คำผกา ร่ายยาวเหตุผลปมหาร 100 ไขข้อข้องใจทำไมต้องเดินเกมสภาล่ม ชี้จะแบบไหน พรรคเพื่อไทยก็ได้เปรียบหมด ชี้พลังประชารัฐแตก ไปตามทาง ยกกรณีมาดามเดียร์
วันที่ 16 ส.ค. 2565 ข่าวจบ คนไม่จบ! วิเคราะห์เจาะลึก ถึงพริกถึงขิง จากมุมมอง “อั๋น ภูวนาทและ แขก คำผกา” กับ 3 วิพากษ์เผ็ดร้อน 3 ประเด็นฮอตดื้อแพ่งเลี้ยงหมาบนคอนโดปรับอ่วมหลักแสน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป วิกฤตอยู่ไม่ไหว ขอปรับเป็น 8 บาท เกมสภาล่ม ฟื้นสูตรหาร100 มาดามเดียร์ไขก๊อก โดยพิธีกรคืออั๋น-ภูวนาท คุนผลิน และคำผกา ลักขณา ปันวิชัย สำหรับประเด็นเกมสภาล่มนั้น อั๋นคิดว่ามีการวางแผนหรือไม่ ให้ไม่ต้องหารสูตร 500 ก็กลับไปสู่หาร 100 ทันที ส่วนตัวมองว่าไม่สง่างามเลย เพราะไม่ได้แสดงจุดยืน แต่เล่นหายไปไม่บอกประชาชนเลย
คนสงสัยว่าก่อนหน้านี้เถียงกันเรื่องหารอะไร ตอนนี้พอจบแล้ว ก็รู้ล่ะว่าหาร 100 แต่ยังงงว่า ทำไมต้องหาร 500 แล้วก็อยากรู้ว่าสภาล่มนี้ทำด้วยเหตุใด
คำผกาเผยว่า รัฐธรรมนูญไทยปี 2560 ออกแบบระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งจะมีส.ส.พึงมี โดยในเยอรมันก็มีระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วน แต่ไม่ผสม ในบ้านเรา ใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ แล้วหาร 500 เพื่อไม่ให้มีเสียงตกน้ำ จึงมีส.ส.ปัดเศษ มีพรรคเล็กๆ ได้เข้าสภามา
ระบบนี้ถูกวิจารณ์ว่า ไม่ได้สะท้อนเจตจำนงค์ของประชาชนในการเลือกผู้แทนเข้าสภา ส.ส.ปัดเศษได้แค่พันกว่าคะแนน ก็ได้ที่นั่งในสภา แถมพรรคการเมืองได้ส.ส.เขตเยอะ จึงติดเพดาน ไม่ได้ส.ส.จากบัญชีรายชื่อ ทำให้เกิดระบบนิเวศงูเห่า มีค่าตัวขึ้นมาเหมือนไก่ชน ขายตัวไปอยู่ในพรรคอื่น เพราะ 1 เสียงมีราคาในการโหวต ได้มา 40-50 ล้านก็พอแล้ว ล้างมือในอ่างทองคำ
ระบบนี้ทำให้มีการซื้อขายกล้วย เพราะส.ส.พรรคเล็กรวมตัวมาต่อรอง เรียกค่ายกมือ ขอกล้วย ทำให้มันขัดขวางพัฒนาความเข้มแข็งของประชาธิปไตย พรรคการเมืองก็ไม่อาจสถาปนาผลิตความต้องการของประชาชน
นอกจากนี้มันยังทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ ซึ่งมี 2 แบบ คือส่วนบุคคล ฝากลูกเข้าโรงเรียน เคลียร์ใบสั่งจราจร ซึ่งระบบนี้ทำให้ส.ส.ต้องพึ่งพิงวุ่นวายกับระบบแบบนี้ แต่ระบบอุปถัมภ์ผ่านการเลือกตั้งเชิงนโยบาย ซึ่งสร้างความผูกพันระหว่างประชาชนกับผู้แทน เราอาจแพ้เขต แต่คนอาจไปกาพรรค
“นี่ทำให้พรรคการเมืองพัฒนาตัวเอง คนรู้ว่าพรรคไหนทำตามสัญญา ประชาชนตรวจข้อสอบทุก 4 ปี พรรคไหนผลงานดี คนก็ไปเลือก ทำให้พรรคการเมืองเขาอยากชนะ ก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนเลือก ไม่ใช่ไปบอกให้ประชาชนไปเรียนอริยสัจ4”
ระบบเดิมนั้น ทำให้ประชาธิปไตยพังทลาย คนก็รู้ พรรคการเมืองก็รู้ ทุกพรรคไปหาเสียงว่าเลือกไป แล้วจะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากระบบเดิม สู่ระบบคู่ขนานเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 คนไปเลือกบัตร 2 ใบ เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ใช่ หาร 100 ง่ายๆ แค่ไหนแค่นั้น
ตอนนั้นเหมือนทุกพรรคเห็นด้วยกันหมด ก็ผ่านกันจนตั้งกรรมาธิการ ถึงโหวตวาระ 2 ทุกพรรคที่ส่งตัวแทน แต่ทางตัวแทนครม. เอาตัวแทนพรรคเล็กที่ไม่เอาหารแบบนี้ ขอสงวนความเห็น ก่อนส่งทุกอย่างกลับไปที่โหวตสภาใหม่ ตอนพอยกมือการยกมือ สงวนความเห็น ชนะเสียงกมธ.ข้างมาก จนมาโหวตกันใหม่
ตอนนั้นหาร 100 ก็กลัวพรรคเพื่อไทยมา จะหาร 500 ก็กลัวพรรคก้าวไกลมา ก็เลยกลับลำกันไปมา พรรคเสรีรวมไทยก็ซื่อตรงกับตัวเองว่าจะหาร 500 เพราะเขาได้เปรียบ เพราะมันแฟร์ สุดท้ายเกิดเกม พรรคเพื่อไทยมีการใช้แท็กติกในสภา ประกาศให้รู้ว่าจะเข้าประชุม แต่ไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม
เพราะมาตรา132 ของรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ หากสภาล่ม ให้กลับไปเอาร่างของครม.คือบัตร 2 ใบ หาร 100 มาใช้ พรรคเพื่อไทยมองว่า มี 3 ทาง คือปล่อยหาร 500 ผ่าน ให้กกต.กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งไม่รู้จะเกิดผลลัพธ์อะไรขึ้น ควบคุมไม่ได้ ก็ไม่เลือก
ทั้งนี้หากปล่อยให้ 500 ผ่าน ก็จะมีคนรอบรู้ฉลาดกว่าใครหมดทั้งสิ้นในโลกนี้ ก็ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถตีความได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เลือกแบบหาร 100 แต่ทำไมกฎหมายลูกเป็นอีกอย่าง ซึ่งก็จะมีอำนาจระงับใช้ไว้ก่อน ทำให้ไม่มีกฎหมายเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรักษาการไปอีก 2 ปี
พรรคเพื่อไทยเห็นช่องโหว่นี้ จึงเลือกวิธีทำสภาล่ม อย่างไรก็ดีถ้าพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ไม่อยากให้สภาล่ม ก็มีเสียงมากกว่าเพื่อไทย แต่ทำไมกลับทำให้สภาล่ม พรรคเพื่อไทยได้ประกาศแล้วว่าจะใช้วิธีนี้ ส่วนพรรคอื่นนั้น เราไม่อาจรู้ได้ว่าทำไมถึงปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น
ทั้งนักรัฐศาสตร์ทั้งหลายมองว่า จะหารอะไรนั้น พรรคเพื่อไทยก็ได้เปรียบหมดทุกสูตร มีโอกาสได้ส.ส.เยอะสุดอยู่ดี หาร 100 เรายังเลือกหลายพรรคได้ แต่ถ้าหาร 500 คนจะไปเลือกพรรคเพื่อไทยกันหมด ทำให้เกิดแลนด์สไลด์
“ระบบการเลือกตั้งนั้น ชาวบ้านเข้าใจ เพราะพรรคการเมือง ฐานเสียงอยู่ต่างจังหวัด เขาอธิบายกันเยอะ มีแต่คนกรุงเทพนี่แหละ ที่ไม่ค่อยมีใครมาคุยด้วย”
ทางพรรคพลังประชารัฐมันแตกเป็นเสี่ยงๆ ไปอยู่พรรคเล็กๆ ซึ่งมันทำให้ได้เปรียบจากสูตรหาร 100 มากกว่า ส่วนการที่ มาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ลาออก เราต้องเข้าใจว่าพลังประชารัฐเป็นพรรคเฉพาะกิจ ให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายก
พอผ่านไป 4 ปี พรรคไม่มีแกนกลางรวมตัว เมื่อผลประโยชน์เปลี่ยน เพราะพลังประชารัฐไม่ได้เป็นพรรคการเมืองตั้งแต่แรก แต่เป็นกลุ่มผลประโยชน์หลากหลายรวมตัวกันเฉพาะกิจ พอหมดภารกิจพล.อ.ประยุทธ์แล้ว ฝ่ายต่างๆ ก็ไปอยู่ในจุดที่ตัวเองได้ประโยชน์
การที่มาดามเดียร์ไปอยู่กับนายอุตตม สาวนายน จากพรรคสร้างอนาคตไทย ที่แจ้งว่าจะไม่หนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็เป็นการแสดงจุดยืน
คำผกาเผยว่า ตนเห็นมาดามเดียร์ไม่ได้ร่วมสังฆกรรมกับพรรคพลังประชารัฐมาช่วงใหญ่ๆ แล้ว
“เราได้เห็นภาพ และเข้าใจอะไรได้มากขึ้น ตอนนี้จะมีอะไรเซอร์ไพรส์อีก ก็รอดูแล้วกัน แต่ตอนนี้กลับมาหาร 100 แล้ว”