ครบรอบ 19 ปี คลื่นยักษ์ "สึนามิ" ความสูญเสียที่ลืมไม่ลง

Home » ครบรอบ 19 ปี คลื่นยักษ์ "สึนามิ" ความสูญเสียที่ลืมไม่ลง

26 ธันวาคม 2566 ถือเป็นวันครบรอบ 19 ปี เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่ซัดถล่มและสร้างความเสียหายให้กับ 14 ประเทศโดยรอบชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 280,000 คน ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติทางธรรมศาสตร์ที่ร้ายแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก Sanook พาทุกคนย้อนเหตุภัยพิบัติร้ายที่ไม่มีใครคาดคิด และทิ้งไว้เพียงความสูญเสียที่ไม่มีใครลืมลง

ย้อนรอยคลื่นยักษ์ “สึนามิ” 

ช่วงเวลาประมาณ 07.58 น. ของวันที่ 26 ธันวาคม 2547 หรือช่วงเช้าหลังเทศกาลคริสต์มาส ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกำลังนอนหลับพักผ่อน หลังออกไปฉลองกันอย่างสนุกสนาน ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ขนาด 9.0 ริกเตอร์ โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดภูเก็ตประมาณ 580 กิโลเมตร 

แผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดขึ้นใต้น้ำ และก่อให้เกิดคลื่นน้ำขนาดใหญ่หรือ “สินามิ” (Tsunami) เข้าถล่มชายฝั่งของหลายประเทศในมหาสมุทรอินเดีย รวมถึง 6 จังหวัดในฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบหลังจากเกิดแผ่นดินไหวเช่นกัน คือ ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และสตูล โดยหลังเกิดแผ่นดิวไหวประมาณ 2 ชั่วโมง น้ำทะเลจากบริเวณชายหาดได้ถอยลดลงไปกว่า 100 เมตร จากนั้นเริ่มมีคลื่นสูงกระทบเข้าฝั่ง และตามมาด้วยคลื่นสูงมากกว่า 10 เมตร ที่พัดถล่มชายฝั่งนานกว่า 20 นาที

TsunamiGetty Images

สึนามิในครั้งนี้ ทำให้ผระเทศไทยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,400 คน บาดเจ็บกว่า 8,000 คน และสูญหายอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ บ้านเรือนของประชาชน รวมถึงโรงแรมและรีสอร์ท ตลอดจนสาธารณูปโภคต่างๆ ก็ได้รับความเสียหาย ซึ่งรวมมูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาท

เหตุการณ์สึนามิถล่มชายฝั่งอันดามันของไทยในครั้งนี้ ยังสูญเสีย “คุณพุ่ม เจนเซ่น” พระโอรสในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ณ บ้านเขาหลัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา สิริอายุ 21 ปี

“สึนามิ” เกิดได้อย่างไร

คลื่นสึนามิมักเกิดจากการเคลื่อนตัวของพื้นทะเลในแนวดิ่งตรงรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ทำให้เกิดแนวของรอยเลื่อนที่มีพลัง จนทำให้เกิดแผ่นดินไหวใต้น้ำ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่าบริเวณ “วงแหวานแห่งไฟ” (Ring of Fire) รอบบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นบริเวณที่มีโอกาสเกิดสึนามิมากที่สุด อย่างไรก็ตาม สามารถแบ่งสาเหตุของการเกิดคลื่นสึนามิได้ 4 รูปแบบหลักๆ ได้แก่

  • การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก 
  • การระเบิดอย่างรุนแรงของภูเขาไฟใต้ทะเล
  • ดินถล่มบริเวณพื้นท้องทะเล
  • การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ทะเล 

Tsunami 2Getty Images

แม้สาเหตุของการเกิดสึนามิจะมีหลายอย่าง แต่สึนามิส่วนใหญ่จะเกิดจากแผ่นดินไหวในทะเลหรือใกล้ทะเล และต้องมีขนาดมากกว่า 6.5 ริกเตอร์ ในพื้นทะเลที่ความลึกไม่เกิน 100 กิโลเมจร โดยเกิดการเลื่อนตำแหน่งในแนวตั้งหรือแนวเฉียงอย่างฉับพลัน

ระบบเตือนภัยสึนามิ

เหตุการณ์สึนามิในปี 2547 ถือเป็นบทเรียนสำคัญของประเทศไทย และนำไปสู่การจัดตั้งระบบและวิธีรับมือกับภัยพิบัติทางทะเลรูปแบบนี้ โดยหลังเกิดเหตุการณ์ในปีเดียวกัน รัฐบาลได้ติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ จำนวน 2 ตัว เช่นเดียวกับสร้างหอเตือนภัยสึนามิขนาดใหญ่ทั้งหมด 130 แห่ง ใน 6 จังหวัด ที่หากเกิดสึนามิ หอเตือนภัยจะดังขึ้นหลังกดสัญญาณเตือนภัย โดยสื่อสารได้ 5 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ เยอรมัน ญี่ปุ่น และจีน 

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว Nation ได้รายงานว่า วันที่ 27 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา หอเตือนภัยจำนวน 25 แห่ง ได้ส่งสัญญาณเตือนภัยโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งทำให้ประชาชนตื่นตระหนก โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงเกิดสึนามิ อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ไม่พบความผิดปกติของอุปกรณ์แต่อย่างใด 

Tsunami 3Getty Images

แม้ภัยพิบัติทางธรรมชาติจะไม่มีใครรู้ล่วงหน้าหรือสามารถสั่งห้ามได้ แต่การเตรียมพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติก็จะช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งการเตรียมพร้อมก็ต้องทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้กับประชาชน เพื่อให้รู้จักและเข้าใจ สามารถหาทางหนีทีไล่ได้อย่างถูกต้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ