คมนาคม ทุ่ม 212 ล้านบาท ดันตรังเป็นฮับขนส่งทางน้ำ กระตุ้นเศรษฐกิจเชื่อมโยงไทย-มาเลย์-อินโดฯ พร้อมพัฒนาท่าเรือทุกแห่งในจังหวัด
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2564 นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ตนได้ลงพื้นที่ จ.ตรัง เพื่อติดตามโครงการก่อสร้างของภาครัฐ เบื้องต้นได้มอบให้กรมเจ้าท่าดำเนินการขุดลอกร่องน้ำกันตัง เพื่อแก้ไขปัญหาความตื้นเขินและบำรุงรักษาร่องน้ำกันตังให้กลับสู่สภาพปกติ และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเดินเรือให้รองรับเรือได้ขนาดไม่น้อยกว่า 3,500 ตันกรอส โดยจะใช้งบบประมาณกลางในปี 2565 จำนวน 162 ล้านบาท ดำเนินการใช้เวลา 10 เดือน
ทั้งนี้ เพื่อเร่งผลักดันให้จังหวัดตรังเป็นจุดศูนย์กลางการส่งออกสินค้าทางเรือ เชื่อมโยงการส่งออกสินค้าทางเรือตามโครงการ IMT-GT หรือความร่วมมือระหว่างเศรษฐกิจ 3 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เพื่อพัฒนาการส่งออกสินค้าภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
นายอธิรัฐ กล่าวต่อว่า ร่องน้ำกันตังถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของภาคการขนส่งทางน้ำที่สามารถส่งออกสินค้าจากท่าเรือที่สำคัญต่างๆ เช่น ท่าเรือกันตัง ท่าเรือนาเกลือ ท่าเรือแสงทอง ท่าเรือยูโสบ ท่าเรือโชคชัย สู่ท่าเรือต่างประเทศ IMT-GT
นายอธิรัฐ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังเตรียมปรับปรุงท่าเรือเกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยเพื่อการขนส่งสินค้า การโดยสารและท่องเที่ยว จากฝั่งมายังเกาะสุกร โดยกรมเจ้าท่าได้เตรียมของบประมาณ วงเงิน 50 ล้านบาท คือในปี 2566 จำนวน 10 ล้านบาท และปี 2567 จำนวน 40 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงท่าเรือเกาะสุกร เมื่อโครงการปรับปรุงแล้วเสร็จจะส่งผลให้ประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้ใช้บริการท่าเรือมีความสะดวก ปลอดภัย ส่งเสริมเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ อีกทั้งสนับสนุนการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ให้พิจารณาพัฒนาท่าเรือต่างๆ ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกันได้อย่างสะดวก ปลอดภัย เข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้บริการประชาชนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม