ความลับของ มาร์แซล จาค็อบส์ : ราชา 100 ม. โอลิมปิกที่ไม่เคยคว้าเหรียญทองมาก่อน

Home » ความลับของ มาร์แซล จาค็อบส์ : ราชา 100 ม. โอลิมปิกที่ไม่เคยคว้าเหรียญทองมาก่อน
ความลับของ มาร์แซล จาค็อบส์ : ราชา 100 ม. โอลิมปิกที่ไม่เคยคว้าเหรียญทองมาก่อน

อิตาลี ไม่ได้เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความสำเร็จในวงการกรีฑาโดยเฉพาะประเภทลู่มากนัก จนกระทั่งโลกได้พบกับ มาร์แซล จาค็อบส์ ผู้ระเบิดฝีเท้าผงาดคว้าเหรียญทองในการแข่งขันวิ่ง 100 เมตรชาย ในโอลิมปิก 2020

เขาไม่เคยชนะและเป็นแชมเปี้ยนในรายการใหญ่มาก่อนเลย จนกระทั่งปฏิทินเข้าสู่ปี 2021 … ปีที่ทุกอย่างถูกแก้ไขโดยใช้เวลาหาต้นตอแค่ 6 เดือนเท่านั้น

เหรียญทอง 100 เมตรชาย คนแรกในประวัติศาสตร์ของวงการกรีฑาอิตาลี มีเบื้องหลังเช่นไร ? ติดตามได้ที่นี่

ไขรหัสวิ่ง 100 เมตร 

ทำไม มาร์แซล จาค็อบส์ จึงเป็นนักวิ่งที่ประสบความสำเร็จในรายการ 100 เมตรชายของโอลิมปิก ?  คำถามนี้เราคงต้องย้อนกลับไปดูผู้ชนะในรายการนี้กันหน่อย และคุณอาจจะเห็นมุมมองที่กว้างขึ้นยิ่งกว่าเรื่องของการแข่งขัน 

นับตั้งแต่พ้นยุคสงครามโลกครั้ง 2 เป็นต้นมา โอลิมปิกในการแข่งขันเมื่อปี 1948 ที่กรุงลอนดอน จนถึงโอลิมปิกปี 2016 ที่นครริโอ เดอ จาเนโร เป็นเจ้าภาพ คุณจะพบความจริงที่ว่า ผู้ชนะจากการแข่งขันทั้ง 18 สมัยนั้น เป็นคนผิวดำถึง 13 คน 

มีเพียง 5 คนเท่านั้นที่แตกต่าง ได้แก่ ลินดี้ เรมิกิโน่ จาก สหรัฐอเมริกา (1952), บ็อบบี้ มอร์โรว์ จาก สหรัฐอเมริกา (1956), อาร์มิน ฮารีย์ จาก เยอรมันตะวันออก (1960), วาเลรี บอร์ซอฟ จาก สหภาพโซเวียต (1972) และ อัลลัน เวลส์ จาก สหราชอาณาจักร (1980) 

จากลิสต์ดังกล่าวคุณจะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่ปี 1984 เป็นต้นมา นักกีฬาเชื้อสายแอฟริกันได้เหรียญทองรวดโดยไม่มีนักกีฬาผิวขาวมาคั่น

 

สิ่งที่น่าแปลกอีกอย่างคือ แม้ผู้คว้าเหรียญทองในการวิ่งระยะ 100 เมตร จะเป็นคนผิวดำ ทว่ากลับไม่มีนักกีฬาคนใดเลยที่มาจากชาติในทวีปแอฟริกาเลยแม้แต่คนเดียว ตามสถิติคือ นักวิ่งจากสหรัฐอเมริกา กวาดเหรียญทองไป 9 ครั้ง, จาเมกา 3 ครั้ง (ยูเซน โบลต์ เหมาเรียบ), แคนาดา, ตรินิแดด และ โตเบโก, โซเวียต, เยอรมัน กับ สหราชอาณาจักร อีกชาติละ 1 ครั้ง 

เอาล่ะ สิ่งที่คุณเห็นต่อจากนี้จะเป็นการสรุปว่า “วิ่ง 100 เมตร” เหมาะกับนักกีฬาแบบไหน ? …  จากสถิติทำให้เราได้คำตอบว่า ต้องเป็นนักกีฬาเชื้อสายแอฟริกันที่ไม่ได้มาจากประเทศในทวีปแอฟริกา มันเป็นแบบนั้นเพราะอะไร ? 

พล.ต.ต.ศุภวณัฎฐ์ อาริยะมงคล หัวหน้าผู้ฝึกสอนกรีฑาทีมชาติไทย เคยให้สัมภาษณ์กับทีมงาน Main Stand ไว้ว่า ในเรื่องของสรีระที่ทำให้นักกีฬาจากประเทศจาเมกา ประเทศที่เป็นเจ้าแห่งความเร็วระยะสั้นที่อยู่ในแถบแคริบเบียน กับนักวิ่งระยะไกลหรือมาราธอนจากประเทศแถบทวีปแอฟริกาอย่าง เคนยา หรือ เอธิโอเปีย นั้นมีความแตกต่างอยู่ที่มัดกล้าม 

นักวิ่งจาก จาเมกา มีมัดกล้ามเยอะ เหมาะกับการวิ่งระยะสั้น ขณะที่ เคนยา มีมัดกล้ามน้อยกว่า อาจจะวิ่งระยะใกล้ได้ไม่ดี แต่สามารถทำความเร็วในระยะยาวได้ดีกว่า โดยมีการเปรียบเทียบให้เห็นภาพด้วยการเอาเสือชีตาห์ กับ กวาง เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพได้ง่ายขึ้น

 

“สัตว์นักล่าอย่างเสือดาว เสือชีตาห์ พวกนี้กล้ามเนื้อจะใหญ่ แข็งแรง สามารถวิ่งได้เร็ว แต่ไม่สามารถวิ่งด้วยความเร็วนั้นเป็นระยะเวลานาน ๆ ได้ ต่างจากพวกสัตว์ผู้ถูกล่าอย่าง ละมั่ง กวาง พวกนี้วิ่งเร็วสู้สัตว์นักล่าไม่ได้ แต่สามารถวิ่งด้วยความเร็วนั้นได้นานกว่า” 

การยกจาเมกามาเป็นตัวอย่าง สามารถนำมาใช้เป็นคำตอบได้ดี เพราะประเทศแห่งนี้เดิมทีประชากรในประเทศไม่ได้มีผิวดำเหมือนกับชาติในแอฟริกา ทว่ากลุ่มคนแอฟริกันมาที่นี่พร้อมกับกองทัพอังกฤษและการค้าทาสในอดีต จนสุดท้ายคนผิวดำก็กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ 

ดังนั้นชาวจาเมกาจึงเปรียบเทียบกับคนผิวดำในอเมริกาหรือในยุโรปได้ เพราะเกิดจากการผสมสายเลือดกันระหว่างคนแอฟริกันกับคนท้องถิ่น พวกเขามีกล้ามเนื้อที่ดีมาจากการเป็นแอฟริกัน และการอยู่ในประเทศที่มีคุณภาพชีวิตดีกว่า ก็ช่วยให้พวกเขาสามารถได้รับการฝึกที่ดีมีคุณภาพ ได้รับอาหารที่เหมาะสมตามหลักโภชนาการ ซึ่งส่วนนี้สำคัญมาก 

สื่ออย่าง The Guardian เคยเขียนบทความเกี่ยวกับการฝึกฝนให้เป็นนักวิ่งระยะสั้นที่เร็วขึ้นได้ 7 ข้อ และเหตุผลส่วนใหญ่พวกเขาชี้ไปที่การสร้างกล้ามเนื้อทั้งนั้น เพราะการวิ่งระยะสั้นจำเป็นต้องใช้กล้ามเนื้อเยอะในการระเบิดพลังฝีเท้า (Explosive) ดังนั้นคุณจะเห็นได้เลยว่านักวิ่งระยะ 100 เมตรส่วนใหญ่ จะมีรูปร่างที่เห็นกล้ามเนื้อชัดเจน ไม่ได้ลีน (Lean) เหมือนกับนักกีฬาวิ่งระยะไกล

 

ถ้าคุณเข้าใจความจริงข้อนี้คุณก็จะเริ่มเห็นภาพแล้วว่า ทำไม มาร์แซล จาค็อบส์ จึงเป็นนักวิ่งอิตาลีคนแรกที่คว้าเหรียญทองในการแข่งขันวิ่งระยะ 100 เมตรชายได้ … เพราะเขานั้นมีสายเลือดของชาวแอฟริกันผสมอยู่ในตัวนั่นเอง และมันเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้เขาต่อยอดมาจนถึงทุกวันนี้ได้

ผู้มีเชื้อสายแอฟริกันในอิตาลี 

สำหรับประเทศอิตาลีนั้น ถือเป็นดินแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องการเหยียดผิวเป็นอันดับต้น ๆ ของทวีปยุโรป มีการวิเคราะห์กันว่าเกิดจากการที่ประเทศของพวกเขาเป็นประเทศที่อยู่ใกล้ทวีปแอฟริกามากที่สุดในยุโรป และนั่นทำให้เมื่อมีผู้อพยพจากแอฟริกา เดินทางด้วยเรือมายังยุโรป พวกเขาจะต้องมาขึ้นฝั่งที่อิตาลี ซึ่งคนท้องถิ่นไม่ชอบใจนัก เพราะพวกเขาไม่สามารถจะคว่ำเรือของผู้อพยพได้ด้วยเหตุผลเรื่องศีลธรรม และในขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่ได้อยากจะต้อนรับผู้อพยพมากมายนัก เพราะยิ่งมีเยอะเท่าไหร่ก็ยิ่งสร้างปัญหาเท่านั้น 


Photo : giornaledibrescia.it

 

ทว่าตัวของ มาร์แซล จาค็อบส์ นั้นไม่ได้อพยพมาทางเรือ ย้อนกลับไปในช่วงปลายยุค 80s กองกำลังทหารของสหรัฐอเมริกามาตั้งฐานทัพที่เมือง วิเซนซ่า ในประเทศ อิตาลี ซึ่งนั่นเองทำให้สาวพื้นเมืองที่ชื่อว่า วิเวียน่า ได้พบรักกับทหารอเมริกันที่มีเชื้อสายแอฟริกันคนหนึ่ง ทั้งสองตกลงแต่งงานอยู่กินกัน และย้ายไปกลับไปอยู่ที่ เอล ปาโซ รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อภารกิจในอิตาลีเสร็จสิ้น 

ชีวิตใหม่ในดินแดนอเมริกาเริ่มต้นได้ไม่นานนัก วิเวียน่า ก็ตั้งท้อง และมันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สามีของเธอ ถูกดึงตัวไปประจำการที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งจากจุดนั้นเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เธอต้องตัดสินใจกลับมาอยู่ที่อิตาลี พร้อมกับลูกชายวัย 1 เดือนที่มีชื่อว่า มาร์แซล จาค็อบส์ พระเอกของเรื่องนี้

การเป็นเด็กผิวดำใน อิตาลี นั้นยากลำบากพอสมควร มาร์แซล เล่าว่าในช่วงที่เขายังเรียนในระดับอนุบาลและประถม เขามักจะโดนถามเรื่องพ่อเป็นประจำ ทุกคนอยากจะรู้เรื่องชาติกำเนิดของเขา ซึ่งในวัยเด็ก มาร์แซล ไม่ได้รับรู้เรื่องนี้จากแม่มากนัก และพ่อก็ไม่มีตัวตนในความทรงจำของเขาตั้งแต่เกิดด้วย 

“พูดตรง ๆ ตอนเด็ก ๆ ผมไม่รู้จักพ่อ ไร้ความทรงจำโดยสิ้นเชิง … ตั้งแต่แม่พาผมย้ายออกมาจากที่ เอล ปาโซ ชีวิตผมก็มีแต่แม่เท่านั้น และพ่อกลายเป็นศัตรูในใจของผมเสมอมา ผมสร้างการดวลส่วนตัวกับพ่อในความคิดมาตั้งแต่จำความได้” 

“เขาทำให้ผมมีปัญหาเมื่อถึงวัยต้องไปโรงเรียน วิชาศิลปะคุณครูให้วาดรูปพ่อแม่และครอบครัว แต่ผมวาดพ่อไม่ได้ ผมจำไม่ได้ มันทรมานมากเพราะทุกคนจะเอาแต่ถามว่า แล้วใครกันล่ะที่เป็นพ่อแกน่ะ … ผมได้แต่ตอบเพื่อน ๆ ว่า พ่อของฉันไม่มีอยู่จริงบนโลกนี้” มาร์แซล กล่าว

 


Photo : businessguideafrica.com

มันจะไม่ลำบากได้อย่างไรในฐานะเด็กคนหนึ่ง … เพราะที่อิตาลี แม้แต่นักกีฬาดัง ๆ อย่าง มาริโอ บาโลเตลลี่ (นักฟุตบอล) ก็ยังโดนเหยียดผิวมาจนทุกวันนี้ ไม่เว้นกระทั่ง เซซิเล เคเยนเก รัฐมนตรีหญิงผิวดำคนแรกของประเทศที่มีเชื้อสายแอฟริกันจากการเป็นชาวคองโก ก็ยังโดนคนในประเทศโยนกล้วย สัญลักษณ์ของการเหยียดผิวใส่ ในวันที่ขึ้นครองตำแหน่งมาแล้ว 

แม้เปลี่ยนโลกไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนตัวเองได้เสมอ มาร์แซล เองก็เลือกที่จะเชื่อในสิ่งนั้น เขาโดนแม่สอนเรื่องการวางตัวและแนวคิดเรื่องความภาคภูมิใจกับการเป็นตัวของตัวเองมาโดยตลอด เขาเริ่มเล่นกีฬาและด้วยยีนจากแอฟริกันที่โดดเด่นเรื่องกล้ามเนื้อ เขาจึงกลายเป็นนักกีฬากรีฑาชั้นดี ตั้งแต่ยังอายุ 10 ขวบเท่านั้น 

มาร์แซล คือยอดนักวิ่งลมกรดในระดับประเทศ นอกจากนี้ยังมีความเชี่ยวชาญในการกระโดดไกลจนสามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันรายการชิงแชมป์เมดิเตอร์เรเนียน รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ที่ตูนิเซีย ในปี 2016 มาแล้ว … ยีนคนดำของเขาทำให้เขาสามารถใช้การระเบิดพลังกล้ามเนื้อได้ดีกว่านักกีฬาผิวขาวในประเทศอย่างชัดเจน 

ไม่ใช่แค่เขาที่เป็นคนผิวสีในอิตาลีที่ได้รับการยอมรับเมื่อหันหน้าเข้าสู่วงการกีฬา ในการแข่งขันกรีฑา เมดิเตอร์เรเนียน เกมส์ ปี 2018 ทีมนักวิ่งผลัดหญิง 4×400 เมตรของ อิตาลี ก็คว้าเหรียญทองได้ โดยทั้ง 4 คน เป็นคนผิวดำทั้งหมด ลิบาเนีย เกรโนต์, มาเรีย ชิโบลู, อโยมิเด โฟโลรุนโซ่ และ ราฟาเอล่า ลูกูโด้ คือรายชื่อของพวกเธอ มีเพียงเกรโนต์เท่านั้นที่เป็นคนคิวบา แล้วได้สัญชาติจากการแต่งงาน ที่เหลือนั้น คือลูกหลานชาวแอฟริกันทั้งสิ้น ซึ่งในวันนั้น ทวิตเตอร์ของ BBC ลงภาพผู้ชนะทั้ง 4 พร้อมกับข้อความว่า “นี่คือ อิตาลี ยุคใหม่” 

หากไม่นับเรื่องความสำเร็จในการแข่งขันแล้ว มาร์แซล แตกต่างกับสาว ๆ ทั้ง 4 จากทีมวิ่งผลัดอยู่อย่างหนึ่งนั่นคือ “เขายังคงขุ่นเคืองกับสายเลือดแอฟริกัน-อเมริกัน ที่ได้มาจากพ่อ” มันเป็นความรู้สึกที่ยังตกค้างอยู่ในใจและสร้างปมให้เขามาตั้งแต่วัยเด็ก  

พ่อของ มาร์แซล พยายามจะติดต่อหาเขาตลอด หลังจากหาช่องทางพูดคุยกันได้ แต่ มาร์แซล กลับปฏิเสธทุกครั้ง มันเป็นเรื่องรบกวนจิตใจของเขาอย่างมาก มันทำให้เขาเป็นคนที่ไม่สามารถควบคุมความคิดและมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน ๆ แม้เขาจะเป็นนักวิ่งที่เร็วที่สุดในประเทศแล้ว แต่การแข่งขันระดับนานาชาติ เขายังไม่เคยเข้าใกล้คำว่าแชมป์ หรือการคว้าเหรียญทองเลย นับตั้งแต่เริ่มวิ่งเมื่อ 10 ขวบ จนถึงปี 2019

ในเมื่อลองทำทุกอย่างแล้วทั้งการออกกำลังกาย การฝึกซ้อม และโภชนาการ แต่ก็ยังไปไม่ถึงดวงดาวสักที เขาจึงไม่เหลือทางเลือกมากนักและเลือกใช้ตัวเลือกสุดท้ายคือ “นักจิตวิทยา” เพื่อมาไขแม่กุญแจดอกนี้และปลดล็อกเขาให้เป็นคนใหม่ให้ได้

ละลายน้ำแข็ง สู่เหรียญทอง 

“ผมขอความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยาที่ชื่อว่า นิโคเลต้า โรมานาซซี่ ผมขอให้เธอช่วยหา ‘ผี’ ที่ซ่อนอยู่ในจิตใจของผมและเอามันออกไปเสียที มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะค้นพบมัน ผมต้องให้ความร่วมมือกับเธอเป็นอย่างมากเลย” มาร์แซล กล่าว 

“ผมสร้างกำแพงในใจมานานเกินไป เมื่อพ่อพยายามติดต่อมา ผมไม่ลบทิ้งหมด เธอเลยบอกว่านั่นแหละปัญหา ผมพยายามหนีความจริง เป็นความจริงที่แม้แต่ผมตัวผมเองก็ไม่อยากจะรู้ ผมต้องละลายน้ำแข็งนั้นและเปิดใจเพื่อเจอกับมันแบบตัวต่อตัว” 

“6 เดือนเต็ม ๆ ที่เธอค่อย ๆ สอนผมหลายเรื่อง และถึงวันหนึ่งเธอให้ผมเริ่มแช็ตคุยกับพ่อ ผมอาจจะเกิดในอเมริกา มีพ่อเป็นแอฟริกัน-อเมริกัน แต่ผมใช้ภาษาอังกฤษไม่เป็น เธอสอนให้ผมกล้าที่จะสนทนา แม้ว่าจะต้องนั่งแปลกันคำต่อคำ เมื่อได้เริ่มทำ ผมก็เริ่มรู้สึกว่าผมเองก็อยากมีพ่อ แต่ผมคงกลัวความจริงและวิตกกังวลมากเกินไป จึงเมินเฉยมาตลอด” 

“ผมรู้คำศัพท์ แต่ผมไม่รู้วิธีเรียงประโยค ผมกลัวว่าผมจะสื่อสารด้วยประโยคที่ผิดพลาดออกไป ผมจึงเฉยเมยและมองข้ามการทำความรู้จักกับอีกครึ่งหนึ่งของตัวเอง … ผมอึ้งนะ โดยเฉพาะวันที่ได้รู้ว่าพ่อของผมชื่อ มาร์แซล จาค็อบส์ ซีเนียร์” เขาเล่าถึงช่วงเวลาของการละลายน้ำแข็ง 

ยิ่งยอมรับความจริง มนุษย์เราก็ยิ่งสามารถก้าวข้ามสิ่งเดิม ๆ ได้มากขึ้น สำหรับ มาร์แซล จาค็อบส์ จูเนียร์ การได้เริ่มคุยกับพ่อคือการเปิดโลกอีกใบอย่างแท้จริง พ่อไม่ได้เกลียดเขา และพ่อก็ไม่ได้ทิ้งแม่ให้ลำบากเหมือนที่เขาเข้าใจ ยิ่งค้นลงไปในจิตใจ เขาก็ยิ่งรู้จักตัวเองและรู้จักกับพ่อมากขึ้น และปัญหาที่รบกวนตัวเขามาตลอดก็ค่อย ๆ ถูกแก้ไข 

“เหมือนมีใครสักคนมาไขกุญแจที่ฉุดผมให้อยู่กับที่ ผมเคลื่อนตัวไปข้างหน้าและทำลายกำแพงที่ขวางอยู่ ผมเข้าใจหลายอย่าง ประการแรก ผมรู้ว่าผมทำแบบนั้นไปทำไม”

“ผมเกลียดพ่อที่พ่อหายไปและปล่อยให้ผมกับแม่อยู่กันแบบนี้ แต่เมื่อมองอีกมุม ผมได้อะไรจากเขามาบ้าง ? … พ่อให้ชีวิต และกล้ามบ้า ๆ บอ ๆ ที่ทำให้ผมเร็วที่สุดในประเทศนี้ไง ผมยอมรับว่าผมตัดสินเขาโดยที่ผมไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเขา … เมื่อการพูดคุยทำให้เราเข้าใจกัน มันเหมือนกับผมเปลี่ยนเป็นคนใหม่ไปเลย”

“ก่อนหน้านี้ผมเอาแต่โทษอะไรไปเรื่อย พอผมแพ้ ผมโทษคนอื่น โทษดวง โทษอากาศ แต่พอจิตใจมันโล่ง มันก็ทำให้ผมมองเห็นอะไร ๆ ได้ชัดขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือผลลัพธ์ที่ดีจะมาหลังจากความพยายามและการทำงานหนักทั้งร่างกายและจิตใจเท่านั้น” 

การแก้ไขปัญหาสภาพจิตใจโดยนักจิตวิทยาเป็นระยะเวลา 6 เดือน ช่วยให้ มาร์แซล เร็วขึ้นกว่าที่เคย เขาเคยบอกว่า “ผมวิ่งเร็วขึ้นเพราะผมได้ค้นพบความสมดุลในครอบครัว” ต้นปี 2021 เขาคว้าเหรียญทองวิ่ง 60 เมตร ในการแข่งขันกรีฑาในร่มชิงแชมป์ยุโรป, ทุบสถิติวิ่ง 60 เมตร และ 100 เมตรของอิตาลี กับเหรียญเงิน 4×100 เมตร ในศึกวิ่งผลัดชิงแชมป์โลก

และหลังจากนั้นอีก 6 เดือนต่อมา อย่างที่โลกได้เห็นกัน เขาคว้าเหรียญทองในการแข่งขันวิ่ง 100 เมตร ในโอลิมปิก 2020 โดยเป็นนักกีฬาจากอิตาลีคนแรกที่ทำได้ พร้อมทำสถิติยุโรป และนั่นหมายถึงการคว้าเหรียญทองวิ่ง 100 เมตรเหรียญแรกในชีวิตของเขา ซึ่งเป็นเหรียญที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ   

การเปิดใจและยอมรับความเป็นจริงนั้นใช้ได้เสมอในการแก้ไขปัญหาทุก ๆ เรื่องบนโลกใบนี้ … เพราะการยอมรับความจริงคือการเปิดประตูสู่หนทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ส่วนการวิ่งหนีปัญหาและพยายามทำเป็นไม่เห็นมันนั้น ก็ส่งผลเสียกับทุกเรื่องเช่นกัน คุณอาจจะมองไม่เห็นมันด้วยสายตา แต่ปัญหาเหล่านั้นวิ่งตามหลังคุณเสมอ ถ้าคุณเหนื่อยและหยุดเมื่อไหร่ มันจะชนคุณเข้าอย่างจัง และทำให้คุณจุกจนลุกไม่ขึ้นแน่ 

สำหรับ มาร์แซล การยอมรับในตัวตนและการตัดสินใจของพ่อ ทำให้ความคิดแง่ลบที่มีในหัวหายไป เมื่อไม่มีอะไรมาเหนี่ยวรั้ง เขาก็เร็วจี๊ดจนไม่มีใครแซงหน้าได้  

เชื้อสายแอฟริกันส่งผลต่อกล้ามเนื้อ ความพยามยามในการซ้อมส่งผลให้เขาวิ่งเร็วขึ้น และการปลดพันธนาการในหัวใจก็ทำให้เขากลายเป็นแชมเปี้ยนในที่สุด  

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ