ครม.เห็นชอบ ร่างแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2566-2570) เพื่อให้การกีฬาเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคม และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศ
3 ม.ค. 65 – น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มกราคม ว่า
ที่ประชุมเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติเสนอ อนุมัติร่างแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2566-2570) ที่สอดคล้องกับแผนต่างๆ อาทิ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570)
ซึ่งแผนดังกล่าวมีฐานะเป็นแผนระดับที่ 3 เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทาแผนปฏิบัติการประจำปี เพื่อให้การกีฬาเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคมและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อให้ไทยมีทิศทางการพัฒนาการกีฬาอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดสาระสำคัญของแผนสรุปได้ ดังนี้ 1. วิสัยทัศน์ “กีฬาพัฒนาคน สังคม และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจไทย” และพันธกิจ คือ การกีฬาเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคม และเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
2. เป้าประสงค์และตัวชี้วัดหลัก คือ ประชาชนทุกกลุ่ม (เด็ก เยาวชน และประชาชน) มีการออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2570 นักกีฬาผู้แทนของไทยประสบความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ โดยอยู่ในอับดับ 6 ในระดับเอเชีย ในรายการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ กีฬาพาราลิมปิกเกมส์ กีฬาเอเชียนเกมส์ และกีฬาเอเชียนพาราเกมส์
ภายในปี 2570 บุคลากรด้านการกีฬาทั่วประเทศได้รับการรับรองมาตรฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี และ อุตสาหกรรมการกีฬามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า สำหรับการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬานั้น แผนการดำเนินการจะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ โดย 1. มีจำนวนและมูลค่ารายได้ของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการกีฬามีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี
2. มูลค่าการส่งออกทางการกีฬาโดยรวมมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี 3. มูลค่าทางเศรษฐกิจในการจัดการแข่งขันกีฬาในประเทศเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี
4. มีมาตรการด้านการเงินและ/หรือภาษีเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา 5. พัฒนาเมืองกีฬาให้สำเร็จและยั่งยืนอย่างน้อยปีละ 1 แห่ง 6. มีการจัดทำข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศด้านการกีฬา (Gross Domestic Sport Product: GDSP) และการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (Social Return On Investment: SROI) ที่เกี่ยวข้องภายในปี 2566
และ 7.การลงทุนจากภาครัฐและ/หรือภาคเอกชนในการค้นคว้าและวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรมการกีฬามีอัตราการเติบโตไม่น้อยกว่าอัตราการเจริญเติบโตของมูลค่าการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา(R&D) ในภาพรวมของประเทศในแต่ละปี
“ในที่ประชุมมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้พิจารณาให้ความสำคัญกับการฝึกสมรรถภาพทางกายให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัยเพื่อสร้างความแข็งแรง และสมบูรณ์ทางร่างกาย และการเตรียมความพร้อมก่อนการฝึกทักษะกีฬาขั้นพื้นฐาน และการฝึกเพื่อพัฒนาสมรรถภาพ และขีดความสามารถให้ได้ระดับสูงสุดต่อไป และสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการพัฒนาการกีฬาและการจัดหมวดหมู่ประเภทกีฬาที่ไทยมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยม” น.ส.ทิพานัน กล่าว