ครม. ไฟเขียว ลดจัดซื้อวัคซีนแอสตร้า ขยายเวลาทดสอบ จุฬาคอฟ19 ถึงธ.ค.นี้

Home » ครม. ไฟเขียว ลดจัดซื้อวัคซีนแอสตร้า ขยายเวลาทดสอบ จุฬาคอฟ19 ถึงธ.ค.นี้



ครม.อนุมัติ ลดจัดซื้อวัคซีนแอสตร้า เพิ่มจัดซื้อภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ชี้ประหยัดเงินได้กว่า 123 ล้านบาท ไฟเขียวขยายเวลาทดสอบ ChulaCov19 ถึงธ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค เปลี่ยนแปลงรายละเอียดสาระสำคัญของการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ในปี 2565 ป้องกันโควิด-19 สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย จากเดิม 60 ล้านโดส วงเงิน 18,762.5160 ล้านบาท เป็นจัดซื้อวัคซีน 35.4 ล้านโดส วงเงิน 11,069.8845 ล้านบาท

และเพิ่มการจัดซื้อภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือแอนติบอดี้ออกฤทธิ์ยาว (Long-acting antibody : LAAB) จำนวน 257,500 โดส วงเงิน 7,569.2228 ล้านบาท ทำให้วงเงินโดยรวมของโครงการปรับลดไป 123.41 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิม 18,762 ล้านบาท เหลือ 18,639 ล้านบาท พร้อมขยายเวลาสิ้นสุดโครงการจากเดือนก.ย. เป็นเดือนธ.ค. 65 โดยให้กรมควบคุมโรค บริหารการจัดการและการกระจาย วัคซีนโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เพียงพอสำหรับประชาชนในประเทศ และไม่เหลือทิ้ง

นายธนกร กล่าวว่า การปรับแผนจัดซื้อวัคซีน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยปี 2565 ความต้องการวัคซีนโควิด-19 ลดลง และสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง และมีวัคซีนที่ได้รับบริจาคจากต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้วัคซีนสำรองในประเทศเพียงพอ ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 65 บริษัท ได้ส่งมอบวัคซีนแล้ว 13.2 ล้านโดส และจะมีแผนรับมอบ 11.2 ล้านโดส ภายในปี 65 ส่วนที่เหลืออีก 11 ล้านโดส คาดว่าจะได้รับมอบภายในไตรมาสที่ 2 ปี 66

ส่วนการปรับเพิ่มการจัดซื้อภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป 257,500 โดส เพื่อนำมาใช้กับกลุ่มเสี่ยงสูง ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ 3 กลุ่มโรค ได้แก่ ผู้ป่วยล้างไต ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะและผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันตนเอง ที่จะช่วยป้องกันการป่วยได้ถึงร้อยละ 83

ครม.ยังอนุมัติให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 (ChulaCov19 mRNA) เพื่อทำการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1-3 และการผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนรับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) พร้อมขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ เป็นเดือนธ.ค. 65

โดยมอบให้จุฬาฯ พัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ให้สำเร็จตามเป้าหมาย เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 และยังช่วยยกระดับห่วงโซ่การผลิตวัคซีนภายในประเทศและลดความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคอุบัติใหม่ของประเทศ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ