เรียกได้ว่าเป็นการดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กทม. ครบรอบ 1 ปีแล้วสำหรับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และแน่นอนว่าปัญหาก้อนใหญ่ที่เกิดขึ้นก่อนที่ ชัชชาติ จะขึ้นรับตำแหน่ง นั้นคือ หนี้ BTS รถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ทางรัฐบาลได้ติดค้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวอยู่ เป็นจำนวนเงิน 37,000 ล้านบาท โดยหนี้สินครั้งนี้ เกิดจากการว่าจ้างให้ BTS จัดการเดินรถไฟฟ้าของรถไฟฟ้าสายสีเขียวในส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- หนี้ค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้ามูลค่าราว 20,000 ล้านบาท
- หนี้จากการว่าจ้างเดินรถอีกราว 17,000 ล้านบาท
ล่าสุดวานนี้ 13 มิ.ย. 66 นายชัชชาติ ได้หารือกับผู้บริหาร BTS ถึงแนวทางการแก้ปัญหาการชำระหนี้ให้กับ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นต้นเหตุที่นำมาสู่การฟ้องร้องศาลปกครอง
นายชัชชาติ เผยว่า การหารือครั้งนี้เพื่อหาทางออกร่วมกันว่าจะมีแนวทางปฎิบัติมีความเป็นไปได้เกี่ยวกับการใช้หนี้ให้กับภาคเอกชนอย่างไรบ้าง เนื่องจากปัญหาสะสมมานาน และได้เห็นแล้วว่าภาคเอกชนต้องแบกรับต้นทุนจากการลงทุนให้บริการ ซึ่งโครงข่ายรถไฟฟ้าได้เปิดให้บริการและแก้ไขปัญหาการเดินทางของประชาชนจริง
- นักดับเพลิง รวมตัว! ร้องถึง ‘ชัชชาติ’ ปม ทำงานหนักกว่าข้าราชการอื่น 160 ชม.
- ชัชชาติ จี้ ว่าที่รัฐบาล ก้าวไกล ให้ทบทวน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
- ‘ไอซ์ รักชนก’ ขอโทษ ‘ชัชชาติ’ ปมชุดลูกเสือ หลัง กทม. เผยเราทำมานานแล้ว
ชัชชาติ เร่งเสนอสภา กทม. ขอจ่ายหนี้
นายชัชชาติ กล่าวว่า “ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้เตรียมการเรื่องการชำระหนี้มาตลอด แต่ต้องชี้แจงว่ากระบวนการในการดำเนินการ อย่างเรื่องที่ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ไปจ้าง BTS เป็นผู้เดินรถไฟฟ้า เรื่องนี้ต้องขออนุมัติจากทางสภากรุงเทพมหานครก่อน และเรื่องการชำระเงินค่าจ้างให้แก่เอกชน ก็ต้องพิจารณานำเงินสะสมจ่ายขาดไปดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันมีคงเหลือ 4-5 หมื่นล้านบาท และเรื่องนี้ก็ต้องเสนอให้สภากรุงเทพมหาครพิจารณา”
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร จะดำเนินการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวคู่ขนานใน 2 ทาง คือ
- การนำเรื่องเสนอเข้าสภากรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการชำระหนี้ E&M ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วนี้ และสามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครในสมัยหน้าได้ทันที
- การติดตามเร่งรัดทางรัฐบาลในหลายประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งรวมถึงแนวทางเกี่ยวกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44 ในเรื่องพิจารณามูลหนี้ต่อการทำสัญญาสัมปทานใหม่ โดยที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว
สำหรับหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างบีทีเอส กับกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันแบ่งออกเป็น ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ประมาณ 30,000 ล้านบาท และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกล (E&M) รวมกว่า 22,800 ล้านบาท
โดยหนี้ในจำนวนนี้ ปัจจุบันได้มีการยื่นฟ้องและอยู่ในขั้นตอนศาลปกครองพิจารณา แบ่งเป็น
1.หนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ศาลปกครองพิพากษาให้ กทม. และเคทีร่วมกัน จ่ายหนี้ให้กับบีทีเอส จำนวนประมาณ 11,755.06 ล้านบาท ทั้งในส่วนค่าเดินรถ และซ่อมบำรุง
2.หนี้ก้อนที่ 2 ส่วนค่าเดินรถและซ่อมบำรุง ที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้จ่ายหนี้เพิ่มเติมอีก ประมาณ 11,068.5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติม : กรุงเทพธุรกิจ
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY