วันที่ 21 ก.พ.บีบีซีและเอเอฟพีรายงานว่า นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียประกาศในโอกาสกล่าวถ้อยแถลงระดับชาติประจำปีว่า รัสเซียกำลังระงับการเข้าร่วมในสนธิสัญญาลดอาวุธโจมตีทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ หรือ New START ถือเป็นข้อตกลงควบคุมอาวุธฉบับสุดท้ายระหว่างสองชาติมหาอำนาจทางนิวเคลียร์รัสเซียและสหรัฐอเมริกาที่เหลืออยู่ นับเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นหลังจากที่นายโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกาเยือนยูเครนเป็นครั้งแรก
นายปูตินกล่าวว่า ไม่ใช่การถอนตัวออกจากสนธิสัญญา แต่คือการระงับการเข้าร่วมชั่วคราว และว่าไม่ควรมีใครอยู่ภายใต้ภาพมายาที่ว่า ความเท่าเทียมเชิงยุทธศาสตร์สามารถถูกละเมิดได้ การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่รัสเซียระบุเมื่อเดือนส.ค.ปีที่แล้วว่า รัสเซียกำลังยกเลิกการตรวจพื้นที่ทางทหารของรัสเซียโดยสหรัฐอเมริกา ภายใต้ New START นับเป็นการตอบโต้ต่อกรณีที่สหรัฐขัดขวางการตรวจเยี่ยมจากรัสเซีย
นายปูตินยังกล่าวหาว่า สหรัฐกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ประเภทใหม่ และเตือนว่าหากสหรัฐทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าว รัสเซียก็จะทำเหมือนกัน นายปูตินได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหมและบริษัทโรซาตอม ซึ่งประกอบกิจการด้านพลังงานนิวเคลียร์ของรัฐเตรียมความพร้อมเพื่อทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ และว่า รัสเซียจะไม่ทำเป็นรายแรกแน่นอน
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากล่าวระหว่างทริปการเยือนยูเครนโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าเมื่อ 20 ก.พ.ตามเวลาท้องถิ่นว่า สหรัฐจะสนับสนุนยูเครนในการต่อสู้รัสเซียนานตราบเท่าที่การต่อสู้ยังดำเนินอยู่ และว่า มีความมั่นใจว่ายูเครนจะยังคงชนะต่อไป
การเยือนยูเครนครั้งแรกดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนกำหนดครบ 1 ปีรัสเซียรุกรานยูเครน เมื่อ 24 ก.พ.2565
นายไบเดนยังระบุว่า นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียผิดพลาดโดยสิ้นเชิงที่คิดว่ารัสเซียอาจอยู่ทนกว่ายูเครนและชาติพันธมิตรตะวันตก
นายไบเดนพบหารือกับนายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ประธานาธิบดียูเครน ทั้งคู่เยือนอนุสรณ์สถานของทหารที่เสียชีวิตในช่วง 9 ปีนับตั้งแต่รัสเซียผนวกไครเมียและกองกำลังตัวแทนของรัสเซียยึดบางส่วนของภูมิภาคดอนบัส ทางตะวันออกของประเทศยูเครน เจ้าหน้าที่สหรัฐระบุว่า นายไบเดนเดินทางโดยลับ 10 ชั่วโมงจากประเทศโปแลนด์ไปยังกรุงเคียฟ ต่อมากลับไปยังโปแลนด์
ส่วนรัสเซียได้รับแจ้งเกี่ยวกับการเยือนกรุงเคียฟของนายไบเดนไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่นายไบเดนจะออกจากกรุงเคียฟเพื่อจุดประสงค์ในการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ต่อมา นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐประกาศความช่วยเหลือด้านความมั่นคงระลอกใหม่มูลค่าราว 15,000 ล้านบาทรวมถึงกระสุนปืนใหญ่และระบบขีปนาวุธไฮมาร์ส ขีปนาวุธจาเวลินที่ต่อต้านรถถังและเรดาร์ลาดตระเวนทางอากาศ
สนธิสัญญา “New START” ลงนามโดยนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐในขณะนั้นในปี 2553 เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติอบอุ่นขึ้น ซึ่งจำกัดทั้งรัสเซียและสหรัฐในการประจำการหัวรบนิวเคลียร์ ไม่เกินชาติละ 1,550 หัวรบ ซึ่งลดลงร้อยละ 30 จากการจำกัดครั้งก่อนเมื่อปี 2545 โดยข้อตกลงดังกล่าวได้รับการให้สัตยาบันในปี 2554 และหลังจากที่นายไบเดนขึ้นบริหารประเทศไม่นานได้ขยายสนธิสัญญาไปอีก 5 ปีจนกระทั่งปีค.ศ.2026 เพื่อให้เวลาที่จะเจรจา ขณะเดียวกันถนอมรักษาสิ่งที่รัฐบาลเดโมแครตมองว่าเป็นสนธิสัญญาสำคัญที่ดำรงอยู่
ก่อนหน้านี้ นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซียระบุทางสถานีโทรทัศน์ว่า รัสเซียจับตาการเยือนยูเครนและโปแลนด์ของนายไบเดนอย่างใกล้ชิดว่าจะเกิดขึ้นในโปแลนด์ แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะมีแนวโน้มว่า ยังคงเป็นอาการกลัวรัสเซียและการโน้มน้าวกันและกันเกี่ยวกับการส่งอาวุธใหม่
นายฉินกัง รมว.การต่างประเทศจีนกล่าวในการประชุมด้านความมั่นคงในกรุงปักกิ่งว่า กังวลใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งในยูเครนซึ่งกำลังรุนแรงและแม้กระทั่งไม่สามารถควบคุมได้ อีกทั้งกระตุ้นให้ชาติที่เกี่ยวข้องหยุดใส่เชื้อไฟโดยเร็วที่สุด และหยุดการหันมากล่าวโทษจีน ซึ่งก่อนหน้านี้สหรัฐกล่าวหาจีนว่า กำลังพิจารณาส่งอาวุธให้รัสเซีย แต่จีนปฏิเสธ ทั้งนี้ จีนให้คำมั่นที่จะเผยแพร่ข้อเสนอที่มุ่งหาหนทางแก้ไขทางการเมืองเพื่อยุติสงครามก่อนครบรอบ 1 ปีสงครามในยูเครน
ด้านนายหวัง อี้ ผู้อำนวยการกลางสำนักกิจการต่างประเทศ กล่าวในที่ประชุมด้านความมั่นคงที่นครมิวนิก เยอรมนีในทริปเยือนชาติยุโรปเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ว่า จีนต่อต้านการโจมตีโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ คัดค้านการใช้อาวุธเคมีชีวภาพและนายหวังมีกำหนดเยือนรัสเซีย ซึ่งรัฐบาลรัสเซียระบุว่า นายหวังอาจมีกำหนดพบปะกับนายปูตินที่กรุงมอสโก
*********