คิกออฟ เข้มตรวจจับ ปรับจริง ห้ามใช้รถควันดำเข้าพื้นที่เมืองโคราช หวังลดฝุ่น PM 2.5

Home » คิกออฟ เข้มตรวจจับ ปรับจริง ห้ามใช้รถควันดำเข้าพื้นที่เมืองโคราช หวังลดฝุ่น PM 2.5



นครราชสีมา Kick – Off ปฏิบัติการ โครงการรัฐ เข้มตรวจจับ ปรับจริง ห้ามใช้รถควันดำเข้าพื้นที่เมืองโคราช เพื่อลดผลกระทบฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน

2 ธ.ค. 65 – ที่บริเวณถนนมิตรภาพ หน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์นครราชสีมา นายบัลลังก์ ไวยศิริ นายอำเภอเมืองนครราชสีมา พร้อมด้วย นายธนัญชัย วรรณสุข ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อม และควบคุมมลพิษที่ 11 (นครราชสีมา) พ.ต.อ.ประสิทธิ์ เปรมกมล ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครราชสีมา และนายรังสฤษฏ์ วรสีหะ ขนส่งจังหวัดนครราชสีมา

เริ่มปฏิบัติการตรวจจับควันดำจากยานพาหนะ ในพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา ตามโครงการรัฐเข้มตรวจจับ ปรับจริง ห้ามใช้รถควันดำ เพื่อบังคับใช้กฎหมายกับยานพาหนะเครื่องยนต์ดีเซลที่ปล่อยระบายค่าควันดำเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ประชาชนบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนหรือ PM 2.5

โดยได้กำหนดเป้าหมายตรวจจับควันดำจากเครื่องยนต์ดีเซลให้ได้จำนวน 30-50 คันต่อวัน และมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2565 – วันที่ 31 มีนาคม 2566 ในการตรวจวัดควันดำ

นายบัลลังก์ เปิดเผยว่า นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้กำชับเน้นย้ำ ให้พื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา เป็นพื้นที่เป้าหมายนำร่องดำเนินโครงการเฝ้าระวัง ติดตามตรวจสอบ และควบคุมมลพิษทางอากาศด้านการขนส่ง

ประกอบด้วยกิจกรรมการตรวจจับควันดำจากยานพาหนะขนส่งทางบก ซึ่งก่อนที่จะบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนจึงกำหนดนโยบายให้หน่วยงานราชการในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา นำร่องดำเนินโครงการโดยนำรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลของทางราชการ และรถยนต์เจ้าหน้าที่ เข้าตรวจวัดควันดำเพื่อให้มีการนำรถยนต์ที่มีค่าควันดำเกินมาตรฐานไปซ่อมบำรุงรักษาให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีค่าควันดำที่ระบายออกจากท่อไอเสียเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

ซึ่งจะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบฝุ่นละอองที่เกิดจากภาคการจราจร และการขนส่ง ทั้งนี้ ดำเนินการการตรวจจับควันดำ จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จับจริง ปรับจริง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

นายธนัญชัย เปิดเผยว่าจากข้อมูลสถานการณ์คุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าทั่วทุกภาคของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือที่เรียกกันว่าฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น จนกระทั่งรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติที่จะต้องดำเนินการป้องกัน และแก้ไขปัญหาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่การควบคุมที่แหล่งกำเนิด ได้แก่ การดูแลรักษาเครื่องยนต์ คุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงและการสันดาป ตลอดจนการควบคุมการระบายควันดำที่ปลายท่อไอเสียของรถยนต์ เป็นต้น

ทั้งนี้ รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลซึ่งมีผลการตรวจวัดค่าควันดำเกินมาตรฐานพนักงานเจ้าหน้าที่จะติดสติ๊กเกอร์ห้ามใช้ยานพาหนะซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง โดยเจ้าของรถยนต์จะต้องนำรถไปจัดการแก้ไขหรือซ่อมบำรุงภายในระยะเวลา 30 วัน และนำหลักฐานไปขอยกเลิกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะ ณ จุดยกเลิกคำสั่งตามที่ทางจังหวัดนครราชสีมากำหนดต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ