ครั้งแรกรอบ 20 ปี! ญี่ปุ่นเริ่มใช้ธนบัตรรุ่นใหม่ เพิ่มเทคโนโลยีโฮโลแกรมก่อนใครในโลก

Home » ครั้งแรกรอบ 20 ปี! ญี่ปุ่นเริ่มใช้ธนบัตรรุ่นใหม่ เพิ่มเทคโนโลยีโฮโลแกรมก่อนใครในโลก

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่ประเทศญี่ปุ่นเริ่มมีการใช้ธนบัตรรุ่นใหม่หมุนเวียนเข้าสู่ระบบ ถือเป็นการเปลี่ยนครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยมีการใช้เทคโนโลยีโฮโลแกรมเพื่อป้องกันการปลอมแปลง ขณะที่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการโอดต้องลงทุนเพิ่ม เพื่ออัปเกรดตู้กดอัตโนมัติให้รองรับธนบัตรรุ่นใหม่

ธนบัตรที่ออกแบบใหม่ 3 แบบ ได้แก่ ธนบัตรมูลค่า 10,000 เยน 5,000 เยน และ 1,000 เยน โดยธนบัตร 10,000 เยนรุ่นใหม่ จะมีภาพ 3 มิติของ เออิจิ ชิบุซาวะ หรือ “บิดาแห่งทุนนิยมญี่ปุ่น” ซึ่งมีส่วนช่วยก่อตั้งบริษัทต่างๆประมาณ 500 แห่ง ขณะที่ธนบัตร 5,000 เยน จะเป็นภาพของ อุเมโกะ สึดะ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยหญิงล้วน และเป็นผู้ผลักดันให้ผู้หญิงได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ส่วนธนบัตร 1,000 เยน จะเป็นภาพของ ชิบะซาบุโระ คิตะซาโตะ แพทย์และนักจุลชีววิทยาที่พัฒนาเซรุ่มต้านพิษบาดทะยัก

ธนบัตรชุดนี้ ใช้เทคโนโลยีโฮโลแกรม 3 มิติ ในการพิมพ์ภาพบนธนบัตร ทำให้เรามองเห็นภาพบุคคลแตกต่างกันไปในแต่ละมุมที่มอง ซึ่งโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งชาติของญี่ปุ่นระบุว่า นี่เป็นครั้งแรกของโลกที่มีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวพิมพ์เงินกระดาษ เพื่อป้องกันการปลอมแปลง

แม้ธนบัตรใหม่จะเข้าสู่ระบบ แต่ธนบัตรรุ่นเดิมก็ยังสามารถใช้ได้ตามปกติ ขณะที่ร้านอาหารยอดนิยม อาทิ ร้านราเมน, ร้านข้าวหน้าเนื้อ ที่มักใช้ตู้กดซื้ออัตโนมัติ เพื่อลดการจ้างพนักงานที่เป็นคน รวมถึงตู้กดอัตโนมัติตามสถานีรถไฟ และลานจอดรถ อยู่ระหว่างอัปเกรดตู้ของตนเอง เพื่อให้รองรับการรับชำระเงินสดด้วยธนบัตรรุ่นใหม่

ผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนไม่น้อย ไม่พอใจกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการต้องอัปเกรดอุปกรณ์รับธนบัตรรุ่นใหม่ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ และปัญหาเงินเฟ้อ

ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตและผู้ประกอบการเครื่องกดอัตโนมัติในญี่ปุ่น ชี้ว่า ตู้ ATM และตู้กดซื้อตั๋วรถไฟราว 90% ทั่วประเทศ พร้อมสำหรับการเปลี่ยนธนบัตรครั้งนี้ แต่มีร้านอาหารและตู้ออกบัตรลานจอดรถแค่เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่พร้อมสำหรับธนบัตรใหม่ ขณะที่ตู้กดซื้อเครื่องดื่มเกือบ 80% ทั่วประเทศ ก็ยังต้องรออัปเกรดใหม่เช่นกัน

แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็พยายามผลักดันให้ประชาชนและธุรกิจบริการต่างๆ ลดการใช้เงินสดไปด้วย เพื่อรับกับเศรษฐกิจยุคดิจิทัล

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ