ความเห็นแย้ง ที่ ทนายลุงพล ที่ใช้เตรียมใช้สู้ความ โฆษกศาล ลั่น “ไม่มีผล”

Home » ความเห็นแย้ง ที่ ทนายลุงพล ที่ใช้เตรียมใช้สู้ความ โฆษกศาล ลั่น “ไม่มีผล”

ความเห็นแย้งทนายลุงพล

ต้องทำการบ้านเพิ่ม ความเห็นแย้ง ที่ ทนายลุงพล ที่ใช้เตรียมใช้สู้ความ โฆษกศาลยุติธรรม ยืนยันด้วยตัวเองว่า “ไม่มีผล” แค่ความเห็นที่แตกต่าง

วันที่ 21 ธันวาคม 2566 นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึง กรณี คดีน้องชมพู่ ที่ ศาลจังหวัดมุกดาหาร มีคำพิพากษาสั่งจำคุก นายไชย์พล หรือ ลุงพล จำเลยที่ 1 ใน “คดีฆาตกรรมน้องชมพู่” 20 ปี ว่า สามารถยื่นอุทธรณ์ ได้ตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนที่ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 และผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ที่ตรวจสำนวนแล้วเห็นว่าควรยกฟ้อง หรือ เห็นแย้ง​ เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์มีข้อสงสัยนั้น คำเห็นแย้งก็จะอยู่ในสำนวนประจำคำพิพากษา เมื่อเวลาคดีขึ้นสู่ศาลชั้นอุทธรณ์ องค์คณะศาลอุทธรณ์ ก็จะเห็นทั้งตัวคำพิพากษาศาลชั้นต้น และความเห็นแย้ง ซึ่งองค์คณะศาลอุทธรณ์ ก็จะเอาข้อมูลทั้งหมดในสำนวนไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้น รวมทั้งความเห็นแย้งต่างๆ ข้อที่คู่ความอุทธรณ์ขึ้นมาประกอบในการพิจารณาทำคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ “แต่คำเห็นแย้งดังกล่าวคงไม่ได้เป็นจุดเปลี่ยนคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์โดยตรง เพราะตัวความเห็นหลักยังเป็นความเห็นขององค์คณะผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เพราะองค์คณะผู้พิพากษาเป็นคนสืบพยาน เป็นผู้ที่เห็นข้อเท็จจริงในตอนที่พยานมาเบิกความ เห็นข้อเท็จจริงพยานหลักฐานต่างๆ อย่างใกล้ชิด”

ความเห็นแย้งทนายลุงพล (1)

ซึ่งในส่วนน้ำหนักความเห็นแย้ง จะมีมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับมุมมองขององค์คณะผู้พิพากษาชั้นอุทธรณ์ หากยังเห็นคล้อยไปตามเสียงข้างมากขององค์คณะผู้พิพากษาก็เป็นดุลยพินิจของศาลในชั้นอุทธรณ์ ที่จะต้องวิเคราะห์วินิจฉัยจากข้อเท็จจริงจากคำเบิกความที่รับฟังมา ทั้งพยานเบิกความมา จากพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ต่างๆ มาประกอบกัน และเห็นว่าตัวข้อเท็จจริงพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ กับคำเบิกความมีสอดคล้องกันเพียงพอเชื่อมั่นได้ว่าจำเลยน่าจะเป็นคนที่กระทำความผิด ซึ่งในการบังคับบัญชาของผู้พิพากษาหรือตุลาการ ไม่เหมือนกับข้าราชการฝ่ายอื่น เพราะถึงแม้ว่าโดยสายของการบังคับบัญชาในองค์กร ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะฯ จะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้าศาล อธิบดีผู้พิพากษาฯ แต่การบังคับบัญชาไม่มีผลต่อการพิพากษาคดี เพราะหลักการพิพากษาคดีเป็นอิสระ ไม่ว่าจะเป็นอิสระจากการแทรกแซงภายนอกและภายใน ผู้พิพากษาสามารถใช้ดุลยพินิจในการพิพากษาออกไปได้ โดยที่ไม่ได้เน้นผลของการบังคับบัญชา แต่ในฐานะที่หัวหน้าและอธิบดีศาล เป็นผู้รับผิดชอบราชการในงานของศาลนั้น ก็มีส่วนในการดูแลความเรียบร้อยของศาลที่อยู่ในการดูแลอยู่แล้ว “ดังนั้น หากมีอะไรที่เห็นส่วนตัว อาจจะแตกต่างไปจากองค์คณะผู้พิพากษา ก็มีอำนาจตามกฎหมายตามรัฐธรรมนูญที่จะทำความเห็นไว้ในสำนวนได้”

  • ป้าแต๋นกอดให้กำลังใจลุงพล ยัน ไม่ได้อวยผัว หลุดปากลั่น ลุงพลดีกว่า…
  • เปิดแผน! ‘ลุงพล’ เตรียมข้อโต้แย้ง – พยานบุคคล ในการสู้ศาลชั้นอุทธรณ์
  • ดูชัดๆ เส้นผมน้องชมพู่ หลักฐานเด็ด ถูกตัดแบบไหน ทำไมเป็นประเด็น?

กระบวนการตรงนี้เป็นกระบวนการตามขั้นตอนของกฎหมายอยู่แล้ว ที่องค์คณะผู้พิพากษามีอิสระในการรับฟังพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงในการวินิจฉัยไปตามเหตุและผลจากพยานหลักฐาน ส่วนความเห็นแย้ง เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ที่กระทรวงยุติธรรมให้อำนาจหัวหน้าศาลและอธิบดีศาลภาคไว้ ส่วนการที่หัวหน้าศาลและอธิบดีศาลภาคมีความเห็นแย้งจะต้องไปนั่งบัลลังก์หรือไม่นั้น เป็นคนละกรณีกัน กรณีที่ไปนั่งในห้องพิจารณา ถือเป็นคณะส่วนหนึ่งในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ปกติแล้วคนที่จะพิจารณาพิพากษาคดีได้จะต้องเป็นองค์คณะที่พิจารณาคดีนั้นมาแต่ต้น หรือได้รับการแต่งตั้งเข้ามาแทนที่กรณีสุดวิสัย แต่อำนาจในการตรวจสำนวนและทำความเห็นแย้งเป็นอำนาจเพิ่มเติมที่รัฐธรรมนูญศาลยุติธรรมกำหนดมาให้หัวหน้าศาล อธิบดีผู้พิพากษา หรือประธานศาล แม้จะไม่ได้นั่งพิจารณาเอง แต่ในฐานะที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูศาล ก็สามารถตรวจสำนวนและทำความเห็นแย้งไว้ได้ หากเห็นว่าเป็นกรณีที่สมควรต้องทำความเห็นแย้งไว้

ความเห็นแย้งทนายลุงพล (2)

นายสรวิศ กล่าวอีกว่า ส่วนความเห็นแย้งของอธิบดีศาลและหัวหน้าศาลมีความสงสัยตามสมควรจึงเห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตรงนี้จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์หรือไม่นั้น คงไม่ได้เป็นประโยชน์โดยตรง เพราะความเห็นแย้ง ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นความเห็นแย้งเสียงข้างมากในคดีนั้น ดังนั้นผลของคำพิพากษา ตัวความเห็นแย้งตรงนี้ไม่ได้มีผลในการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาโดยตรง เพียงแต่เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาในชั้นสูงขึ้นไป และเรื่องการยกประโยชน์แห่งความสงสัยเป็นเงื่อนไขปกติในกฎหมาย ซึ่งในคดีอาญาหลายคดีก็ต้องพิจารณาอยู่แล้วว่า พยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำสืบมา มีเหตุทำให้วิญญูชนทั่วไปเกิดความสงสัยได้หรือไม่ว่า ตัวจำเลยหรือผู้ต้องหากระทำความผิดจริงหรือไม่ ซึ่งพยานหลักฐานเหล่านี้ที่ผู้ทำความเห็นแย้งดู เป็นพยานหลักฐานชุดเดียวกัน เพียงแต่บางจุดหรือข้อเท็จจริงบางส่วน อาจจะมีมุมมองที่เห็นต่างกันได้ แต่ในการวินิจฉัยมีหลักอยู่แล้วตามเงื่อนไขของกฎหมาย หากมีเหตุสงสัยสามารถยกประโยชน์ให้จำเลยได้ การเห็นแย้งของหัวหน้าศาลและอธิบดีศาล เคยเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ และก่อนหน้านี้ในศาลใหญ่ๆ ก็เคยมีเหตุการณ์คล้ายๆ กัน ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ เพราะเป็นเรื่องของการตรวจสำนวนตั้งข้อสังเกตไว้ชั้นสำนวนปกติ ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงที่ผิดปกติไป ที่ผ่านมาจะเห็นบางคดีที่มีการอุทธรณ์ หรือฎีกาขึ้นไป คำพิพากษาของศาลชั้นสูงก็อาจแตกต่างไป อาจจะกลับ หรือแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ เพราะแม้พยานหลักฐานชุดเดียวกัน แต่อาจจะมีความเห็นหรือมุมมองที่ต่างกันได้ ผู้พิพากษาแต่ละท่านก็จะใช้ประสบการณ์ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวมาดู แต่ละคนก็มีมุมมองที่แตกต่างกัน



แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ