แขก คำผกา ชี้ กทม. ควรยื่นอุทธรณ์ หลังศาลสั่งจ่าย 1.2 หมื่นล้านบาท ให้บีทีเอส เชื่อชัชชาติ รับมือได้ ฉะรัฐประหารทำวุ่นวาย
เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในรายการ ข่าวจบ คนไม่จบ ของทางเพจข่าวสด ผู้ดำเนินรายการ อั๋น ภูวนาท และ แขก คําผกา ได้พูดคุยถึงประเด็น ศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษาให้ กทม. กับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายให้กับรถไฟฟ้าบีทีเอส 1.2 หมื่นล้านบาท กรณีผิดสัญญาชำระค่าตอบแทนการให้บริการ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
แขก คําผกา กล่าวว่า กทม. คงจะต้องยื่นอุทธรณ์ เพื่อไปศึกษาสัญญาที่ทำกันไว้กับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ตั้งแต่แรก เพราะมีรายละเอียดจำนวนมาก ซึ่งกรุงเทพฯ ได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้วให้บริษัทบีทีเอสมาลงทุนทำระบบรถทั้งหมดรวมถึงค่าดำเนินการเดินรถ โดยได้สัมปทานถึงปี 2572 เพื่อให้ครอบคลุมเงินลงทุนของบีทีเอสทั้งหมด เมื่อสิ้นสุดสัมปทานรถไฟฟ้าทั้งหมดจะเป็นของกทม.
ต่อมามีแผนขยายเส้นทางรถไฟฟ้าไปจ.ปทุมธานี หมอชิด สะพานใหม่ คูคต และจ.สมุทรปราการ ในเส้นแบริ่ง ซึ่งทำให้เกิดความสงสัยว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหาร ขณะนั้นเขาจะให้รฟม. เป็นผู้รับผิดชอบ แต่ปี 2558 หลังรัฐประหาร
จู่ ๆ กระทรวงคมนาคมก็มีมติเปลี่ยนให้กทม. มารับผิดชอบเดินรถในโครงการสายสีเขียวทั้งหมด ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนทำให้กทม. ต้องโอนหนี้ค่าก่อสร้าง 6 หมื่นล้านบาท จากรฟม. ไปให้กทม. ดังนั้นรฟม. ซึ่งลงทุนไป 6 หมื่นล้านบาท ต้องมาเก็บเงินที่กทม. ทำให้กทม. ได้ลาภลอยเป็นหนี้สิ้น 6 หมื่นล้านบาท
ต่อมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไปเป็นประทานเปิดรถไฟฟ้าสายสีเขียวเส้นแบริ่ง สมุทรปราการ แล้วจู่ ๆ ก็ประกาศงดเก็บค่าโดยสาร 4 เดือน และมีการยกเลิกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนต่าง ๆ แล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 บีทีเอสได้ร่อนหนังสือทวงค่าเดินรถไฟฟ้าจากกทม. จำนวน 800 ล้านบาท จนเป็นพาดหัวข่าวใหญ่ และเตรียมจะหยุดรถถ้ากทม. ไม่ชำระหนี้ส่วนนี้ ทำให้วันนี้กทม. เสี่ยงล้มละลาย
แนวทางที่เหลือคือต้องต่อสัมปทานให้บีทีเอสอีก 30 ปี เพื่อล้างหนี้ รวมเป็นสัมปทาน 60 ปี หรือต้องให้ทุกอย่างจบลงที่ปี 2572 แล้วประมูลสัมปทานกันใหม่ แต่ปัญหาคือจะเจรจาเรื่องหนี้สินยังไง แล้วที่น่าสนใจคือวิธีการขยายสัมปทานให้บีทีเอสมาจากคำสั่งอำนาจมาตรา 44 ไปยกเว้นการใช้ พ.ร.บ. การร่วมทุนรัฐกับเอกชน ซึ่งทำให้คนมองว่านี้เป็นอุบัติเหตุหรือความบังเอิงอะไร ทำให้บีทีเอสได้ผูกขาดสัมปทานรถไฟฟ้าไปถึงปี 2602
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ผู้ว่าชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รับรู้ปัญหานี้มาตั้งแต่ก่อนลงเลือกตั้งแล้ว เชื่อว่าผู้ว่าอาจจะรับมือได้ ต่อให้ไม่ใช่ความผิดของตัวเอง แต่ก็อาสามาเป็นผู้ว่ากทม. ทำให้ไม่สามารถปฏิเสธงานส่วนนี้ไม่ได้ แต่ส่วนตัวตนมองว่ากทม.ควรยื่นอุทธรณ์ไปก่อน