คณะแพทย์ มช. เผยผลวิจัย ทำไมเลือดกำเดาไหล เวลาค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูง มีความเชื่อมโยงกันหรือไหม่
รศ.พญ.กรรณิการ์ รุ่งโรจน์วัฒนศิริ หัวหน้าภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนก.พ.–เม.ย. ของทุกปี ภาคเหนือตอนบนจะเจอกับปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว อาการที่มักจะพบบ่อยคือ ตาแดง ผื่นขึ้นตามส่วนต่างๆของร่างกาย เยื่อบุจมูกอักเสบ และเลือดกำเดาไหล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาการที่ผู้ปกครองมักพาบุตรหลานมาพบแพทย์บ่อยที่สุด
ส่วนสาเหตุที่เด็กมีเลือดกำเดาไหลในช่วงที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงนั้น ทางภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้ทำการศึกษาร่วมกับนักศึกษาแพทย์ หาความสัมพันธ์ระหว่างอุบัติการณ์ของการเกิดเลือดกำเดาไหลในผู้ป่วยนอกเเละห้องฉุกเฉินของ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กับค่าฝุ่นที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน ในช่วงที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 พบว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 มีความสัมพันธ์กับจำนวนผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลด้วยอาการเลือดกำเดาไหลอย่างมีนัยสำคัญ
ซึ่งปกติแล้วบริเวณเยื่อบุในจมูกคนเราจะมีเลือดมาเลี้ยงเยอะอยู่แล้ว หากสูดเอาฝุ่น PM2.5 เข้าไป จะทำให้เกิดการอักเสบบริเวณเยื่อบุในช่องจมูก และไปกระตุ้นทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีโอกาสเลือดกำเดาไหลง่ายกว่าผู้ใหญ่ เมื่อพบว่ามีเลือดกำเดาไหล ให้ก้มหน้าลงแล้วใช้มือบีบบริเวณปีกจมูกทั้งสองข้างเข้าหากัน ค้างไว้ประมาณ 5 นาที อาจช่วยในการห้ามเลือดเบื้องต้นได้