คำผกา ชี้สิ้นรัชสมัยควีน หลายประเทศจ่อเป็นสาธารณรัฐ หมดยุคอาณานิคม

Home » คำผกา ชี้สิ้นรัชสมัยควีน หลายประเทศจ่อเป็นสาธารณรัฐ หมดยุคอาณานิคม



คำผกา ชี้สิ้นรัชสมัย ควีนเอลิซาเบธที่ 2 หลายประเทศจ่อเป็นสาธารณรัฐ หมดยุคอาณานิคม แม้แต่คนอังกฤษบางส่วนยังไม่ยอมรับการมีประมุขของรัฐ

เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 16 ก.ย. 2565 ข่าวสดออนไลน์ จัดรายการ “ข่าวจบ คนไม่จบ” ดำเนินรายการโดย อั๋น ภูวนาท คุนผลิน และแขก ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา ในหัวข้อ “สิ้นสุดรัชสมัยควีน จุดเริ่มต้นถอนเครือจักรภพ ทวงเพชรโคอินัว”

อั๋น กล่าวว่า ประเทศอังกฤษ ไม่ใช่ England แต่คือ United Kingdom หมายถึงมีสถาบันกษัตริย์ แล้วราชอาณาจักรที่อยู่ใต้การปกครองนั้น จะเรียกว่าราชอาณาจักรในเครือจักรภพ คือ Commonwealth ซึ่งมีประเทศต่างๆ อยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร โดยมีควีนเอลิซาเบธที่ 2 เป็นประมุข มีทั้งหมด 15 ประเทศ ประกอบด้วย สหราชอาณาจักร, แอนทีกาและบาร์บิวดา, ออสเตรเลีย, บาฮามาส, เบลีซ, แคนาดา, กรีเนดา, จาเมกา, นิวซีแลนด์, ปาปัวนิวกินี, เซนต์คิตส์และเนวิส, เซนต์ลูเชีย, เซนต์วินเซนต์และเกรนา, ดีนส์, หมู่เกาะโซโลมอน และตูวาลู

อั๋น กล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือกลุ่มประเทศเหล่านี้มีความเคลื่อนไหวทันทีหลังการสวรรคตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 โดยมีการตั้งคำถามว่า ทำไมถึงจะต้องอยู่ภายใต้ระบบอาณานิคมนี้ต่อไป จะต้องมีพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เป็นประมุขสูงสุดด้วยหรือ แม้แต่ในประเทศอังกฤษเอง รวมถึงในสกอตแลนด์ก็มีกระแสต่อต้านมานาน ว่าทำไมถึงจะต้องผูกติดกับสถาบัน ในยุคที่โลกเคลื่อนที่ไปสู่ความเท่าเทียมกันของความเป็นคนมากขึ้น เราจะเห็นเรื่องที่คนลุกขึ้นมาประท้วงไม่เอาราชาธิปไตย ไม่เอาราชวงศ์ ไม่เอากษัตริย์อีกแล้ว ไม่ต้องมีสิ่งนี้อีกแล้ว แม้แต่คนอังกฤษบางส่วน

อั๋น กล่าวอีกว่า หลายประเทศถึงขนาดจะเตรียมทำประชามติเพื่อสอบถามความคิดเห็นกัน เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป หากประเทศเหล่านี้ลุกขึ้นมาต่อต้าน แล้วจะบอกว่าส่งทหารไปจัดการเหมือนตอนยุคล่าอาณานิคม มันทำไม่ได้แล้ว แล้วอังกฤษก็ไม่ได้แข็งแรงเหมือนอดีต ส่วนประชาคมโลกคงไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวแบบนี้ ที่สำคัญคือไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อตกลงหรือสนธิสัญญาใดว่าอาณานิคมเหล่านี้ เมื่อสิ้นรัชสมัยของกษัตริย์ 1 องค์ สิ่งนี้ไม่ได้ส่งต่อให้กับกษัตริย์รุ่นต่อไป

ด้าน คำ ผกา กล่าวว่า คอนเซ็ปต์ของกษัตริย์ต้องสืบทอดทางสายเลือดเท่านั้น แต่การเป็นประมุขของรัฐในเครือจักรภพไม่ได้ส่งต่อทางสายเลือด แม้กระทั่งในประเทศอังกฤษเอง คนจำนวนหนึ่งก็ไม่ยอมรับว่าทำไมต้องมีประมุขของรัฐ เพราะไม่มีคุณสมบัติอย่างอื่นนอกจากเกิดถูกบ้าน คำถามนี้จะเป็นคำถามในตัวประเทศอังกฤษเอง แต่เราอย่าลืมว่าทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีการเคลื่อนไหวว่าจะเป็นสาธารณรัฐมายาวนานมาก เพียงแต่รอการสิ้นของควีนเอลิซาเบธที่ 2 เพราะยังเกรงใจ จะได้บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น

คำ ผกา กล่าวอีกว่า กรณีนิวซีแลนด์ นายกรัฐมนตรีออกมาพูดแล้วว่ายังไม่มีเร็วๆ นี้หรอก แต่ในชั่วชีวิตของเขาจะเกิดขึ้นแน่นอน กับการเป็นสาธารณรัฐของนิวซีแลนด์ เขาก็พูดชัดเจนว่าก่อนเขาตายได้เห็นสิ่งนี้แน่ หรืออย่างเช่นประเทศปาปัวนิวกินี อย่าลืมว่าเป็นส่วนหนึ่งของเครือจักรภพจากการล่าอาณานิคม แล้วตอนนี้มันสิ้นสุดยุคอาณานิคมไปแล้ว ไม่มีเหตุผลที่เขาจะต้องไปอยู่ภายใต้สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทำไมจะต้องยอมรับกษัตริย์คนนี้อีก ถึงเวลาแล้วที่ควรจะเป็นประเทศที่เป็นเอกราชโดยสมบูรณ์ ต่อให้ไม่มีอำนาจมาแทรกแซงอะไร เป็นแค่สัญลักษณ์ แต่เขาก็รู้สึกว่าไม่อยากได้สัญลักษณ์อันนี้ เขาอยากเป็นตัวของตัวเอง ยุคอาณานิคมมันสิ้นสุดไปเป็นร้อยปีแล้ว

คำ ผกา กล่าวต่อว่า สำหรับภาษาอังกฤษไม่มีคำราชาศัพท์ เวลาที่เราพูดถึงราชวงศ์ต่างประเทศ เราไม่จำเป็นต้องใช้ราชาศัพท์ เพราะในประเทศอื่นเขาใช้คำศัพท์กันปกติ ส่วนคำราชาศัพท์ที่ใช้กันแต่ในภาษาไทยและในวัฒนธรรมไทยก็ถูก ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าไปใช้กับราชวงศ์อื่นซึ่งเขาไม่ใช้ก็เป็นเรื่องแปลก ควรจะใช้แต่พองาม แต่ไม่ต้องถึงขั้นเต็มยศเหมือนของไทย ส่วนเรื่องการทวงคืนเพชรโคอินัวจากแอฟริกา อินเดีย ถือเป็นเรื่องปกติของประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมก็ออกมาเรียกร้องสมบัติเก่าของตัวเอง

อั๋น กล่าวเสริมอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีคำถามเกิดขึ้นในช่วงพระราชพพิธีพระบรมศพของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งมีคนไปชูป้ายประท้วงเรื่องนี้ข้างถนนระหว่างทาง ปรากฏว่าถูกตำรวจจับที่ประเทศอังกฤษ จึงมีประเด็นขึ้นมาว่าทำไม เสรีภาพของการพูดหายไปไหน พูดไม่ได้หรือ ผิดหรือ แต่การจับกุมคือแค่นำออกจากพื้นที่นั้นไป แล้วก็ปล่อยตัวออกมาทันที ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่เขามองว่าเป็นการให้เกียรติและรักษาความสงบ ณ จุดเกิดเหตุ ที่ควรจะต้องเป็นพิธีที่เดินหน้าไปอย่างสงบและสวยงาม ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจจะผิดกาลเทศะ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ