ครบ 1 ปีรัฐประหารเมียนมา-ครอบครัวของผู้ถูกคุมขังยังคงไม่รู้ชะตากรรมบุคคลอันเป็นที่รัก
ครบ 1 ปีรัฐประหารเมียนมา-รอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ว่า ครอบครัวของผู้ถูกคุมขังในเหตุการณ์ต่อต้านการรัฐประหารเมียนมายังคงไม่ทราบชะตากรรมของบุคคลอันเป็นที่รักว่า เป็นตายร้ายดีอย่างไร หลังผ่านไปเกือบ 1 ปี เหตุการณ์ที่กองทัพยึดอำนาจนางออง ซาน ซู จี ผู้นำเมียนมา เมื่อ 1 ก.พ. 2564

พลเอกมิน อ่องไหล่ หัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมา
ในคืนหนึ่งเมื่อเม.ย.ปีที่แล้ว นายวิน หล่าย อายุ 66 ปี ได้รับแจ้งจากเพื่อนบ้านว่า ลูกชาย คือ นายไว ซอ หล่าย ซึ่งกำลังมีลูกเล็กและเป็นเจ้าของร้านขายโทรศัพท์มือถือในนครย่างกุ้งถูกทหารเมียนมาจับกุม เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการประท้วง

นายไว ซอ หล่าย อายุ 31 ปี (รอยเตอร์)
พ่อและสมาคมให้การช่วยเหลือนักโทษการเมืองหรือเอเอพีพี ไปตามข่าวลูกชายวัย 31 ปีที่สถานีตำรวจ แต่ไม่เจอร่องรอย ลูกหายตัวไป นายวิน หล่ายระบุว่า ตนเพียงแค่อยากรู้ว่าลูกชายยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ตนได้บอกลูกสาวของนายไว ซอ หล่าย ว่า พ่อไปทำงานที่อื่น ไกลออกไป
นายวิน หล่าย กล่าวว่า หลานสาวพูดพึมพำกับตนว่า “พ่อของหนูหายไปนานเกินไปแล้ว”
นายไว ซอ หล่ายเป็นหนึ่งในหลายคนที่นักเคลื่อนไหวและครอบครัวระบุว่า หายตัวไปตั้งแต่เมียนมาตกอยู่ในสถานการณ์ความไม่สงบ
สมาคมให้การช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองประมาณว่า มีประชาชนถูกกักขังในคุกและศูนย์สอบสวนกว่า 8,000 คน รวมถึงนางซู จี และบุคคลในคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ ขณะที่อีกกว่า 1,500 รายถูกสังหารและว่าหลายร้อยคนเสียชีวิตหลังจากถูกกักขัง
ด้านรัฐบาลทหาร ซึ่งไม่เปิดเผยตัวเลขประชาชนที่ถูกคุมขังระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวของสมาคมฯเกินจริงไปมากและกล่าวหาทางสมาคมฯว่า เผยแพร่ข้อมูลเท็จ
กองทัพไม่แจ้งญาติ เมื่อมีคนถูกจับกุมและแม้ว่าญาติมาถามข่าวถึงคุก เจ้าหน้าที่เรือนจำก็มักไม่แจ้งญาติอีก ดังนั้นหลายครอบครัวเพียรตามหาญาติอย่างยากลำบาก ไม่ว่าโดยการเรียกร้องและเดินทางไปถึงสถานีตำรวจรวมถึงคุกหลายแห่งหรือพึ่งพาสื่อท้องถิ่น ตลอดจนกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน
องค์การฮิวแมนไรต์ วอตช์ องค์การด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศระบุถึงวิธีตามหาญาติที่หายตัวไปว่า บางครั้งครอบครัวส่งพัสดุอาหารและหากมีคนรับพัสดุ ก็จะถือว่าเป็นสัญญาณว่า ญาติถูกขังอยู่จริง
ในหลายกรณีคนหาย นายโบ จี ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมฯระบุว่า ทางสมาคมฯสามารถที่จะชี้ชัดว่าบุคคลใดถูกขังอยู่ แต่ไม่ล่วงรู้ถึงสถานที่คุมขัง ด้านนายแต ออง แบ็ก หัวหน้าคณะทำงานด้านการบังคับบุคคลให้สูญหายของสหประชาชาติหรือยูเอ็นระบุว่า ทางคณะทำงานฯได้รับรายงานจากหลายครอบครัวในเมียนมาถึงการอุ้มหายนับตั้งแต่เมื่อเดือนก.พ.ปีที่แล้ว
นายออง เนย์ เมียว นักเคลื่อนไหวอายุ 43 ปี ซึ่งหนีจากภูมิภาคสะกายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมา ระบุว่า กองกำลังของรัฐบาลทหารนำตัวพ่อแม่และพี่น้องของตนออกไปจากบ้านเมื่อกลางเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาและตนเองไม่รู้ว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน แต่เชื่อว่าครอบครัวถูกกักขังรวมถึงพ่อวัย 74 ปี ซึ่งพิการจากโรคเส้นโลหิตในสมองอุดตัน เพราะงานที่ตนเองทำเป็นนักเขียนแนวเสียดสี

อ่อง เนย์ เมียว ผู้จัดการประท้วงและนักเขียนแนวเสียดสีกำลังดูรุปถ่ายพ่อบนโทรศัพท์มือถือ (รอยเตอร์)
“ผมไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากห่วงกังวลอยู่ทุกช่วงขณะ” นายอ่อง เนย์ เมียวกล่าว
ยูเอ็นระบุว่า ในบางพื้นที่ ประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลทหารลุกขึ้นสู้กับกองทัพ ทำให้ประชาชนอีกหลายหมื่นคนไร้ที่อยู่ทั่วประเทศ ในจำนวนนี้หลายพันคนหนีข้ามพรมแดนไปยังไทยและอินเดีย
ในรัฐกะยา ทางตะวันออกเฉียงเหนือ สมรภูมิระหว่างฝ่ายต่อต้านและกองทัพดุเดือด นายบันยาร์ คุน หน่อง ผอ.กลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง องค์กรไม่แสวงหากำไร กล่าวว่า มีประชาชนสูญหายอย่างน้อย 50 คน ทางกลุ่มกำลังพยายามที่จะช่วยค้นหา โดยถามจากนักโทษที่ถูกปล่อยตัวเมื่อเร็วๆนี้
“ครอบครัวของประชาชนที่สูญหายตกอยู่ในความทุกข์ทรมาน โดยเฉพาะทางจิตใจ เพราะทำให้หมดกำลังเรี่ยวแรงจากการไม่รู้ว่าบุคคลอันเป็นที่รักอยู่แห่งหนไหน”นายบันยาร์ คุน หน่อง กล่าว
นายมินต์ ออง อายุช่วงวัย 50 ปีตอนกลางและอาศัยอยู่ในค่ายผู้ไร้ที่อยู่ในรัฐกะยา กล่าวว่า นายปัสกาลาล ลูกชายวัย 17 ปี หายตัวไปเมื่อเดือนก.ย. 2564 ลูกชายบอกตนว่า จะกลับบ้านในเมืองลอยแก้ว เมืองเอกของรัฐกะยาเพื่อตรวจสอบสถานการณ์ แต่ลูกกลับถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงกักขัง
ตนรู้ข่าวนี้มาจากชาวบ้านในหมู่บ้าน เมื่อตนไปเยี่ยมลูกที่สถานีตำรวจเพื่อส่งข้าวส่งน้ำ ตนพบว่าทหารหลายนายเฝ้าสถานีตำรวจอยู่ และตนวิ่งหนีออกมา นับแต่นั้น ตนไม่ได้ข่าวคราวจากลูกชายอีกเลย แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ทราบข่าวจากวงสนทนากับคนหลายคนได้บอกแก่นายมินต์ อองว่า ลูกชายไม่ได้อยู่ที่สถานีตำรวจอีกแล้ว
ลูกชายของนายมินต์ ออง เป็นหนึ่งในวัยรุ่นชาย 2 คน ปรากฏในภาพถ่ายขณะถูกจับกุม ซึ่งคุกเข่าอยู่ข้างถนนและชู 3 นิ้วประท้วง ภาพดังกล่าวกลายเป็นไวรัล ซึ่งถูกโพสต์โดยบัญชีของทหารยศสูงรายหนึ่ง พร้อมคำบรรยายว่า ขณะที่เราปล่อยให้พวกเขาทำในสิ่งที่ต้องการก่อนที่เราจะยิงกระสุนทะลุศีรษะพวกเขา ซึ่งต่อมาบัญชีดังกล่าวถูกลบ
……..
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สั่งจำคุก20ปีมือขวาซูจี ข้อหากบฏ ศาลพิเศษทหารพม่าตัดสินไว
รัฐประหารเมียนมา : หมอและพยาบาลผู้ต่อต้านกองทัพเมียนมา