คำผกา ลั่นจราจรไทยพังพินาศ ปมชนเสาไฟมโนราห์ ต้น 9 หมื่น ตั้งผิดที่ผิดทางไหม

Home » คำผกา ลั่นจราจรไทยพังพินาศ ปมชนเสาไฟมโนราห์ ต้น 9 หมื่น ตั้งผิดที่ผิดทางไหม



คำผกา ลั่นจราจรไทยพังพินาศ ปมชนเสาไฟมโนราห์ ต้น 9 หมื่น ติดตั้งผิดที่ผิดทางไหม ตามมาตรฐานหรือไม่ ชี้การดูแลพื้นที่สาธารณะมีทฤษฎีกำกับอยู่แล้ว

เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 16 ธ.ค. 2565 ข่าวสดออนไลน์ จัดรายการ “ข่าวจบ คนไม่จบ” ดำเนินรายการโดย อั๋น ภูวนาท คุนผลิน และแขก ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา ในหัวข้อ “ชนทีถึงช็อก! ป้ายแดงเสยเสาไฟมโนราห์ พัง 2 ต้น เจอคิดต้นละ 9 หมื่น”

อั๋น กล่าวว่า เหตุเกิดขึ้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งถนนเส้นดังกล่าวติดเสาไฟมโนราห์ไว้ทั้งหมด 166 ต้นต่อข้าง รวมซ้ายและขวา 368 ต้น ใช้งประมาณ 33 ล้านบาท

คำ ผกา กล่าวว่า ข้อที่ 1 เราอยากได้ไฟถนนที่ไฟสว่าง โดยไม่ต้องมีมโนราห์หรือกินรี แล้วราคาถูกลงประมาณ 1 ใน 3 ได้ไหม ขอเสาไฟแบบแข็งแรง มั่นคง สว่าง ครบฟังก์ชั่นของเสาไฟบนถนน ไม่ต้องทาสีทอง ไม่ต้องทาสีเขียว ไม่ต้องมีรูปปั้น ไม่ต้องมีลายกนก ถ้ามันจะทำให้ถูกลง เราอยากได้เสาไฟแบบนั้นมากกว่า

คำ ผกา กล่าวต่อว่า ขอเรียกร้องไปยังดีไซเนอร์ที่ทำงานเกี่ยวกับเสาไฟทั่วประเทศ และส่งเสียงไปยัง นายก อบต. นายกเทศบาล นายกเทศมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศไทย ว่า สิ่งที่ประชาชนต้องการจากเสาไฟ คือ แสงสว่าง ไม่ได้ต้องการตุ๊กตาบนถนน ไม่ต้องการรูปปั้น แล้วเอางบที่เหลือไปพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนและสวนสาธารณะ

คำ ผกา กล่าวอีกว่า ข้อที่ 2 วิศวกรรมการจราจร ควรไปพิสูจน์ก่อนว่า ที่รถชนเสาไฟเป็นความผิดของรถ หรือความผิดของเสา การออกแบบที่ตั้งเสา ออกแบบมาโดยผิดที่ผิดทางจนเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือไม่ โดยการออกแบบแล้ว เสาไม่ควรตั้งอยู่ในองศาแบบนั้น หากพบเสาตั้งผิดที่ เทศบาลควรจะเป็นฝ่ายจ่ายเงินให้กับเจ้าของรถ ไม่ใช่เจ้าของรถจ่ายเงินให้เทศบาล

“วิศวกรรมการจราจรบ้านเราพังพินาศมาก ชอบมีสิ่งก่อสร้างหรือรูปปั้น อนุสาวรีย์ทุเรียน ชมพู่ ตามจุดต่างๆ ที่ไม่ควรจะมี แล้วมันกีดขวางการจราจร บดบังวิสัยทัศน์ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุอยู่เนืองๆ แล้วทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุจากอนุสาวรีย์รูปปั้นที่มันอยู่ผิดที่ผิดทาง เราคิดเสมอว่าใครที่อุตริมาสร้างรูปปั้น บดบังทัศนวิสัยควรจะชดใช้ชดเชยให้คนที่ต้องเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ แล้วที่ตั้งเสานี้ควรพิสูจน์ก่อนไหมว่าเป็นความผิดของใคร” คำ ผกา กล่าว

ด้าน อั๋น กล่าวต่อว่า เขาเปิดเผยว่า 9 หมื่นบาท คือราคาเสา แต่จะมีการซ่อมตามจริง ไม่ได้แปลว่าต้องเปลี่ยนทั้งเสา ไม่ได้จะเก็บ 1.8 แสนบาท แต่ซ่อมเท่าไรก็จ่ายเท่านั้น ถ้าถามตน ตนไม่ได้ติดใจ เพราะตนชอบความสวยงาม ตนคิดว่าความสวยงามเป็นหนึ่งในสิ่งที่เราควรได้รับอย่างมีรสนิยม จากคนที่บริหารจัดการ ไม่ใช่แค่สว่างเฉยๆ แล้วติดห้อยๆ ให้เยอะแยะเต็มไปหมด ถ้าสวยก็ดี ถ้ามีเงินแล้วทำ แต่ถ้ายังไม่มี ตนเข้าใจว่าเราควรเลือกฟังก์ชั่นก่อน

อั๋น กล่าวอีกว่า เสาไฟรวม 368 ต้น ในงบเท่าเดิม คุณเอาเป็นเสาไฟแอลอีดีที่ประหยัดไฟ สว่างสไว สวยงามตามสมควรแบบไม่ทำลายทัศนวิสัยและทัศนียภาพ อาจจะซื้อได้ประมาณ 1,000 ต้น ขยายพื้นที่ความสว่างได้มากขึ้น แล้วประสิทธิภาพมากกว่าหลอดไฟที่อยู่บนเสากินรีแน่นอน 1 ต้นของกินรี กับ 1 ต้นของเสาไฟที่มีคุณภาพ ความสว่างก็ไม่เท่ากัน แล้วพื้นที่ความสว่างก็มากขึ้น มันอาจจะเข้าไปถึงในซอย เข้าไปถึงจุดเสี่ยง หรือจุดที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยๆ ควรจะเป็นแบบนั้นในภาวะของประเทศที่ยังไม่มีเงินมากพอ น่าจะสมเหตุสมผลกว่าอย่างไม่ต้องคิดอะไรเยอะ

คำ ผกา กล่าวต่อว่า เรื่องแบบนี้ไม่ได้นิมิตออกขึ้นมาแล้วกลายเป็นเสา ทั่วโลกมีวิชาการวางแผนชุมชนเมือง และการออกแบบชุมชนเมือง เขามีอาชีพสถาปนิก ดีไซเนอร์ คนออกแบบแสง วิศวกรเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน แล้วทั่วโลกเขาทำกันมาจนตกผลึก กลายเป็นทฤษฎีที่วัดความก้าง ความยาว ความสูง วัดแรงโวลต์ของหลอดไฟที่สัมพันธ์กับความกว้าง ความยาวของถนน ไปจนถึงสีที่จะใช้

คำ ผกา กล่าวอีกว่า ตนมั่นใจมากเลยว่ามันมีตำราออกมาแล้ว โดยที่เราไม่ต้องเถียงกันว่าอันไหนทำตามอารมณ์ อันไหนเป็นฟังก์ชั่น มันมีจุดที่อารมณ์ ฟังก์ชั่น และงบประมาณ มาเจอกันแบบพอดี บนความเป็นมืออาชีพ เป็นเรื่องไม่ยากเลย คืออย่าคิดเอง ตนรู้สึกว่าการดูแลพื้นที่สาธารณะจะต้องมีทฤษฎี มีจรรยาบรรณ มีคู่มือที่เป็นมาตรฐานสากลกำกับอยู่เสมอ

คำ ผกา กล่าวต่อว่า ถ้าคุณเป็นผู้มีอำนาจในการดูแลพื้นที่เหล่านั้น แล้วคุณชอบกินรีมาก คุณชอบมโนราห์ ชอบสีทอง ลายกนก คนแคระทั้ง 7 เอาไปไว้ที่บ้านตัวเอง เราเข้าใจถ้าจะชอบอะไรแบบนั้น จะตั้งกินรี มโนราห์ กี่ตัวไว้ที่บ้าน ไม่มีใครว่าอะไร เราเคารพในรสนิยม แต่ถ้ามันเป็นที่สาธารณะที่เกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยด้วย มันมีทฤษฎีกำกับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอารมณ์ การสะท้อนแสง สีที่เข้ากัน ถนนพวกนี้ก็มีทฤษฎีว่าด้วยเรื่องสีแสงมีกำกับไว้หมดแล้ว

คำ ผกา กล่าวอีกว่า ความชอบหรือรสนิยมส่วนตัวต้องเอาไว้ที่บ้าน แล้วเอาทฤษฎีที่เป็นสากลมาใช้ในการออกแบบพื้นที่สาธารณะ แล้วถ้าไม่มีความรู้เรื่องนั้น จงไปจ้างมืออาชีพมาทำ แล้วเคารพในวิชาชีพของเขา อย่าไปเถียงเขา อย่าเอาควาารู้เรื่องฮวงจุ้ยของตัวเองมาครอบงำเขา เพราะพื้นที่สาธารณะต้องมีมาตรฐานที่เป็นความปลอดภัยสากลมากำกับ เพื่อให้มันดีต่อใจของคนทุกคน ในระดับที่ทุกคนยอมรับได้ เป็นพื้นฐานของการออกแบบพื้นที่สาธารณะทั่วไป ส่วนเราจะชอบอะไรก็แล้วแต่ เอาไปตั้งไว้ที่บ้านตัวเอง

อั๋น กล่าวเสริมว่า เวลาที่เราไปต่างประเทศ จะเห็นว่าเขาคุมโทน และมีมาตรฐานว่าถ้าคุณจะซ่อมแซมกระเบื้องมุงหลังคาบ้าน จะต้องใช้สีอะไรได้บ้าง ระบุแม้แต่ว่ายี่ห้ออะไร ของบริษัทไหนที่เป็นมาตรฐาน แล้วต้องมาเสนอส่วนกลางก่อน เช่น ถ้าไปอิตาลี ทั้งเมืองนี้หลังคาสีเดียวกันหมด ทำไมเราไปซานโตรินี ทั้งเมืองเป็นสีขาวฟ้าทั้งหมด ซึ่งเป็นขาวเดียวกัน และฟ้าเดียวกัน เพราะเขากำหนดโทน และทุกคนเคารพกัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ