เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติให้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 7,803.718 ล้านบาท และให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆในการกู้เงิน
โดยกระทรวงคมนาคมรายงานว่า ขสมก.ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากผลประกอบการที่ขาดทุนและไม่ได้รับเงินชดเชยผลการขาดทุนตามจำนวนที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการที่ ขสมก.เก็บค่าโดยสารตามอัตราที่ภาครัฐกำหนดซึ่งต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง และไม่สามารถปรับอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตามสภาวการณ์ปัจจุบันได้
ไตรศุลี กล่าวว่า นอกจากนี้แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.ฉบับปรับปรุงใหม่ อยู่ระหว่างการทบทวนตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและยังไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. จึงทำให้ในปีงบประมาณ 2565 ขสมก.มีภาระที่ต้องชำระหนี้เงินกู้เดิมที่ครบกำหนดชำระ โดย ณ วันที่ 31 ม.ค. 2564 ขสมก.มีหนี้สินค้างชำระรวมทั้งสิ้น 127,797.432 ล้านบาท
โดย ขสมก.ได้ทำประมาณการเงินสดรับ-จ่ายในปีงบประมาณ 2565 คาดว่าจะมีเงินสดคงเหลือปลายงวดขาดมือจำนวน 32,926.490 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
ไตรศุลี กล่าวว่า ดังนั้น ขสมก.จึงมีความจำเป็นต้องกู้เงินจำนวน 32,926.490 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งจะนำไปชำระหนี้คืนเงินกู้เดิมที่ครบกำหนดชำระและไถ่ถอนพันธบัตรเงินกู้จำนวน 25,122.772 ล้านบาท ซึ่งขสมก.ได้เสนอสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อบรรจุเข้าแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2565 แล้ว
จึงคงเหลือเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินและเป็นเงินสดหมุนเวียนในการดำเนินงานของ ขสมก.ในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 7,803.718 ล้านบาท ตามที่ เสนอให้ครม.อนุมัติ แยกเป็น ชำระค่าเชื้อเพลิง 2,867.033 ล้านบาท, ชำระค่าเหมาซ่อม 1,667.085 ล้านบาท และเสริมสภาพคล่องทางการเงิน 3,269.600 ล้านบาท ซึ่งการกู้เงินของขสมก.ครั้งนี้จะทำให้ประหยัดค่าดอกเบี้ยค้างชำระได้ปีละ 232 ล้านบาท