ได้กราดยิงแค่กลุ่มทะลุแก๊ซนะ มันหมายถึงเขากำลังโจมตีคนรุ่นนี้อยู่ และเขากำลังเป็นศัตรูกับคนรุ่นนี้ แล้วคนที่กำลังดูอยู่ที่บ้าน มันก็จะเกิดการกระตุ้นทางความคิดต่อๆ กันไป เกิดประสบการณ์ร่วมกัน”

AFP 

กลุ่มทะลุแก๊ซ

จากรายงานของกลุ่ม Child in Mob ที่เก็บข้อมูลในพื้นที่ชุมนุมในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีทั้งภาพการปะทะ และการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สังคมตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ การไม่ปฏิบัติตามหลักสากลในการทำหน้าที่ รวมทั้งการละเมิดอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยสิทธิเด็กโดยไม่มีการไตร่ตรอง นอกจากนี้ ยังพบว่ามีเด็กและเยาวชนที่อายุไม่ถึง 18 ปี ถูกจับระหว่างการชุมนุมอย่างน้อย 38 คน โดยบางส่วนพบร่องรอยการถูกทำร้ายจากเจ้าหน้าที่ รวมทั้งมีเด็กอย่างน้อย 4 คน ถูกยิงด้วยกระสุนยางได้รับบาดเจ็บสาหัส และเด็ก 3 คน ถูกยิงด้วยกระสุนจริง หนึ่งในนั้นยังมีอาการโคม่า ซึ่งแถลงการณ์ของโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งทำการรักษาบุคคลผู้นี้ ระบุว่า ผู้บาดเจ็บยังคงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ มีอาการอัมพาตแขนขาทั้งสองข้าง

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเยาวชนตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมเป็นต้นมา ทำให้แอดมินตัดสินใจใช้ความรู้ในการจัดตั้งมวลชนและการสื่อสารกับสังคมเท่าที่ตัวเองมีอยู่ ในการช่วยเหลือคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้

“พวกเขาเป็นชนชั้นล่างที่ถูกสังคมทุนนิยมและอำนาจนิยมกดทับมาทั้งชีวิต ที่มันเลวร้ายก็คือ ช่วงเวลาที่พวกเขาควรจะได้เรียนรู้ มีความสุข ได้มีโอกาสที่จะเจอกับโลกใบใหม่ เจอกับแนวคิดใหม่ๆ เขาต้องมาเสียเวลาตรงนี้ไปกับรัฐบาลแบบนี้ มันเลยทำให้ผมมีอารมณ์ร่วมกับพวกเขามาก เราเข้าใจความรู้สึกเขา เด็กอายุ 13 กำหนังสติ๊กออกจากบ้าน มันถึงขั้นนี้แล้วเหรอวะ แล้วทำไมเราถึงจะไม่สู้ไปกับเขาล่ะ มันไม่มีทางอื่นแล้ว ผมเลยโดดลงมาทำทะลุแก๊ซ” แอดมินเล่า

จากประสบการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เขาตระหนักถึงชะตากรรมของชนชั้นล่างที่ถูกกระทำความรุนแรงและถูกทอดทิ้ง อย่างกรณีของคนเสื้อแดง ที่ถูกล้อมปราบเมื่อปี 2553 และยังถูกจดจำในฐานะ “พวกเผาบ้านเผาเมือง” ที่กว่าผู้คนจะเข้าใจเรื่องของคนเสื้อแดงจริงๆ ก็เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 10 ปี เพราะฉะนั้น แอดมินจึงไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับเยาวชนในม็อบดินแดงอีก และต้องการให้คนในสังคมมองเห็นตัวตน ความเจ็บปวด และความเคียดแค้นของคนเหล่านี้ว่ามีที่มาจากอะไร รวมทั้งทำหน้าที่สนับสนุนคนเหล่านี้ให้สามารถบรรลุข้อเรียกร้องได้ในที่สุด

“ประเด็นของผมคือทำอย่างไรก็ได้ให้เขามีกิน ทำอย่างไรก็ได้ให้เขาอยู่รอด ทำอย่างไรก็ได้ให้พ่อแม่เขากลับไปทำงานได้ เดี๋ยวพวกนี้เขาก็หายไปเอง ถ้าพ่อแม่เขาทำงานได้” แอดมินกล่าว

AFP

ม็อบนิยมความรุนแรง?

ในช่วงแรก กลุ่มทะลุแก๊ซจะปรากฎตัวหลังจากการชุมนุมหลักยุติลง ภาพการปะทะกับเจ้าหน้าที่และการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเผารถตำรวจ เผาป้อมตำรวจ หรือการจุดพลุ ทำให้หลายคนหวาดระแวงและสงสัยในเจตนาของกลุ่มคนเหล่านี้ว่าเป็นกลุ่มมือที่สาม ที่เข้ามาสร้างสถานการณ์หรือไม่ อีกทั้งยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงท่าทีที่รุนแรง ซึ่งอาจจะสร้างความชอบธรรมให้กับเจ้าหน้าที่ในการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม แอดมินเพจกลุ่มทะลุแก๊ซกล่าวว่า กำแพงระหว่างชนชั้นในสังคมไทยได้แบ่งแยกผู้คนออกจากกัน ทำให้ชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่สามารถเชื่อมโยงและร่วมมือกันได้จริง เมื่อต่างคนต่างไม่รู้จักกัน ก็ทำให้เกิดความกลัว ความหวาดระแวง และความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

“ต้องถามกลับว่าศีลธรรมส่วนตัวที่คนทั่วไปมองเขาเป็นประชาชนน่ะ มันวัดกันที่ตรงไหน บางคนเขาไม่ได้มองเด็กแว้น เด็กช่าง เป็นประชากรด้วยซ้ำ เขามองว่าเป็นขยะสังคม เราไม่สามารถตั้งบรรทัดฐานด้วยศีลธรรมชนชั้นกลาง มาวัดว่าพวกเขาเป็นประชาชนจริงไหม เป็นพวกแฝงตัวหรือเปล่า แล้วมันก็มีปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารออกมามากมายเลยครับว่า ผู้ชุมนุมมีการแฝงตัวของเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามา มีการแฝงตัวของมือที่สามเข้ามาก่อกวน สร้างความรุนแรง พวกนี้เป็นข้อมูลข่าวสารที่พยายามจะดิสเครดิตม็อบว่า ม็อบสร้างความรุนแรง แต่มันทำให้เราหลุดออกจากประเด็นที่เขาเรียกร้อง”

AFP 

อย่างไรก็ตาม แอดมินยืนยันว่า ภาพที่ดูรุนแรง เช่น การเผารถตำรวจ ยังอยู่ในแนวทางสันติวิธี เนื่องจากเป็นการทำลายเครื่องมือของฝ่ายรัฐที่ใช้กดขี่ประชาชน และเป็นการทำลายสัญญะในเชิงอำนาจของรัฐ โดยที่ไม่ได้มุ่งโจมตีตัวบุคคล หรือคุกคามเสรีภาพและความมั่นคงในชีวิตของผู้อื่น

“สิ่งที่ปรากฏในข่าวมีบ้างไหมที่ คฝ. โดนยิงรัวๆ ล้มลงกับพื้น โดนม็อบรุมกระทืบ มันไม่มี ภาพความรุนแรงที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมคือฝ่ายรัฐเป็นฝ่ายกระทำเรา เราไม่ได้เป็นคนเริ่มต้น และทะลุฟ้า เมื่อ 2 – 3 วันที่แล้วก็ยืนยันได้ชัดเจนแล้วว่า ไม่มีตำรวจก็ไม่มีความรุนแรง” แอดมินระบุ

AFP

เสียงจากกลุ่มทะลุแก๊ซ

ในวันที่แกนนำผู้ชุมนุมกลุ่มหลักๆ สูญเสียอิสรภาพ มีเพียงกลุ่มทะลุแก๊ซที่ยังคงต่อสู้เพื่ออนาคตของคนรุ่นใหม่ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับวิธีการเคลื่อนไหวที่ดูรุนแรง ประกอบกับชะตากรรมของผู้ชุมนุมที่เป็นเพียงเยาวชน แต่ต้องเผชิญกับความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้แอดมินคิดว่า ผู้ชุมนุมทุกกลุ่มควรหันมาร่วมมือกัน เพื่อความอยู่รอดและก้าวไปสู่จุดหมายเดียวกัน

“ผมมองว่าทุกคนก็มีงานที่ต้องทำ งานที่ตัวเองถนัด ผมค่อนข้างอิงไปทางการพึ่งพาอาศัยกันมากกว่า โอกาสในการอยู่รอดร่วมกันมันจะมีมากกว่าการที่เราต่างคนต่างอยู่ ก็เลยพยายามเสนอทางออกว่า อยากให้ม็อบกระแสหลักมาร่วมชุมนุมกับน้องๆ ที่ดินแดง เพื่อลดอุณหภูมิทางการเมือง เพื่อสร้างสรรค์วิธีการต่อสู้ร่วมกัน เพื่อสร้างภราดรภาพของประชาชนร่วมกันในทุกชนชั้น การแบ่งงานกันทำ มันจะสร้างชุมชนขึ้นมาได้ สร้างเครือข่ายขึ้นมาได้ ตอนนี้เราไม่ได้สื่อสารกับมวลชนของเราอีกต่อไปแล้ว เรากำลังสื่อสารกับสังคมทั้งหมด”

“ผมคาดหวังกับการต่อสู้ ผมมุ่งเน้นไปกับการที่เราจะสร้างเครือข่ายกลุ่มคนที่มีพลังทางความคิด ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของมันด้วยคนธรรมดาที่ไม่ใช่ฮีโร่” แอดมินทิ้งท้าย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ