ระเบียบวินัยที่เข้มงวด ถือเป็นภาพจำของชาวญี่ปุ่น ที่ทำให้ประเทศขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน และมีส่วนสำคัญที่ทำให้พวกเขาพ้นผ่านวิกฤติหนักๆ มาแล้วหลายครั้ง
ทว่าภายใต้สังคมที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบที่เคร่งครัดชาตินี้ สำหรับฟุตบอลกลับย้อนแย้ง เพราะพวกเขากลายเป็นลีกที่อุดมไปด้วยนักเตะบราซิล ที่ขึ้นชื่อในเรื่องความสำราญ และควบคุมยาก
เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand
ลีกแห่งแข้งบราซิล
ด้วยทักษะที่ยอดเยี่ยมและความสามารถที่เหลือล้น ทำให้บราซิล กลายเป็นชาติที่ส่งออกนักฟุตบอลเป็นอันดับหนึ่งของโลก จากการรายงานของ CIES Football Observatory เมื่อปี 2020 ระบุว่ามีแข้งแซมบ้าที่ค้าแข้งอยู่ต่างประเทศมากถึง 1,600 คน ที่ทำให้พวกเขามีนักเตะกระจายตัวอยู่ทั่วโลก
อย่างไรก็ดี สำหรับเอเชีย คงไม่มีลีกไหนที่เทียบเท่ากับเจลีกของญี่ปุ่น เมื่อในฤดูกาล 2021 พวกเขาใช้บริการนักเตะจากชาตินี้มากถึง 91 คน (เจ 1, เจ 2, เจ 3) แถมใน เจ 1 ลีก ยังมีสัดส่วนที่เกินครึ่งของจำนวนนักเตะต่างชาติ นั่นก็คือ 58 คนจาก 106 หรือคิดเป็น 54.7 เปอร์เซ็นต์
Photo : Kawasaki Frontale
แม้ว่าจริงอยู่ที่เจลีก จะมีข้อได้เปรียบจากการไม่จำกัดโควต้านักเตะต่างชาติ แต่เมื่อเทียบกับชาติอื่นในฤดูกาล 2021 สัดส่วนของนักเตะบราซิลในลีกของพวกเขา ก็ยังแซงหน้าลีกอื่นในเอเชียอย่างเห็นได้ชัด
ไม่ว่าจะเป็น ไชนีส ซูเปอร์ ลีก ที่มีนักเตะบราซิลอยู่ 30+5 (แข้งบราซิลโอนสัญชาติ) จากทั้งหมด 91 คน ที่คิดเป็น 38.4 เปอร์เซ็นต์, เคลีก ที่มีเพียง 8 คนจาก 41 คน หรือ 19.5 เปอร์เซ็นต์ หรือแม้กระทั่ง ไทยลีก ที่ชื่นชอบในตัวแข้งบราซิลเช่นกัน ก็ยังมีแค่ 29 คนจาก 91 คน หรือคิดเป็น 31.8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
นอกจากนี้ ความนิยมในตัวแข้งบราซิลของสโมสรญี่ปุ่น ยังสะท้อนได้จากการที่มีสโมสรใน เจ 1 ลีก ถึง 10 ทีมจากทั้งหมด 20 ทีม ที่นอกจากแข้งสัญชาติเอเชียแล้ว พวกเขามีแต่นักเตะชาวบราซิลเพียงชาติเดียว
สโมสรเหล่านี้ได้แก่ คาชิมา อันท์เลอร์ส, เอฟซี โตเกียว, คาวาซากิ ฟรอนทาเล, โยโกฮามา เอฟ มารินอส, โชนัน เบลล์มาเร, นาโงยา แกรมปัส, กัมบะ โอซากา, เซเรโซ โอซากา, ซานเฟรชเช ฮิโรชิมา และ โออิตะ ทรินิตะ แถมสองทีมหลังนักเตะต่างชาติเป็นแข้งบราซิลล้วน โดยไม่มีนักเตะเอเชียชาติอื่นเจือปน
Photo : 名古屋グランパス / Nagoya Grampus
เหตุผลสำคัญที่ทำให้นักเตะจากชาตินี้ได้รับความนิยม คือฝีเท้าที่เก่งกาจของพวกเขา ที่ช่วยยกระดับ และสร้างความแตกต่างให้กับทีม เพราะหากย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1993 หรือปีแรกของการก่อตั้งเจลีก จะพบว่าแข้งจากแดนกาแฟ คือนักเตะต่างชาติที่คว้ารางวัลดาวซัลโวของลีกได้ถึง 11 ครั้ง จากทั้งหมด 28 ฤดูกาล
แถมในฤดูกาล 2020 ที่ผ่านมา แม้แข้งเลือดแซมบ้า จะไม่สามารถคว้ารางวัลดาวซัลโวได้ หลังพ่ายแพ้ให้กับความร้อนแรงของ มิคาเอล โอลุงกา ดาวยิงจากเคนยาที่ซัดไปถึง 28 ประตู แต่นักเตะจากชาตินี้ ก็อยู่ในชาร์ทดาวซัลโว 10 อันดับแรกถึง 7 ราย
อย่างไรก็ดี นอกจากความเก่งแล้วยังมีอีกเหตุผลที่ทำให้ญี่ปุ่น นิยมนักเตะจากชาตินี้
สายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์
แม้ว่าจะตั้งอยู่คนละทวีป ซึ่งทำให้ทั้งญี่ปุ่นและบราซิลถือมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งด้านภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรม แต่ทั้งสองประเทศนี้ กลับมีสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งตั้งแต่ช่วงปลายรัชสมัยเมจิ (1868-1912) ซึ่งกินเวลายาวนานกว่า 100 ปี
Photo : apjjf.org
มันเริ่มต้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 19 เมื่อการปฏิวัติเมจิ ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของระบบโชกุนและศักดินา มีผลทำให้ญี่ปุ่นประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยเฉพาะคนในชนบทที่ต้องเผชิญกับความยากจนและอดอยาก อันเนื่องมาจากประชากรมีมากเกินไปเมื่อเทียบกับทรัพยากรที่มี
จากผลดังกล่าวทำให้รัฐบาลพยายามสนับสนุนให้ผู้คนอพยพไปอยู่ในต่างประเทศ และบราซิล ก็เป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญ เนื่องจากตอนนั้นพวกเขากำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเลิกทาส
ก่อนที่ในปี 1908 ผู้โดยสารบนเรือ โคซาโตะ มารุ ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวนาจำนวนทั้งสิ้น 790 คน จะกลายเป็นชาวญี่ปุ่นชุดแรกที่อพยพไปแสดงหาชีวิตใหม่ที่บราซิล ภายใต้สนธิสัญญาความร่วมมือของทั้งสองประเทศ
หลังจากนั้นชาวญี่ปุ่น ก็อพยพไปยังประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้อย่างต่อเนื่อง และเติบโตขึ้นมากหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมีมากถึง 164,000 คนตั้งแต่ช่วงปี 1917-1940
แม้ว่าจะเป็นดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ต่างถิ่นต่างวัฒนธรรม แต่ด้วยความขยันและเอาจริงเอาจังในแบบฉบับของลูกหลานซามูไร ทำให้ชาวญี่ปุ่น จำนวนไม่น้อยประสบความสำเร็จในดินแดนแห่งนี้
ด้วยเหตุนี้ทำให้ บราซิล กลายเป็นประเทศที่มีคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่มากที่สุดในโลก ด้วยจำนวนมากถึง 1.4 ล้านคน อันเนื่องมาจากหลายคนลงหลักปักฐาน แต่งงาน มีลูกมีหลานอยู่ที่นั่น โดย เซา เปาโล คือเมืองที่มีคนสายเลือดซามูไรอาศัยอยู่มากที่สุดด้วยจำนวน 690,000 คน
และมันก็เป็นเหตุผลที่ทำให้นักเตะสัญชาติบราซิล ยุคแรกที่ย้ายมาค้าแข้งในแดนอาทิตย์อุทัย ล้วนเป็นชาวบราซิลเชื้อสายญี่ปุ่นแทบทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็น เนลสัน ไดชิโร โยชิมุระ นักเตะชาวบราซิลคนแรกในประวัติศาสตร์ลีกญี่ปุ่น ที่มาเล่นให้ ยันมาร์ ดีเซล (เซเรโซ โอซากา) เมื่อปี 1967 หรือ เซจิโอ เอจิโกะ แข้งบราซิลจากสโมสรอาชีพคนแรกในแดนอาทิตย์อุทัย ที่ย้ายมาอยู่กับ โทวะ เอสเตท เดเวล็อปเมนท์ (โชนัน เบลล์มาเร) ในปี 1972
Photo : www.bolasport.com
อย่างไรก็ดี ในช่วงทศวรรษที่ 1980 สถานการณ์ก็พลิกผัน เมื่อกลายเป็นบราซิล ที่ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจต่ำอย่างหนักบ้าง สวนทางกับญี่ปุ่นที่ร่ำรวยอย่างมาก อันเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เฟื่องฟู
ทำให้ ชาวบราซิล โดยเฉพาะคนที่มีเชื้อสายญี่ปุ่น มองกลับมาที่ประเทศบรรพบุรุษของพวกเขา ในฐานะดินแดนแห่งโอกาส และเดินทางกลับมาแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในแดนอาทิตย์อุทัยบ้าง จนกลายเป็นการไหลบ่าของผู้อพยพ ก่อนที่ในปี 1990 ญี่ปุ่นจะแก้กฎหมายเปิดรับคนเหล่านี้
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีคนบราซิล อาศัยอยู่มากที่สุดในโลก ด้วยจำนวนถึง 170,000 คน และเคยขึ้นไปถึง 320,000 คนในปี 2008 โดยพบมากที่สุดที่เมืองฮามามัตสึ จังหวัดชิสุโอกะ รองลงมาคือโทโยฮาชิ จังหวัดไอจิ
Photo : www.chunichi.co.jp
การไหลบ่าของชาวบราซิล ไม่เพียงแต่ทำให้พวกเขามีงานทำเท่านั้น แต่ยังทำให้คนญี่ปุ่น คุ้นเคยคนในชาตินี้ รวมไปถึงนักเตะของพวกเขา หลังแข้งชาวบราซิลพาเหรดมาค้าแข้งในลีกญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุคแรกของเจลีก
ทั้ง กาเรกา และ มุลเลอร์ สองดาวยิงตัวเก่งในฟุตบอลโลก 1990, เลโอนาร์โด ที่ต่อมาได้ย้ายไปเล่นให้ เอซี มิลาน หรือแม้กระทั่ง ดุงกา กัปตันทีมชาติบราซิล ชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 1994 ก็ยังมีโอกาสได้มาโชว์ฝีเท้าในลักแห่งนี้
แต่ทั้งหมดทั้งมวล คงไม่มีนักเตะคนใดที่ทำให้คนญี่ปุ่นยกย่องและนับถือชาวบราซิลได้เท่ากับ อาตูร์ อันตูเนส โคอิมบรา หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ซิโก้”
พระเจ้าแห่งฟุตบอลญี่ปุ่น
ปี 1989 เป็นปีที่วงการฟุตบอลของโลกต้องเสียดาย เมื่อ ซิโก้ นักเตะบราซิลที่เก่งที่สุด นับตั้งแต่หมดยุคเปเล่ ประกาศแขวนสตั๊ดกับ ฟลาเมงโก สโมสรแรกที่สร้างชื่อให้เขาด้วยวัย 36 ปี
อย่างไรก็ดี 2 ปีต่อมา เขาได้รับภารกิจจาก เฟร์นันโด คอลเลอร์ เดอ เมลโญ ประธานาธิบดีของบราซิลในตอนนั้น ให้ไปช่วยวางรากฐานให้กับฟุตบอลญี่ปุ่น ที่กำลังจะก่อตั้ง เจลีก ในฐานะรัฐมนตรีกีฬา
“พวกเขาอยากเป็นมืออาชีพ แต่พวกเขาไม่รู้จะทำมันอย่างไร” ซิโก้ อธิบาย
Photo : www.besoccer.com
เขาถูกส่งไปที่ ซูมิโตโมะ สตีล สโมสรจากจังหวัดอิบารากิ ที่ตอนนั้นอยู่ในเจแปน ซอคเกอร์ลีก 2 และแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของมืออาชีพ ด้วยการยิงไปถึง 21 ประตูจาก 22 นัดในฤดูกาลนั้น พร้อมพาทีมจบในตำแหน่งรองแชมป์ และได้เลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในเจลีก
“ตอนนั้นหัวเข่าผมไม่ได้มีปัญหาอะไร ทุกอย่างมันโอเคหมด ผมได้เป็นดาวซัลโวในดิวิชั่น 2 เราก็จบในตำแหน่งรองแชมป์ และได้สิทธิ์ขึ้นมาเล่นในลีกอาชีพ มันเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ ของผม พวกเขาได้เห็นความมุ่งมั่นของผม และความทุ่มเทที่ใส่ลงไป” ซิโก้กล่าวกับ FIFA.com
เขายังทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมให้กับ ซูมิโตโม ที่เปลี่ยนชื่อมาเป็น คาชิมา อันท์เลอร์ส ในซีซั่นแรกของเจลีก ด้วยการยิงแฮตทริคในนัดเปิดสนาม พาทีมคว้าแชมป์ครึ่งฤดูกาลแรก และรองแชมป์เจลีกในวัยเกือบ 40 ปี
อย่างไรก็ดี เขาไม่ได้มาที่นี่ในฐานะนักกีฬาเท่านั้น แต่ตั้งใจที่จะเข้ามาสร้างความเป็นมืออาชีพให้กับฟุตบอลญี่ปุ่น เขาพยายามถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ทั้งหมดที่มีให้กับคนที่นี่
“เราแค่วางโครงสร้างให้กับพวกเขา และพวกเขาก็เอามันไปใช้ มันก็ดำเนินไปจากตรงนั้น คาชิมากลายเป็นทีมใหญ่ คว้าแชมป์และชนะคู่แข่งมากกว่าทีมอื่น ผมรู้สึกภูมิใจมาก ที่ได้ช่วยพวกเขาตั้งแต่เริ่มต้น” ซิโก้กล่าวต่อ
Photo : www.theguardian.com
ทำให้สำหรับชาวซามูไร ซิโก้ เป็นทั้งนักเตะ โค้ช และอาจารย์ที่คอยสอนสั่งพวกเขา ที่ทำให้เขาได้รับการนับถือเป็นอย่างมากจากคนที่นี่ และถูกขนานนามว่า “พระเจ้าแห่งวงการฟุตบอล” (Sakka no Kamisama)
ในขณะเดียวกัน เขายังทำให้ฟุตบอลแบบบราซิล กลายเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เป็นเหมือนผู้แผ้วทางในชาวซามูไร รู้จักฟุตบอลจากประเทศพันธมิตรของพวกเขามากขึ้น และทำให้ลีกแห่งนี้ไม่เคยร้างรานักเตะจากแดนแซมบ้าเลย
“ฟุตบอลของบราซิลได้รับการนับถืออย่างมากในญี่ปุ่นเสมอ และแน่นอนมันเกิดขึ้นหลังผมและนักเตะบราซิลคนอื่นมาที่นี่ มันเหมือนกับว่าพวกเขาได้สร้างสไตล์การเล่นแบบใหม่ที่แสดงความเคารพต่อฟุตบอลบราซิล” อดีตนักเตะชุดอันดับ 3 ฟุตบอลโลก 1978 กล่าวกับ Goal
อย่างไรก็ดี แม้ว่านักเตะชาตินี้ จะเก่งกาจมากแค่ไหน แต่พวกเขาก็ขึ้นชื่อเรื่องความสำราญ แล้วคนญี่ปุ่นรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร ?
เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม
เฮฮา ชอบปาร์ตี้ และรักความอิสระ คือคุณลักษณะนิสัยของนักเตะบราซิลส่วนใหญ่ ที่ทำให้หลายครั้งพวกเขามักจะก่อเรื่อง หรือสร้างความปวดหัวให้กับโค้ชหรือเพื่อนร่วมทีมอยู่เสมอ
สิ่งนี้ตรงกันข้ามกับชาวญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อในเรื่องระเบียบวินัยและการตรงต่อเวลา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่พวกเขายึดถือและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด รวมถึงคาดหวังให้คนอื่นปฏิบัติเช่นเดียวกัน แน่นอนว่าแม้แต่นักเตะต่างชาติก็ไม่ได้รับการยกเว้น
Photo : marcussarbos.medium.com
“ไม่ใช่แค่นักฟุตบอล แต่คนบราซิลจำนวนมากคิดว่าทำผิดกฎได้ถ้าไม่มีใครรู้” โคอิจิ ฮาชิโมโต เอเยนต์นักฟุตบอลบราซิลในญี่ปุ่นกล่าวกับ Number
“มันอาจจะไม่มีความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้ในสังคมระหว่างญี่ปุ่นและบราซิล แต่ความเข้มงวดของกฎหมายที่นำมาใช้ค่อนข้างต่างกันมาก”
แน่นอนว่าคนญี่ปุ่น ก็รู้ดีในเรื่องนี้ และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา พวกเขาจึงเลือกที่จะใช้วิธี “ตัดไฟแต่ต้นลม” ด้วยการเฟ้นหานักเตะชาวบราซิลที่ไม่ได้มีดีเพียงแค่ฝีเท้า แต่ยังมีนิสัยที่เข้ากับสังคมญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบได้
“ก่อนที่ผมจะแนะนำนักเตะให้กับสโมสรในเจลีก ผมจะสัมภาษณ์เขาก่อน ผมไม่ได้ดูแค่สไตล์การเล่นแต่ดูความเป็นมุษย์ของเขาด้วย” ฮาชิโมโต อธิบาย
“ผมจะอธิบายเขาทั้งในเรื่องสังคมญี่ปุ่น เจลีก จากนั้นก็เป็นสโมสรที่จะไปเล่น แต่แม้ว่าจะเป็นอย่างนั้นก็ยังต้องประเมินทั้งในเรื่องการแสดงความรับผิดชอบที่ญี่ปุ่น หรือไม่ก่อปัญหาให้สโมสรด้วย”
“ไม่ว่านักเตะจะเก่งแค่ไหน ถ้ารู้สึกว่าธรรมชาติหรือนิสัยของเขาดูอันตราย ผมก็จะไม่แนะนำนักเตะคนนี้”
นอกจากนี้ แม้ว่านักเตะนักเตะคนดังกล่าว จะมีนิสัยที่ใช้ได้แค่ไหน แต่ในขั้นตอนการเซ็นสัญญา พวกเขายังยึดหลัก “ปลอดภัยไว้ก่อน” ด้วยการใส่เงื่อนไขในเชิงว่าหากก่อปัญหา อาจจะทำให้ถูกยกเลิกสัญญาลงไปด้วย
“นอกจากนี้ ในการทำสัญญากับสโมสร มักจะมีเงื่อนไขว่า ‘ถ้าเกิดปัญหาลักษณะนี้ สโมสรสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่มีเงื่อนไข'” ฮาชิโมโตกล่าวต่อ
“ผมจะอธิบายข้อห้ามนี้อย่างระมัดระวังเพื่อให้นักเตะเข้าใจและยอมรับ แม้ว่าเขาจะมาญี่ปุ่นแล้ว ผมก็จะติดต่อกับพวกเขาอยู่เสมอ เพื่อดูว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างไร”
Photo : サンフレッチェ広島|SANFRECCE HIROSHIMA
ในขณะเดียวกัน หลังย้ายมาเล่นในญี่ปุ่นแล้ว สโมสรและเอเยนต์ ก็จะพยายามจับตามองไปพร้อมกับดูแลนักเตะเหล่านี้ รวมไปถึงครอบครัวของพวกเขาเป็นพิเศษ เพื่อให้พวกเขามีความสุขมากที่สุดจนไม่มีเวลาไปสร้างปัญหา
“ที่ญี่ปุ่น ทุกสโมสรเอาใจใส่และคอยเตือนผู้เล่นเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอยู่เสมอ จากมุมมองแบบสากล ผมคิดว่ามันเป็นวิธีที่ดีมาก” เรนาโต เดวิด ล่ามนักเตะบราซิลในเจลีกให้ความเห็น
“อย่างไรก็ตาม คนต่างชาติล้วนมาจากประเทศที่วัฒนธรรมและประเพณีที่แตกต่างกัน แถมยังมีปัญหาเรื่องภาษา ทำให้ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ”
“ความรับผิดชอบของล่ามและสตาฟฟ์ของสโมสรจึงเยอะมาก เพื่อให้ผู้เล่นสามารถลงเล่นด้วยความมั่นใจ จึงต้องดูแลพวกเขาเป็นอย่างดี รวมไปถึงครอบครัวของพวกเขาด้วย”
อย่างไรก็ดี บางครั้งก็ไม่ไหว ยกตัวอย่างเช่น อาเดมิลสัน กองหน้าเลือดแซมบ้าของ กัมบะ โอซากา ที่ไปก่อคดีเมาแล้วขับจนไปชนรถคนอื่นแล้วถูกตำรวจจับเมื่อเดือนตุลาคม 2020 ที่สุดท้ายทำให้เขาถูกกัมบะสั่งแบน ก่อนจะขายไปให้ อู่ฮั่น ทรีทาวน์ ในลีกรองของจีนฤดูกาล 2021
Photo : ipc.digital
หรือกรณีของ ฟาบิโอ กองหน้าชาวบราซิล ของ อัลบิเร็กซ์ นีงาตะ ทีมใน เจ 2 ลีก ที่ก่อคดีเมาแล้วขับในเดือนกันยายน 2019 ก่อนที่เรื่องเพิ่งจะแดงในเดือนตุลาคม และทำให้เขาถูกยกเลิกสัญญาจากสโมสรทันที เช่นเดียวกับ เปโดร มานซี ที่ไปด้วยกัน
แต่ถึงอย่างนั้น เคสที่เกิดขึ้นจนสร้างความเสียหายต่อสโมสรในลักษณะนี้ ก็ยังถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนของนักเตะบราซิลที่ย้ายมาเล่นในเจลีกเป็นประจำทุกปี และแสดงให้เห็นว่าวิธีการของพวกเขาได้ผล
มันคือความเอาจริงเอาจังและเอาใจใส่ในแบบฉบับของชาวซามูไร ในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น หรือถ้าหากป้องกันไม่ได้ พวกเขาก็พร้อมใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการลงโทษ เพื่อสร้างมาตรฐานและไม่ให้นักเตะคนอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
“ผู้เล่นก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นคนใจดีหรือคนจริงจังก็อาจจะสร้างปัญหาได้ทั้งนั้น ตั้งแต่เด็ก ครอบครัว ครู หรือคนรอบข้าง พวกเขาไม่ได้สอนแค่วิธีการเล่น แต่ล้วนสอนการใช้ชีวิต ด้วยเหตุนี้การชี้แนะอย่างจริงจังจึงเป็นเรื่องสำคัญ” ฮาชิโมโตอธิบาย
Photo : J.League
ด้วยสิ่งนี้จึงทำให้ เจลีก ยังคงเป็นลีกที่อุดมไปด้วยนักเตะบราซิล แม้ว่านิสัยของคนทั้งสองชาติจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และยังทำให้มันกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะแข้งบราซิล ที่มาฝึกปรือฝีเท้าก่อนย้ายไปเล่นในลีกใหญ่อีกด้วย
เพราะชาวญี่ปุ่นรู้ดีว่าพวกเขาควรจะทำอย่างไร หรือรับมือแบบไหน เพื่อสุดท้ายจะได้ไม่ต้องมาปวดหัวทีหลัง ก็เท่านั้นเอง
“ผู้เล่นต่างชาติล้วนเติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ต่างจากญี่ปุ่นอย่างสิ้นเชิง รวมถึงได้รับการศึกษาที่แตกต่างกัน”
“คนรอบตัวจึงต้องดูแลพวกเขาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้พวกเขาโชว์ฟอร์มออกมาได้ดีที่สุดโดยไม่ก่อปัญหา ในสังคมญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบเช่นนี้” ฮาชิโมโตทิ้งท้าย