- อับดุลจาลิล อับดูราซูลอฟ
- ผู้สื่อข่าวบีบีซี เมืองอัลมาตี
อัลมาตี เมืองที่ใหญ่ที่สุดของคาซัคสถานดูเหมือนฉากในภาพยนตร์วันสิ้นโลกสักเรื่อง
ขณะขับรถในเมืองตอนเช้าวันศุกร์ (7 ม.ค.) ยังมีกลิ่นรถยนต์ที่ถูกจุดไฟเผาโชยมาอยู่เลย มีคนบนท้องถนนไม่กี่คน หลายคนเกรงกลัวที่จะออกมา
ตอนนี้ กองทัพและตำรวจคาซัคสถานไปปิดล้อมสถานที่สำคัญ ๆ ในเมืองซึ่งก่อนหน้านี้เป็นศูนย์กลางของการประท้วงต่อต้านรัฐบาลของคนทั่วประเทศ
เมื่อเราเดินเข้าไปใกล้ทหารที่จัตุรัสหลักของเมือง พวกเขาตะโกนไล่และยิงปืนขึ้นฟ้าเป็นการเตือนว่าอย่าเข้ามาใกล้
ผมเดินทางมาที่เมืองอัลมาตีมาหลายปี ปกติแล้วเป็นเมืองที่มีผู้คนพลุกพล่าน มีพื้นที่สีเขียวและสถานที่ให้คนออกมากินดื่มมากมาย
อย่างไรก็ดี ตอนนี้ร้านค้าและธนาคารถูกเข้าปล้นหรือไม่ก็ทำลายเสียหาย ต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะฟื้นฟูสภาพเมืองนี้กลับมาใหม่
จัตุรัสกลางเมืองซึ่งเป็นที่ที่ผู้ประท้วงเดินทางไปที่แรกได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ อาคารแถว ๆ นั้นถูกบุกทำลาย ขณะที่สำนักงานของนายกเทศมนตรีเมืองถูกจุดไฟเผา
แม้ว่าจะไม่มีสัญญาณของผู้ประท้วงในวันศุกร์ แต่เราก็ยังได้ยินเสียงปืนและระเบิดอยู่ ซึ่งอาจจะเป็น “stun grenades” หรือระเบิดที่มีเฉพาะแสงและเสียงเท่านั้น
ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่หลายคนที่ผมคุยด้วยทั้งตกใจและรู้สึกโกรธ ไม่เคยเกิดการประท้วงแบบนี้มาก่อนในคาซัคสถานและหลายคนก็แปลกใจว่าทำไมถึงเกิดขึ้นรวดเร็วขนาดนี้
- วิเคราะห์เหตุประท้วงและรู้จักคาซัคสถานกับ “ทูตนอกแถว” รัศม์ ชาลีจันทร์
- ปราบนองเลือดในคาซัคสถาน ตำรวจระบุ “กำจัด” ไปหลายสิบคน
แต่บางคนก็บอกว่าดีใจที่มีกองทัพจากรัสเซียและประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เดินทางมาถึง โดยหวังว่าประเทศจะได้กลับมาสงบอีกครั้ง
ผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่ารัฐบาลควรจะมีท่าทีแข็งกร้าวตั้งแต่แรก
“ถ้าพวกเขาใช้กำลังตั้งแต่ตอนแรก ความวุ่นวายก็จะไม่เกิดขึ้น” เธอกล่าว “บางทีพวกเขาอาจจะกังวลว่าจะถูกประณามว่าใช้อาวุธ แต่ตอนนี้ก็ได้เห็นแล้วว่าการรับมือแบบนั้นทำให้เกิดอะไรขึ้น”
แต่คนที่เห็นใจผู้ประท้วงก็มีเหมือนกัน ผู้ประท้วงหลายคนมาจากพื้นที่ห่างไกลในประเทศ พวกเขามีรายได้น้อยและก็ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก
“ผมเข้าใจสิ่งที่ผู้ประท้วงเรียกร้อง” ชายวัย 22 ปีกล่าว “เราเห็นกันอยู่ว่าเงินเดือนคนไม่ได้เพิ่มมากขึ้นและประชากรส่วนใหญ่กำลังประสบความยากลำบาก แต่มันกลายเป็นการปล้นสะดมและคนก็มีพฤติกรรมอย่างอันธพาล ตอนนี้คนทั่วไปกำลังเดือดร้อนแล้ว ต้องหยุดได้แล้ว”
ตอนนี้ชาวคาซัคสถานในอัลมาตีเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหาร ซูเปอร์มาเก็ตใหญ่ ๆ ปิดบริการหมด ร้านค้าส่วนใหญ่ที่ยังเปิดอยู่รับแค่เงินสด แต่ก็หาเครื่องเอทีเอ็มถอนเงินได้ยากมาก ในเมืองไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต การเรียกแท็กซี่ยังดูเป็นเรื่องเสี่ยงเลย
- รู้จัก ‘คาซัคสถาน’ ผ่าน 7 ภาพน่าสนใจ
- อัฟกานิสถาน : ตาลีบัน, ไอเอส และอัลไคดา ความเหมือนและต่างของ 3 กลุ่มติดอาวุธมุสลิม
- ชาวมุสลิมปรับตัวอย่างไรในเดือนรอมฎอนท่ามกลางการระบาดของโควิด-19
ด้วยความที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตและสัญญาณโทรศัพท์ก็ใช้การแทบไม่ได้ เป็นเรื่องยากมากที่โลกภายนอกจากทราบได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในเมืองกันแน่ มีข่าวลือหลายอย่างที่ยากที่จะยืนยันพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง
การประท้วงเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 2 ม.ค. จากราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น ต่อมาการประท้วงดังกล่าวได้ขยายวงกว้างออกไปเป็นเรื่องของความคับข้องใจทางการเมืองด้านอื่น ๆ อีก
หลังจากที่ นูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ ประธานาธิบดีคนแรกซึ่งบริหารประเทศตั้งแต่ได้รับเอกราชจนถึงปี 2019 ลาออกไป ประชาชนคาดหวังว่าประธานาธิบดีคาสซิม โจมาร์ท โตกาเยฟ จะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศได้
แต่แล้วความหวังนั้นก็พังทลายไป กรณีการเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงเป็นกรุงนูร์-ซุลตัน เพื่อเป็นเกียรติแก่อดีตประธานาธิบดี เป็นข้อพิสูจน์สำหรับหลายคนว่าชนชั้นปกครองเก่าก็ยังควบคุมความเป็นไปในประเทศอยู่
สำหรับตอนนี้ ดูเหมือนสถานการณ์จะสงบลงแล้ว และทางการสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้
แต่แม้ว่าการประท้วงรอบนี้จะจบลง ความไม่พออกพอใจในสภาพความเป็นอยู่จะคงมีต่อไป อาจจะมีเหตุการณ์อื่นที่ทำให้เกิดการประท้วงระลอกใหม่ก็ได้
ข้อมูลพื้นฐาน
ประเทศนี้อยู่นี่ไหน : คาซัคสถานมีพรมแดนตอนเหนือติดกับรัสเซีย และทางตะวันออกติดกับจีน มีพื้นที่ใหญ่เท่ากันยุโรปตะวันตก เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาประเทศในเอเชียกลางที่แตกตัวมาจากอดีตสหภาพโซเวียต
ประเทศนี้สำคัญอย่างไร : คาซัคสถานมีแร่ธาตุมากมาย มีน้ำมันดิบถึง 3% ของปริมาณน้ำมันสำรองของทั้งโลก อีกทั้งมีถ่านหินและแก๊สจำนวนมาก ชาติสาธารณรัฐมุสลิมแห่งนี้มีคนเชื้อสายรัสเซียเป็นชนกลุ่มน้อย และรอดพ้นความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดในประเทศอื่น ๆ ในเอเชียกลางมาได้สักพัก
……………
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว