ครั้งหนึ่งในโอลิมปิก : อะไรทำให้ “2 ชาติเกาหลี” กลับมารวมประเทศลงแข่ง ซิดนีย์ เกมส์ 2000

Home » ครั้งหนึ่งในโอลิมปิก : อะไรทำให้ “2 ชาติเกาหลี” กลับมารวมประเทศลงแข่ง ซิดนีย์ เกมส์ 2000
ครั้งหนึ่งในโอลิมปิก : อะไรทำให้ “2 ชาติเกาหลี” กลับมารวมประเทศลงแข่ง ซิดนีย์ เกมส์ 2000

นับตั้งแต่แยกดินแดนอย่างเด็ดขาดในปี 1948  เกาหลีเหนือ กับเกาหลีใต้ พี่น้องร่วมเชื้อชาติที่ยืนอยู่ตรงข้ามด้านอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ก็มีปัญหาระหองระแหงกันมาตลอด จนดูไม่เหมือนท่าทีว่ามาบรรจบกันมาได้

แต่เมื่อ 21 ปีก่อนใน โอลิมปิก เกมส์ 2000 เกาหลีเหนือ – เกาหลีใต้ ตัดสินใจรวมชาติเป็นเพียงหนึ่งเดียว เพื่อส่งนักกีฬาลงแข่งขันในนาม “เกาหลี” ถือเป็นช่วงเวลาที่สร้างความหวังให้คนทั้งสองประเทศเชื่อว่า พวกเขามีความหวังที่จะได้เห็นพี่น้องชาวเกาหลี กลับมารวมกันเป็นหนึ่งอีกครั้ง

ผลพวงจากสงครามเย็น

เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ แยกขาดกันอย่างเป็นทางการ ในปี 1948 อันเป็นผลพวงจากการแบ่งข้างของสหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 

แผ่นดินเกาหลีคือดินแดนที่มีอิสระในการปกครองตัวเองน้อยมาก เพราะหลายช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ พื้นที่บริเวณนี้ถูกหมุนเวียนปกครอง โดยคนต่างถิ่น ทั้งจีน และญี่ปุ่น จนกระทั่งช่วงศตวรรษที่ 20 ผืนดินเกาหลีถูกยึดครองโดยประเทศญี่ปุ่น ยาวนานถึง 35 ปี ตั้งแต่ปี 1910-1945

การปกครองเกาหลีของญี่ปุ่นสิ้นสุดลงหลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อชาติมหาอำนาจจากแดนตะวันออกประกาศยอมแพ้ในปี 1945 ทำให้สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต (รัสเซีย ในปัจจุบัน) เข้ายึดดินแดนเกาหลีทันที เพื่อหวังช่วงชิงแผ่นดินนี้ มาอยู่ในอานัติของตัวเอง

เนื่องจากยืนตรงข้ามด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง ทั้ง สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต จึงไม่มีใครยอมใคร กับการเสียดินแดนเกาหลีที่สามารถเป็นรัฐกันชน ป้องกันปัญหาจากฝ่ายตรงข้ามได้

 

เพราะโซเวียตมีจีนเป็นฐานทัพในเอเชียตะวันออกของฝั่งแนวคิดคอมมิวนิสต์ ขณะที่สหรัฐฯ มีญี่ปุ่นเป็นตัวยืนของฝ่ายโลกเสรีนิยม ดังนั้นดินแดนที่จะสร้างความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์การเมือง ในดินแดนเอเชียตะวันออก คือผืนดินเกาหลี ซึ่งอยู่ระหว่างประเทศจีน และญี่ปุ่น

ท้ายที่สุด สองชาติมหาอำนาจไม่สามารถตกลงกันได้ ผลลัพธ์จึงต้องแบ่งประเทศออกเป็นสองชาติ นั่นคือ เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ซึ่งมีความแตกต่างกันในแง่การปกครองประเทศอย่างสมบูรณ์ ฝั่งเหนือปกครองด้วยระบอบเศรษฐกิจคอมมิวนิสต์ ส่วนตอนใต้ใช้ระบบตลาดเสรี (อย่างไรก็ตามในช่วงแรกเริ่ม ทั้งสองประเทศใช้ระบบเผด็จการปกครองเหมือนกัน)

จากพี่น้องร่วมแผ่นดินเดียวกัน สองชาติก็กลายเป็นคู่ขัดแย้งที่บาดหมางกันมาตลอด ภายใต้การสนับสนุนของสองชาติประเทศมหาอำนาจ นำไปสู่การเกิดสงครามเกาหลีในช่วงปี 1950 ถึง 1953 และปัญหามากมายตลอดช่วงสงครามเย็นของทั้งสองประเทศ 

กระทั่งในช่วงปลายยุคสงครามเย็น ราว ๆ ปี 1985 เป็นต้นมา เกาหลีเหนือเจอปัญหาหนักเนื่องจากความอ่อนแอของสหภาพโซเวียต ชาติหัวหอกของระบอบคอมมิวนิสต์ ตัดงบสนับสนุนเกาหลีเหนือ เพื่อมุ่งโฟกัสต่อการจัดการปัญหาต่าง ๆ ในประเทศ

เมื่อขาดลูกพี่ใหญ่สนับสนุน เกาหลีเหนือ ก็อ่อนกำลังทันตาเห็น และต้องการที่พึ่งเข้ามาช่วยเหลือเศรษฐกิจที่กำลังเจอปัญหาของประเทศ พวกเขาเลือกชาติที่ดูเป็นไปไม่ได้ นั่นคือ เกาหลีใต้

 

ปี 1989 เกาหลีเหนือ ตัดสินใจเปิดความสัมพันธ์กับชาติคู่อริ และทั้งสองประเทศเลือกใช้กีฬาเข้ามาเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ ด้วยการตกลงปลงใจที่จะรวมทีมเป็น “เกาหลี” เพียงชาติเดียว ส่งนักกีฬาแข่งขันในเอเชียน เกมส์ ปี 1990 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน 

แต่สำหรับสองชาติที่ห่ำหั่นกันมาอย่างยาวนานร่วม 40 ปี จะให้มาจับมือกันภายในชั่วข้ามคืนครงเป็นไปไม่ได้ สุดท้ายโปรเจ็คต์รวมทีมกันลงแข่งขัน ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า ทั้งเกาหลีใต้ และเกาหลีเหนือ แยกย้ายกันล้วนส่งนักกีฬาของประเทศลงแข่งขันตามปกติ 

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองชาติได้ออกแบบธงชาติเกาหลีร่วมกัน โดยเป็นรูปพื้นที่เขตแดนของทั้งสองประเทศ ให้นักกีฬาของสองประเทศถือร่วมกันในพิธีเปิด และพิธีปิด เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดี ของเกาหลีเหนือ – เกาหลีใต้ 

หลังจากนั้น ในปี 1991 ความสำเร็จแรกระหว่างทั้งสองชาติได้เริ่มต้นขึ้น เนื่องจากทั้งสองชาติเกาหลี ตัดสินใจรวมทีมเป็นหนึ่งเดียว ส่งนักกีฬาลงแข่งขันในรายการปิงปองชิงแชมป์โลก ที่ประเทศญี่ปุ่น 


Photo : www.koreatimes.co.kr

 

ผลปรากฏว่า ทีมหญิงของเกาหลี ได้รับเหรียญทองจากการแข่งขันนี้ โดยมีนักกีฬาจากทั้งฝั่งเหนือ และใต้ อยู่ภายในทีมเดียวกัน

ทุกอย่างเหมือนจะไปได้สวย กระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติต้องจบลงอีกครั้ง จากปัญหาการผลิตอาวุธนวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างมาก ให้กับประเทศยักษ์ใหญ่แห่งโลกเสรี อย่าง สหรัฐอเมริกา

เมื่อลูกพี่ไม่พอใจ เกาหลีใต้จึงไม่มีทางเลือกนอกจากลดระดับความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือลงเหนือเพียงแค่ข้อตกลงว่า ทั้งสองประเทศจะไม่ทำการรุกรานกัน และสามารถทำการค้ากันได้ แต่จะไม่มีการจับมือความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้น เช่น การรวมทีมเล่นกีฬาอีกแล้ว

นโยบายแสงตะวันฉาย

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 1998 หลังการขึ้นเป็นประธานาธิบดีของ คิม แดจอง นักการเมืองที่มีความโดดเด่น และเก่งกาจทางการฑูต เขาวางแผนสานสัมพันธ์กับประเทศแบบไม่เลือกข้าง ทั้งสหรัฐอเมริกา และรัสเซีย เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

 

ด้วยความกล้าที่จะดีลกับทุกชนชาติ คิม แดจอง จึงพร้อมที่จะกลับมาสานสัมพันธ์ กับเกาหลีเหนืออีกครั้ง โดยตัวเขาผุดแคมเปญ Sunshine Policy หรือ นโยบายแสงตะวันฉาย ขึ้นมาเพื่อเป็นยุทธศาสตร์หลักต่อการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

แม้ว่านโยบายแสงตะวันฉาย จะใช้วิธีการทางการเมืองเป็นเครื่องมือหลัก ของการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ แต่ คิม แดจอง ไม่ได้มองข้ามการใช้กีฬาเข้ามาช่วยในด้านนี้ เพราะตัวเขาเป็นคนเห็นความสำคัญของเกมกีฬา และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อใช้การแข่งขันเป็นเครื่องมือสร้างชื่อให้ประเทศ

คิม แดจอง ได้มีโอกาสร่วมประชุมเป็นการส่วนตัว กับ คิม จองอิล ผู้นำเกาหลีใต้ในเวลานั้น ทั้งสองฝ่ายหารือถึงหลายวิธีการที่จะกระชับความสัมพันธ์ และหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุด คือการใช้กีฬาเข้ามาเป็นตัวช่วย

ช่วงปี 2000 ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนทั่วโลกให้การชื่นชม คิม แดจองในฐานะด่านหน้าที่ชะลอความตึงเครียด ระหว่างเกาหลีเหนือ กับเวทีโลกเอาไว้ได้

 

ดังนั้น หากจะมีวิธีไหนที่เกาหลีใต้ สามารถช่วยชะลอความตึงเครียดของเกาหลีเหนือได้ บรรดาชาติโลกเสรีก็พร้อมให้การสนับสนุน เมื่อมองจากสถานการณ์แล้ว โอลิมปิก เกมส์ 2000 ที่ซีดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย กลายเป็นการแข่งขันกีฬาที่เข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ทันที

เกาหลีที่รวมเป็นหนึ่ง

ก่อน ซิดนีย์ เกมส์ 2000 จะเริ่มต้นขึ้นเพียง 4 วัน การประกาศสุดช็อคได้เกิดขึ้น เมื่อคณะกรรมการโอลิมปิกได้ประกาศว่า เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ จะรวมทีมแข่งในนามของ “เกาหลี” เพื่อลุยมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก

เรื่องที่น่าแปลกใจคือ การรวมชาติครั้งนี้ไม่ได้ส่งสัญญาณใดมาก่อน ทั้งในรอบคัดเลือกนักกีฬาจากทั้งสองประเทศต่อสู้ในนามชาติตัวเองมาตลอด ไม่มีการสู้ในฐานะเกาหลีเพียงหนึ่งเดียวแต่อย่างใด

นั่นเป็นเพราะว่า การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเพียง 3 เดือน ก่อนซีดนีย์ เกมส์ จะเริ่มต้นขึ้น โดยมีข่าวลือว่าการเจรจาในครั้งนี้ ไม่ได้มีแค่เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ที่ร่วมกันตัดสินใจ แต่มีแรงสนับสนุนจาก สหรัฐอเมริกา เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย


Photo : www.smh.com.au

สาเหตุที่มีการคาดเดาว่า เหล่าชาติมหาอำนาจ อาจมีส่วนทำให้ สองชาติเกาหลีส่งทีมเดียว เพราะไอเดียตั้งต้นของการรวมประเทศเกาหลี มาจากคนนอก อย่าง ฆวน อันโตนิโอ ซามาราน ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ ชาวสเปน ที่แนะนำให้ทั้งสองประเทศ รวมตัวส่งทีมนักกีฬาเพียงหนึ่งเดียว เพื่อผลประโยชน์ของทุกฝ่าย ก่อนที่เกาหลีเหนือและใต้ จะมาบรรลุข้อตกลงก่อนการแข่งขันเริ่มเพียงไม่กี่วัน 

ผลประโยชน์ทางการเมืองที่ได้ หากสามารถรวม เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ เข้าด้วยกันผ่านเกมกีฬา จะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของทั้งสองชาติ อย่าง เกาหลีเหนือตอนนั้นพวกเขากำลังมีปัญหาอย่างหนักกับชาติตะวันตกในเวลานั้น ทั้งเรื่องความเป็นเผด็จการ, ปิดประเทศ, ไม่เคารพหลักสากล รวมถึงปัญหาการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ กำลังปรับตัวอย่างช้า ๆ เข้ากับโลกภายนอก ภายใต้การชักนำของเกาหลีใต้ ที่เปิดใจต้อนรับอดีตคู่ปรับ

เป้าหมายทางการเมืองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สำหรับนักกีฬาทั้งสองประเทศ พวกเขาดีใจอย่างมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะสำหรับประชาชนปกติ คนเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ไม่เคยเป็นศตรูกัน หากแต่เป็นพี่น้องร่วมเชื้อชาติที่พลัดพราก ถูกความเป็นชาติมาแบ่งแยกพวกเขาออกจากกัน

วันพิธีเปิดของโอลิมปิก เกมส์ 2000 คือหนึ่งวันที่น่าภูมิใจมากที่สุดของทั้งชาวเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ นักกีฬาทั้งสองชาติเดินสู่พิธีด้วยยูนิฟอร์ม และธงชาติเดียวกัน ไม่มีการมาแบ่งแยกกันอีกต่อไป

ช่วงเวลา 15 กันยายน ถึง 1 ตุลาคม 2000 ตลอด 17 วันนั้น อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของประวัติศาสตร์ชนชาติเกาหลี เพราะนักกีฬาเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ทำกิจกรรมทุกอย่างร่วมกัน พวกเขากินข้าวด้วยกัน, เดินทางด้วยกัน ใส่เครื่องแบบเดียวกันในการลงแข่งขัน 

“ตอนนั้นฉันคิดว่าการรวมประเทศอาจเกิดขึ้นได้จริง ความสุขเปี่ยมล้นเต็มหัวใจฉัน เพราะไม่เคยคิดว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นได้จริง” ชเว มยองฮวา นักกีฬาชาวเกาหลีเหนือ กล่าวกับสื่อในช่วงที่เธออยู่ระหว่างการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ 

ผลงานของ “ทีมชาติเกาหลี” ใน ซีดนีย์ เกมส์ จบลงด้วย 8 เหรียญทอง 11 เหรียญเงิน และ 13 เหรียญทองแดง โดยทุกเหรียญชนะเลิศมาจากนักกีฬาเกาหลีใต้ ขณะที่ 10 เหรียญเงิน และ 10 เหรียญทองแดง ก็มาจากนักกีฬาเกาหลีใต้เช่นกัน ส่วนตัวแทนเกาหลีเหนือ ทำได้เพียง 1 เหรียญเงิน และ 3 เหรียญทองแดง เท่านั้น

แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับความรู้สึกของคนเกาหลีสองประเทศ ที่ได้รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้ง นับตั้งแต่ปี 1948 ชวนให้พวกเขาหวนคิดว่า สิ่งที่ทำให้พี่น้องเชื้อสายเดียวกัน มีความแตกต่างกัน เป็นเพียงเพราะหัวโขนของความเป็นชาติที่ถูกสวมใส่เอาไว้

“ฉันคิดมาตลอดว่า พวกเราคือแตกต่างอยู่คนละประเทศกัน แต่หลังจากพวกเราได้อยู่ร่วมกัน เราจึงได้รู้ความจริงว่า เกาหลีเหนือ และใต้ คือชาติเดียวกันมาตลอด” 

“เวลานักกีฬาสักคนคว้าเหรียญทองมาได้ พวกเราดีใจไปด้วยกัน เหมือนเป็นพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน” ชเว อินชอล นักกีฬายูโดชาวเกาหลีใต้ จากการแข่งขันซิดนีย์ เกมส์ กล่าว


Photo : www.abc.net.au

น่าเสียดายที่หลังจากนั้นการรวมประเทศระหว่างทั้งสองชาติไม่เคยเกิดขึ้นอีก ภายหลังจาก จอร์ช ดับเบิลยู บุช คนลูก ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2001 เขาก็ใช้มาตรการอันแข็งกร้าวควบคุมจัดการเกาหลีเหนือ ให้มาอยู่ใต้การควบคุมของโลกเสรี

ความดุดันของสหรัฐฯ นำมาซึ่งความบาดหมางกับเกาหลีใต้ ที่ยังต้องการผลักดันนโยบายแสงตะวันฉาย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติต่อไป

หากแต่น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ สุดท้าย เกาหลีใต้ ต้องโอนอ่อนตามแนวทางของสหรัฐฯ และสองชาติในคราบสมุทรเกาหลี ก็ต้องกลับมายืนฝั่งตรงข้ามกันอีกครั้ง

เพียงแค่ปีเดียว การรวมชาติเกาหลีเป็นหนึ่งเดียว เมื่อครั้งโอลิมปิก เกมส์ 2000 ก็แทบกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายไปโดยปริยาย 

เหลือไว้เพียงความทรงจำที่สวยงามว่าครั้งหนึ่ง พี่น้องสายเลือดเกาหลีเคยรวมกันเป็นหนึ่งอย่างเท่าเทียม ไม่มีความเป็นชาติมาสร้างความขัดแย้ง แบ่งให้พวกเขาแตกต่างกัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ