คุกอ่วม 314 ปี! แม่เล้า ค้ากามเด็ก ส่งข้าราชการ-นักธุรกิจ จนท.รพ.ซื้อบริการโดน 12 ปี

Home » คุกอ่วม 314 ปี! แม่เล้า ค้ากามเด็ก ส่งข้าราชการ-นักธุรกิจ จนท.รพ.ซื้อบริการโดน 12 ปี


คุกอ่วม 314 ปี! แม่เล้า ค้ากามเด็ก ส่งข้าราชการ-นักธุรกิจ จนท.รพ.ซื้อบริการโดน 12 ปี

ศาลสุราษฎร์ธานี พิพาษาจำคุก 2 แม่เล้า 314 ปี คดีค้ากามเด็ก ชดใช้สินไหม 3 ล้าน รับสารภาพลดเหลือ 157 ปี จนท.โรงพยาบาลซื้อบริการติด 12 ปี

กรณีตำรวจปูพรมกวาดล้างคดีค้ามนุษย์ใน จ.สุราษฎร์ธานี จับ 18 ราย ได้ตัว 12 ราย พบผิดค้ามนุษย์ 4 ซื้อบริการทางเพศ 11 ราย อยู่ในเรือนจำ 2 หนี 1 อายุมากสุดอายุ 79 ปี เป็นประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ในสุราษฎร์ธานี รองประธานสภา อบต., ครู, หมอ ทหาร และลูกอดีตนักการเมือง ทั้งยังจับกุม “แม่เล้า” เป็นธุระจัดหาหญิงสาวให้กับลูกค้าในจ.สุราษฎร์ธานี มากว่า 3 ปี

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 15 พ.ย.65 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 5 ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ศาลออกนั่งพิจารณาอ่านคำพิพากษาคดีค้ามนุษย์ ที่พนักงานอัยการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.รุ่งฤดี หรือ เจ้น้ำ จำเลยที่ 1, น.ส.ตฤษณา หรือ เฟย์ จำเลยที่ 2 และนายสุริยันต์ จำเลยที่ 3

ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ คม 5/2565 ข้อหา กระทำชำเรา อนาจาร ความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดต่อเสรีภาพ ความผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ความผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก

โดยน.ส.รุ่งฤดี และ น.ส.ตฤษณา เป็นแม่เล้า ร่วมกันเป็นธุระจัดหาเด็กอายุตั้งแต่ 13 ปี ถึง 18 ปีเศษ ให้ค้าประเวณีแก่ลูกค้า ซึ่งเป็นกลุ่มข้าราชการและนักธุรกิจในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นผู้ซื้อประเวณี จำเลยทั้ง 3 ให้การรับสารภาพ

ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551, พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539

จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานสมคบกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ซึ่งกระทำแก่บุคคลอายุไม่เกิน 15 ปี รวม 7 กระทงรวมโทษทุกกระทงเป็นจำคุกคนละ 314 ปี

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 157 ปี แต่เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว คงให้จำคุกคนละ 50 ปี

จำเลยที่ 3 ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร และฐานความผิดอื่นๆรวมโทษทุกกระทง 6 กระทงเป็นจำคุก 24 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี

ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์แก่ ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 600,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2จำนวน 300,000บาท แก่ผู้เสียหาย ที่ 3 จำนวน 600,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 500,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 550,000 และแก่ผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 450,000 บาท รวม 3 ล้านบาท

อนึ่ง คดีนี้เดิมพนักงานอัยการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ฟ้องจำเลยกับพวกรวม 29 คน เป็นคดี คม1/2565 และคดี คม2/2565 ต่อมาจำเลยทั้ง 3 ให้การรับสารภาพ ศาลจึงมีคำสั่งให้แยกฟ้องเฉพาะจำเลยทั้ง 3 เป็นคดีใหม่ ส่วนคดี คม1/2565 และคดี คม 2/2565 ปัจจุบันอยู่ระหว่างสืบพยานล่วงหน้าโดยกำหนดนัดสืบพยานโจทก์และสืบพยานจำเลยให้แล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งมีลูกชายอดีตนักการเมืองอยู่ในชุดนี้

สำหรับ คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2564 หลังตำรวจ สภ.ขุนทะเล จ.สุราษฎร์ธานี เข้าให้การช่วยเหลือเด็กหญิงอายุ 13 ปี ที่ถูกกลุ่มแม่เล้าบังคับให้ขายบริการ ต่อมา พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในขณะดำรงตำแหน่ง ผช.ผบ.ตร.และรอง ผอ. ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.)

ร่วมกับตำรวจ ภ.จว.สุราษฎร์ธานี เข้าขยายผลและให้การช่วยเหลือเหยื่อเป็นเด็กหญิงอายุระหว่าง 13-18 ปี ได้ 10 ราย และสืบสวนขยายผลจับกุมน.ส.รุ่งฤดี และน.ส.ตฤษณา ที่ผู้เสียหายให้การซัดทอดว่าเป็นแม่เล้า

ต่อมาขยายผลจับกุมผู้ซื้อบริการ จำนวน 29 คน มีผู้ต้องหาเป็นบุคคลทั้งข้าราชการ ครู, นายแพทย์, ทหาร และลูกชายอดีตนักการเมือง ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้งสิ้น 5 คดี ตามพนักงานสอบสวนส่งฟ้อง

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ระบุพบมีข้าราชการระดับสูงสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กสุราษฎร์ธานี เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ต้องหา ถูกแจ้งข้อหาขัดขวางกระบวนการสอบสวนสืบสวนกระบวนการค้ามนุษย์ และแทรกแซง รวมถึงความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 157 ซึ่งการพิพากษาในคดีแรก ผู้ต้องหาผู้ซื้อบริการคนแรก เป็นเจ้าหน้าที่สังกัดโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งใน จ.สุราษฎร์ธานี

ที่มา มติชนออนไลน์

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ