คอนเฟิร์ม! "ก้าวไกล" ได้ประธานสภาฯ "เพื่อไทย" ได้รองประธานทั้ง 2 ตำแหน่ง

Home » คอนเฟิร์ม! "ก้าวไกล" ได้ประธานสภาฯ "เพื่อไทย" ได้รองประธานทั้ง 2 ตำแหน่ง

เพื่อไทย ยึดหลักการให้พรรคอันดับหนึ่งเป็นประธานสภา ส่วนรองควรเป็นพรรคอันดับ 2 ชี้ต้องคุยกันหลัง กกต.รับรอง ส.ส.

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงจุดยืนของพรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับกรณีการเลือกประธานสภาฯ ว่า เพื่อให้เรื่องดังกล่าวเดินหน้าไปด้วยดี พรรคเพื่อไทยจึงยึดหลักการ ว่า พรรคอันดับหนึ่งจะทำหน้าที่ที่ประธานสภาฯ

ส่วนตำแหน่งรองประธานสภาฯ สองตำแหน่งนั้น มองว่า เนื่องจากพรรคอันดับหนึ่งและอันดับสอง มีจำนวนใกล้เคียงกัน จึงเห็นว่ารองประธานทั้งสองควรเป็นของพรรคลำดับที่สอง ซึ่งรายละเอียดการประสานของเรื่องนี้ ควรเป็นการพูดคุยกันเฉพาะคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง คือ พรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ซึ่งเมื่อ กกต.รับรอง ส.ส.ครบ 95% แล้ว คงได้หยิบยกเรื่องนี้มาคุยกันเพื่อหาข้อสรุปในที่สุด

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการประชุมหัวหน้า 8 พรรคร่วมรัฐบาลว่า เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะประกาศรับรอง ส.ส. 95% ในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ ทางแกนนำทั้ง 8 พรรคจึงเห็นตรงกันว่าควรประชุมกันหลัง กกต.รับรอง ส.ส.แล้ว โดยเลื่อนการประชุมหัวหน้าพรรคไปเป็นวันที่ 22 มิ.ย.แทน ซึ่งวาระการพูดคุยคงจะต้องขยับการหารือเพื่อเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล

ในส่วนของตำแหน่งรัฐมนตรีและตำแหน่งประธานสภาฯ นั้น คงจะไม่ได้นำมาหารือกันในวงประชุมของหัวหน้าพรรค แต่ควรไปหารือกันผ่านคณะเจรจาระหว่างพรรค โดยพรรคก้าวไกลจะเป็นแกนหลักในการพูดคุยร่วมในแต่ละพรรคการเมืองเพื่อหาข้อตกลง ทั้งนี้เมื่อทราบผลการรับรอง ส.ส.จาก กกต.แล้ว ส่วนตัวมองว่าการหารือกันในสัปดาห์นี้ต้องเริ่มมีความชัดเจนทั้งในส่วนของตำแหน่งรัฐมนตรี โดยเฉพาะตำแหน่งประธานสภาฯ ด้วย เพราะเมื่อ กกต.ประกาศรับรอง ส.ส.ครบ 95% และ ส.ส.ทยอยรายงานตัวที่สภาแล้ว ทางพรรคร่วมก็ต้องมีแนวทางและทิศทางในการโหวตตำแหน่งประธานสภาหลังเปิดการประชุม

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ในส่วนของตำแหน่งประธานสภานั้น ทราบจากทีมเจรจาของพรรคเพื่อไทยว่าขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ หลังจากที่ได้คุยไว้กับพรรคก้าวไกลไปก่อนหน้านี้ ส่วนที่นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล ออกมาระบุว่าตำแหน่งประธานสภาฯควรเป็นของพรรคก้าวไกลเพื่อขับเคลื่อนงานในสภานั้น ความเห็นของบุคคลที่ไม่ใช่คณะเจรจา ก็ถือเป็นความประสงค์ของบุคคลนั้นๆ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเรื่องตำแหน่งประธานสภา จะไม่ใช่ชนวนขัดแย้งที่จะสร้างปัญหาหรือเป็นประเด็นในการทำร่วมกันระหว่างสองพรรค เพราะทุกอย่างต้องพูดคุยกันด้วยเหตุและผล

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ