คอนเสิร์ตในสเตเดียม : จริงหรือที่การจัดงานดนตรีกลางแจ้งดีกว่าการจัดในอาคารปิด?

Home » คอนเสิร์ตในสเตเดียม : จริงหรือที่การจัดงานดนตรีกลางแจ้งดีกว่าการจัดในอาคารปิด?
คอนเสิร์ตในสเตเดียม : จริงหรือที่การจัดงานดนตรีกลางแจ้งดีกว่าการจัดในอาคารปิด?

คานเย เวสต์ ศิลปินฮิปฮอปชาวอเมริกัน ประกาศปล่อยอัลบั้มใหม่ของเขา Donda สตูดิโออัลบัมชุดที่ 10 ครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2021 พร้อมกับจัด Listening Party ขึ้นที่ เมอร์เซเดส เบนซ์ สเตเดียม ในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย และจัดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 6 สิงหาคมที่เดิม โดยมีคนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานกว่า 40,000 คน

แม้ว่ายังไร้วี่แววของอัลบั้ม แต่ คานเย เวสต์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินที่เล่นใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง ได้มอบประสบการณ์ที่ยากที่จะลืมได้ให้กับแฟนเพลงที่เข้าร่วมในวันนั้น การจัด Donda Listening Party ทั้งสองครั้งที่ผ่านมา ได้รับผลตอบรับที่ดีจากแฟน ๆ อย่างล้นหลาม มีการโชว์โปรดักชั่นแสง สี เสียงแบบจัดเต็ม ด้วยพื้นที่สนามกีฬาที่สามารถจุคนได้หลักหมื่น บรรยากาศของงานจึงเต็มไปด้วยความยิ่งใหญ่ อลังการ ตามแบบฉบับของ คานเย เวสต์ 

คำถามคือ แล้วทำไมต้องเป็นสนามกีฬา ? อาจเป็นเพราะความใหญ่โตของพื้นที่สอดคล้องกับจำนวนแฟนเพลงที่ศิลปินมี ทำให้การจัดงานดนตรีในพื้นที่โล่งแจ้งนี้ได้ผลลัพธ์น่าพอใจ อีกทั้งยังได้ประสบการณ์ที่ต่างจากพื้นที่ปิดด้วย 

แต่ก็ไม่เสมอไป หากต้องคำนึงถึงเรื่องข้อบกพร่องทางเทคนิคที่อาจเกิดขึ้น คุณภาพเสียงที่อาจจะไม่ดีเท่าพื้นที่เล็ก สรุปแล้วว่าการจัดสเตเดียมคอนเสิร์ตนั้นเป็นการใช้งานสถานที่แบบผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ ? 

ความจริงแล้ว ภาพของการจัดงานคอนเสิร์ตหรืองานดนตรีในพื้นที่กว้างของสนามกีฬานั้นมีให้เห็นมาตั้งแต่อดีต สืบกลับไปได้ตั้งแต่ทศวรรษ 1960s แต่สนามกีฬามีส่วนช่วยทำให้การไปคอนเสิร์ตสนุกขึ้นจริงหรือไม่ ?​

Main Stand ขอชวนมานั่งดูคอนเสิร์ตในสนามกีฬาไปพร้อมๆกัน

เล่นใหญ่สะใจกว่า 

ก่อนที่จะเข้าเรื่อง เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สนามกีฬาที่ใช้จัดคอนเสิร์ตกันอย่างแพร่หลาย สามารถจำแนกได้ออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ “อารีนา” (Arena) และ “สเตเดียม” (Stadium) ซึ่งทั้งสองประเภทไม่มีความแตกต่างกันมากเท่าไรนัก จุดสังเกต คือ อารีนาอาจจะมีขนาดเล็กกว่าสเตเดียมเล็กน้อยและเป็นพื้นที่ปิด กีฬาที่นิยมเล่นในอารีนาได้แก่ บาสเกตบอล ส่วนสเตเดียมโดยทั่วไปจะเป็นสนามกีฬาประเภทที่ไม่มีหลังคา มักนิยมใช้สำหรับฟุตบอลหรืออเมริกันฟุตบอล โดยในที่นี้จะกล่าวถึงสเตเดียมเป็นหลัก 

จุดเริ่มต้นของการใช้พื้นที่การแข่งขันกีฬามาจัดแสดงคอนเสิร์ตนี้ เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ปี 1965 ตอนที่ The Beatles มาทัวร์คอนเสิร์ตที่สหรัฐอเมริกาประจำปี โดยใช้ เชีย สเตเดียม ในย่านควีนส์ มหานครนิวยอร์ก 

1ความคิดในการนำสี่เต่าทองมาเล่นดนตรีในสนามกีฬาขนาดใหญ่ เป็นของ ซิด เบิร์นสไตน์ โปรโมเตอร์ดนตรีชื่อดัง ที่อยากจะใช้สนามกีฬาของทีมเบสบอล นิวยอร์ก เม็ตส์ ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อ 1 ปีก่อนหน้า โดยใช้เงินลงทุนไปกว่า 28.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นสถานที่จัดงาน 

ด้วยความที่ เดอะ บีเทิลส์ ในตอนนั้นกำลังดังมาก ๆ กระแส “บีเทิลมาเนีย” (Beatlemania) กำลังแรงอย่างต่อเนื่อง เหตุผลเดียวที่ทำให้ซิดเลือกสนามกีฬาแห่งนี้ คือ เดอะ บีเทิลส์ นั้นดังมาก และเขาเชื่ออย่างสุดใจว่าถ้านำสี่เต่าทองมาเล่นในสนามกีฬาที่ใหญ่ขนาดนี้ยังไงก็ขายบัตรหมด 

ดูเหมือนว่าซิดจะคิดถูก เพราะมีแฟนเพลงเข้ามาชมการแสดงครั้งนี้กว่า 56,000 คน บัตรขายหมดเกลี้ยง คอนเสิร์ตของสี่เต่าทองในปี 1965 ที่ เชีย สเตเดียม ได้กลายมาเป็นหนึ่งในคอนเสิร์ตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุค และถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในคอนเสิร์ตที่ดีที่สุดของพวกเขาที่แสดงในสหรัฐอเมริกา

“นี่เป็นครั้งแรกเลยที่มีการใช้สนามกีฬาเป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ต” จอร์จ แฮร์ริสัน มือกีตาร์ของวงพูดถึงคอนเสิร์ตที่ เชีย สเตเดียม 

ขณะที่ พอล แม็กคาร์ตนีย์​ มือเบสของวงกล่าวถึงความรู้สึกของเขาในวันนั้นว่า “เมื่อตอนที่คุณรู้ตัวว่าคุณสามารถทำให้พื้นที่แห่งนั้นอัดแน่นไปด้วยผู้คนได้ มันเรียกได้ว่าเวทมนตร์แล้ว เป็นภาพของฝูงชนที่ยืนกันเหมือนกำแพง ครึ่งหนึ่งของความสนุกของพวกเราคือการได้เห็นคนที่เยอะขนาดนี้นี่แหละ” 

2จอห์น เลนนอน, พอล แม็กคาร์ตนีย์,​ จอร์จ แฮร์ริสัน และ ริงโก้ สตาร์ ได้กลายมาเป็นนักดนตรีที่นำเทรนด์ให้แก่นักดนตรีอีกหลายชีวิตสำหรับการจัดคอนเสิร์ตในสนามกีฬา คอนเสิร์ตที่ เชีย สเตเดียม ทำรายได้สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ กวาดรายได้ไปกว่า 304,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในยุคสมัยนั้น 

แม้ว่าการแสดงคอนเสิร์ตที่ เชีย สเตเดียม จะมีความยิ่งใหญ่ ได้บรรยากาศของความมโหฬาร แต่ในด้านเทคนิคนั้นเต็มไปด้วยปัญหา เพราะวงต้องเล่นหันหน้าเข้าหาอัฒจันทร์ เสียงกรี๊ดของแฟนเพลงดังกึกก้องขนาดที่ทำให้สี่เต่าทองเกือบไม่ได้ยินเสียงตัวเอง และเสียงของดนตรีก็แทบจะถูกกลืนไปกับเสียงแฟนเพลงอีกด้วย 

สถิติการเข้าชมคอนเสิร์ตในสเตเดียมของสี่เต่าทอง ถูกทำลายลงด้วยวงดนตรีฮาร์ดร็อกนาม Led Zeppelin ในปี 1973 ซึ่งประสบความสำเร็จมาก จนต้องมาจัดซ้ำอีกครั้งที่สนามเดิมในปี 1977 แต่คราวนี้ส่งผลกระทบเลยเถิดจนทำให้เกิดความรุนแรงและความเสียหายจำนวนมาก

สนามกีฬาสารพัดประโยชน์?​ 

ความสำเร็จจาก เดอะ บีเทิลส์ ทำให้ค่านิยมของการจัดงานดนตรีอย่างยิ่งใหญ่ในสนามกีฬาเริ่มต้นขึ้นหลังจากนั้น และเห็นชัดที่สุดในช่วงทศวรรษ 1970s ที่วงดนตรีร็อกนิยมที่จะจัดคอนเสิร์ตในสเตเดียมมากขึ้น 

Led Zeppelin วงดนตรีฮาร์ดร็อกจากประเทศอังกฤษ คือรายชื่อถัดมาที่ทำให้การเล่นดนตรีในสเตเดียมเป็นที่นิยม พวกเขาคือผู้ล้มสถิติของวงรุ่นพี่สี่เต่าทองได้ ตอนที่ไปแสดงคอนเสิร์ตที่ แทมป้า สเตเดียม ในเมืองแทมป้า รัฐฟลอริดา ด้วยจำนวนผู้ชม 56,800 คน เมื่อปี 1973 

3แทมป้า สเตเดียม เคยเป็นสนามกีฬาของทีมฟุตบอลประจำเมืองอย่าง แทมป้า เบย์ โรวดีส์ และทีมอเมริกันฟุตบอลประจำมหาวิทยาลัยแทมป้า ชื่อ แทมป้า สปาร์ตันส์ แต่ภายหลังได้มีการขยายเพิ่มเติมและถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นสนามกีฬาอเมริกันฟุตบอล เพราะ NFL ต้องการนำอเมริกันฟุตบอลเข้ามาสู่พื้นที่ในฟลอริด้ามากขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง จึงได้มีการขยายสนามเพิ่มเติม จากเดิมที่มีความจุอยู่ที่ประมาณ 46,000-57,000 คน กลายมาเป็นจุได้กว่า 72,000 คน และ แทมป้า เบย์ บัคคาเนียส์ ก็ได้กลายมาเป็นทีมอเมริกันฟุตบอลประจำสนามกีฬาแห่งนี้ในเวลาต่อมา 

ปี 1977 เลด เซพเพลิน ได้มาเยือนสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง ในฐานะวงฮาร์ดร็อคที่มาแรงที่สุดแห่งยุค พวกเขาเล่นคอนเสิร์ตใน แทมป้า สเตเดียม เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ท่ามกลางแฟนเพลงจำนวน 70,000 กว่าคนที่เข้ามาอัดกันแน่นสนาม ทว่าคอนเสิร์ตครั้งนี้ กลับถูกจดจำบนหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะคอนเสิร์ตที่มีความรุนแรง

เลด เซพเพลิน ปรากฏตัวขึ้น ตอน 18:15 น. แล้วความซวยก็บังเกิด เมื่อมีฝนตกลงมาชุดใหญ่ เพราะความที่เมืองแทมป้ามีอากาศร้อนชื้นและมีฝนตกชุกอยู่ตลอดเวลา ทำให้ได้รับผลกระทบจากลมทะเลและพายุที่เข้ามาตามชายฝั่งในรัฐฟลอริดาอยู่บ่อยครั้ง 

การเล่นคอนเสิร์ตในพื้นโล่งไม่มีหลังคา ทำให้มีปัญหาทางด้านเทคนิค และทางวงเองก็เริ่มกังวลต่อเรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับไฟฟ้า พวกเขาจึงต้องหยุดโดยไม่สามารถเล่นต่อได้ หลังจากที่ได้เริ่มเล่นไปได้แค่ 2 เพลงเท่านั้น ท่ามกลางความโมโห แฟนเพลงราว 4,000 กว่าคนจึงเริ่มใช้ความรุนแรง ประท้วงเรียกร้องให้วงออกมาเล่นต่อ จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้กำลังเพื่อตอบโต้ความรุนแรง ส่งผลให้มีคนบาดเจ็บหลักร้อย จบที่การแยกย้ายกลับบ้านของแฟนเพลง เพราะ ไร้วี่แววของ เลด เซพเพลิน ที่จะกลับขึ้นมาบนเวทีอีกครั้ง 

4เรื่องราวของ เลด เซพเพลิน ได้กลายมาเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะนี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนของการจัดงานดนตรีกลางแจ้งที่อาจมีทั้งข้อดีข้อเสียได้ในเวลาเดียวกัน ลองนึกภาพว่า หากวันนั้นคอนเสิร์ตดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ จนจบโดยที่ไม่มีปัญหาอะไรเลย คอนเสิร์ต เลด เซพเพลิน ที่เมืองแทมป้า ปี 1977 อาจจะเป็นหนึ่งในคอนเสิร์ตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลในหน้าประวัติศาสตร์วงการดนตรีก็เป็นได้ แต่ถ้าหากเกิดปัญหาด้านระบบไฟฟ้าขึ้นมา บทสุดท้าย อาจกลายเป็นโศกนาฏกรรม

อ่านมาถึงตรงนี้บางคนอาจจะคิดว่า ก็มันไม่ควรจะไปจัดในสนามกีฬาอยู่แล้ว เพราะมันผิดวิสัยสนามกีฬา ก็คงจะไม่ถูกต้องนักหากเราด่วนสรุปกันเช่นนั้น เพราะถึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นสเตเดียม แต่ความจริงแล้ว สนามกีฬาประเภทนี้ ถูกนิยามให้เป็น “สนามกีฬาอเนกประสงค์” (Multi-Purpose Stadium) ที่สามารถใช้งานได้หลากหลายประเภท เช่น สนามเวมบลีย์ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ รวมถึง เอทีแอนด์ที สเตเดียม หรือที่อาจจะคุ้นในอีกชื่อคือ คาวบอยส์ สเตเดียม ในเมืองอาร์ลินตัน รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ล้วนแล้วแต่ถูกนำไปใช้มากกว่าแค่การจัดแข่งขันกีฬา

สเตเดียม จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมต่อการจัดคอนเสิร์ต เพราะจุคนได้เยอะและเอื้อประโยชน์ต่อการขายบัตรคอนเสิร์ต อย่างไรก็ตาม ศิลปินหลายคนก็ต้องยอมแลกกับคุณภาพเสียงในพื้นที่โล่งที่อาจจะไม่ได้ฟังระรื่นหูเท่าไรนัก

Murky, muffled, echoey

จากผลสำรวจเรื่องคุณภาพเสียงที่ถูกอ้างถึงโดยเว็บไซต์ The Straits Times ที่ได้มีการรวบรวมความคิดเห็นจากการจัดคอนเสิร์ตหลายครั้งในสนามกีฬาแห่งชาติของประเทศสิงคโปร์ ที่แฟนเพลงส่วนมากมักจะมีปัญหากับเรื่องคุณภาพเสียง 

ตัวอย่างเช่น ฟีดแบ็กจากคอนเสิร์ตของ One Direction บอยแบนด์จากประเทศอังกฤษ ขณะที่ยังทัวร์คอนเสิร์ตด้วยกันในปี 2015 ที่แม้แฟนเพลงจะกล่าวว่าคุณภาพเสียงไม่ได้แย่เท่าไหร่นัก แต่เวลาที่แฟนเพลง 30,000 คนส่งเสียงกรี๊ด ก็อาจจะไปกลบเสียงร้องของสมาชิกวงในบางท่อนได้ 

5หรือที่แย่หน่อยก็คือคอนเสิร์ตของ เจย์ โชว์ ในปี 2014 ณ ที่เดียวกันนี้ ที่ฟังแทบไม่รู้เรื่อง คุณภาพเสียงคอนเสิร์ตในครั้งนั้น ถูกนิยามสั้น ๆ ว่า “ขุ่น อู้อี้ และสะท้อน” (Murky, muffled, echoey) หรือบางครั้งก็เงียบไปเลย ยิ่งโดยเฉพาะในเพลงที่เป็นอะคูสติก เสียงของ เจย์ โชว์ โดนกลืนไปอย่างสิ้นเชิง คุณภาพเสียงในสเตเดียมสำหรับโชว์นี้ แย่ขนาดที่แฟนเพลงต้องออกมาเรียกร้องขอเงินคืนในเวลาต่อมา 

เรื่องนี้ยังมองเป็นภาพกว้างออกมาได้อีกชั้นหนึ่ง เพราะการจัดคอนเสิร์ตในสเตเดียมมักจะต้องใช้เงินมากกว่าปกติ จนบางครั้ง โปรโมเตอร์ก็ไม่ได้สนใจที่จะมาให้ความสำคัญกับเสียงของดนตรีเท่ากับซาวด์เอ็นจิเนียร์ที่ดูแลระบบเสียง 

เงียม ควัง ฮวา (Ngiam Kwang Hwa) หนึ่งในโปรโมเตอร์ วัย 55 ปี ชาวสิงคโปร์ ที่ตระหนักถึงปัญหานี้กล่าวว่า  

“มันไม่ค่อยยุติธรรมเลยที่จะบอกว่าสนามกีฬาแห่งชาติเป็นที่ที่มีเสียงดัง จนถึงตอนนี้ น่าเศร้าที่โปรโมเตอร์คอนเสิร์ตหลาย ๆ คน ไม่ค่อยตั้งใจทำงานเท่าไรนัก เพราะราคาการจัดงานที่ค่อนข้างสูง พวกเขาเลยมีทุนไม่มากพอกับเรื่องคุณภาพเสียง” 

วิธีที่พอจะแก้ปัญหาได้ คือการติดลำโพงในแต่ละจุดเพิ่ม แต่ก็อีกครั้ง การลงทุนจำเป็นต้องใช้เงิน ค่าลำโพงที่ต้องซื้อมาเพิ่ม ไม่ได้รวมอยู่ในรายจ่ายของโปรโมเตอร์ที่จ้างศิลปินมาตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นแล้วจึงไม่แปลกหากโปรโมเตอร์หลายคนจะมองข้ามเรื่องนี้ไป

6ขณะที่ วิลเลียม ลี หนึ่งในช่างเทคนิคที่ดูแลเรื่องเสียงของสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ คำนวณค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ ไว้ว่า หากมีการอัปเกรดเรื่องคุณภาพเสียงขึ้นจริง ก็อาจมีมูลค่าสูงถึง 80,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 1.9 ล้านบาทไทย  

เรื่องของโครงสร้างอาคารเองก็มีผลกับคุณภาพเสียง โดย ชาร์ ทาเฮียร์ ซาวด์เอ็นจิเนียร์ วัย 57 ปี ลงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า 

“มันต้องมีเสียงสะท้อนและเสียงก้องเป็นธรรมดาอยู่แล้ว โครงสร้างที่เป็นลักษณะโดมทำให้คุณภาพเสียงแย่ไปกว่าเดิม เพราะมันถูกสร้างมาแบบถาวรแล้ว และพื้นที่หลังคาที่เปิดอยู่ก็มีน้อยมาก มันถูกสร้างจากโลหะ ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการเล่นเพลงแบบอะคูสติกเอาเสียเลย”

Size does matter

สนามกีฬาแห่งชาติของสิงคโปร์ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ สนามเวมบลีย์ และ สนามกีฬาแห่งชาติ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ที่สามารถจุคนได้เยอะกว่า แต่ก็ยังให้คุณภาพเสียงที่ดีได้เช่นกัน เพราะหลายครั้งในประวัติศาสตร์การแสดงสดของวงการดนตรีก็ถูกบันทึกไว้จากการแสดงในสนามกีฬา

7ไล่มาตั้งแต่วง Queen ที่ขึ้นโชว์ในคอนเสิร์ต Live Aid ในปี 1985 ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นโชว์ที่ดีที่สุดตลอดกาลครั้งหนึ่งของวงการเพลงร็อก คอนเสิร์ตของ พอล แม็กคาร์ตนีย์ ที่สนามมาราคาน่า ประเทศบราซิล ในปี 1990 หรือแม้กระทั่งเคป๊อปบอยแบนด์อย่าง BTS ก็ยังเลือกที่จะแสดงใน โรสโบล์ว ในเมืองพาซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2019 

และล่าสุดที่ยากจะมองข้ามอย่าง การแสดงพักครึ่งการแข่งขันซูเปอร์โบล์ว ครั้งที่ 55 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2021 โดยศิลปินอาร์แอนด์บีแห่งยุคอย่าง The Weeknd ที่ได้รับผลตอบรับดีมาก ๆ ทั้งในเรื่องของการแสดงและโปรดักชั่น จำนวนแดนเซอร์ นักดนตรีแบ็คอัป ฉากประกอบ ที่ถูกยกเข้ามาไว้ในโชว์เดียวกันรอบตัว เดอะ วีกเอนด์ ยิ่งทำให้งานดูเวอร์ขึ้นไปอีกขั้น และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความใหญ่ของสนาม มีผลโดยรวมต่อการสร้างความบันเทิงให้แก่คนหมู่มาก

เหมือนเป็นเรื่องบังเอิญ การแสดงของ เดอะ วีกเอนด์ ถูกจัดขึ้นใน เรย์มอนด์ เจมส์ สเตเดียม ซึ่งสร้างขึ้นมาแทนที่ แทมป้า สเตเดียม สนามกีฬาที่พลาดโอกาสแสดงความยิ่งใหญ่ไปตั้งแต่ครั้งที่ เลด เซพเพลิน ยกเลิกโชว์ เมื่อปี 1977 จนกระทั่ง 44 ปีผ่านไป เราก็ได้เห็นถึงความอลังการของสนามแห่งนี้สักที

8ปฏิเสธไม่ได้ว่าความท้าทายที่สุดของการจัดงานคอนเสิร์ตหรือดนตรีในสเตเดียม มักจะมีความท้าทายและเรื่องน่าปวดหัวเกี่ยวกับปัญหาทางเทคนิคเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ การจัดงานในสเตเดียมแต่ละครั้ง จึงเหมือนต้องอาศัยดวงไปด้วย ดีบ้าง แย่บ้าง สลับกันไป 

แต่ถ้าทุกอย่างราบรื่น เราในฐานะผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นคอดนตรีหรือกีฬา ก็อาจจะได้กำไรจากการดูคอนเสิร์ตในสนามกีฬาเช่นนี้อย่างมหาศาล 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ