ขุดต้นตอจากประวัติศาสตร์ "มวยไทยและพม่า" ลอกเลียนแบบกันจริงหรือ ?

Home » ขุดต้นตอจากประวัติศาสตร์ "มวยไทยและพม่า" ลอกเลียนแบบกันจริงหรือ ?

“มวย” ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีร่วมกันของเหล่าชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ต่างจาก “เซปัคตะกร้อ”

หากจำแนกเฉพาะชาติอาเซียน ที่มีศิลปะการต่อสู้ในรวมแบบของ “มวย” ในแบบของตัวเอง สามารถแบ่งออกมาได้ถึง 4 รูป อาทิ มวยกัมพูชา หรือ ประดัล เสรี (Pradal Seray), มวยลาว, มวยไทย และ มวยพม่า หรือ ลัดเว่ย (Lethwei) 

แต่ละชาติล้วนมีรูปแบบ และลักษณะเฉพาะตัวโดดเด่นแตกต่างกันออกไป (อาจมีแค่มวยลาวที่คล้ายกับมวยไทย) แต่หากพูดถึงการมีตัวตนในโลกการต่อสู้ ดูเหมือน “มวยไทย” จะมีชื่อเสียงกว่าใครเพื่อน

ฝรั่งมังค่าต่างรู้ดีว่า มวยไทย ใช้แทบทุกส่วนของร่างกายเป็นอาวุธได้หมด จึงได้รับการยอมรับจากโลกตะวันตก ยกให้เป็นศิลปะการต่อสู้แบบยืนที่อันตรายมากสุด เพราะนอกจากจะเตะ ต่อย ได้แล้ว ยังสามารถใช้ศอกและเข่าร่วมกันด้วยได้ 

อย่างไรก็ดี ไม่ใ่ช่มวยไทยเท่านั้นที่ออกอาวุธได้เอ็กซ์ตรีม โหดถึงใจ หากคุณยังไม่รู้จักกับ “ลัดเว่ย” มวยสุดโหดผลผลิตทางภูมิปัญญาของชนชาติเมียนมา ที่ออกอาวุธทุกส่วนได้เหมือนกับ มวยไทย และเพิ่มความโหดไปอีกระดับด้วยการไม่ใส่นวม ที่สำคัญ ลัดเว่ย ยังสามารถใช้ศีรษะโขกคู่ต่อสู้ได้แบบไม่มีกติกา 

ต้นตอของ 2 ศิลปะการต่อสู้ของไทยและพม่า มีที่มาที่ไปอย่างไร ? มีจุดร่วมและแตกต่างทางประวัติศาสตร์เช่นไร ? และทำไม เดฟ เลอดัก ถึงคิดว่ามวยไทยไปก๊อปปี้มาจากเมียนมา เราจะพาทุกท่านไปย้อนดูจุดกำเนิด วิวัฒนาการ และปัจจุบันของมวยไทยกับลัดเว่ย

ศาสตร์ต่อสู้เพื่อปลิดชีพศัตรู

ประวัติความเป็นมาของ มวยไทย สามารถย้อนกลับไปถึงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีหลักฐานยืนยันว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงฝึกฝนทหารในกองทัพ ด้วยศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทย และทรงตั้ง “กองเสือป่าแมวมอง” หน่วยรบกองโจรที่เชี่ยวชาญการต่อสู้ด้วยมือเปล่า และมีบทบาทในสงครามกอบกู้เอกราช เมื่อ พ.ศ. 2127 หรือ ค.ศ. 1584

ก่อนกลายเป็น ศาสตร์การต่อสู้ที่ได้รับความนิยม ในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือ พระเจ้าเสือ ผู้ทรงมีพระปรีชาด้านมวยไทย เนื่องจากฝึกหัดวิชาจากสำนักมวยต่าง ๆ ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และชอบต่อสู้ประลองความสามารถกับขุนนางฝรั่งอยู่เสมอ


Photo : www.wikiwand.com/th/ประวัติศาสตร์มวยไทย

เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติใน พ.ศ. 2246 หรือ ค.ศ. 1703 ปรากฏหลักฐานว่า พระเจ้าเสือ ยังทอดพระเนตรการชกมวยไทยอยู่เสมอ และฝึกซ้อมอยู่เป็นประจำ พระองค์จึงทรงเป็นผู้คิดท่าแม่ไม้มวยไทย และถ่ายทอดเป็นตำราให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้จนถึงปัจจุบัน

ขณะที่ ลัดเว่ย ก็จัดเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ทหาร และชนชั้นสูงของชาวพม่า นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1587-1620 หรือ ค.ศ. 1044-1077) กษัตริย์ผู้ก่อตั้งอาณาจักรพุกาม และถูกยกย่องเป็นบิดาของประเทศพม่า

ลัดเว่ย มีสถานะเป็นดั่ง “กีฬาสำหรับนักรบ” ศาสตร์แห่งอาวุธทั้ง 9 จึงถูกนำมาสอนแก่เหล่าทหาร, ขุนนาง และองค์รัชทายาท ความสำคัญของลัดเว่ยในราชสำนักพม่า สืบทอดไปจนถึงกษัตริย์องค์สุดท้าย 

แม้ช่วงปลายของราชอาณาจักรพม่า ลัดเว่ย แพร่ขยายไปเป็นที่นิยมหมู่ประชาชนมากกว่า จนราชสำนักต้องประกาศเรียก นักมวยฝีมือดีเข้าสู่วัง เพื่อทำการแข่งขันในเทศกาลวาระต่าง ๆ 


Photo : www.wikiwand.com/en/Lethwei

นอกจากจะมีจุดเริ่มต้นที่คล้ายคลึงกัน ช่วงเวลาไทม์ไลน์ใกล้เคียงกันแล้ว มวยไทย และลัดเว่ย สมัยโบราณ ยังเป็นศาสตร์ที่ถูกนำมาใช้เพื่อฝึกนักรบ และเป็นอาวุธมือเปล่าที่ ไทยกับพม่า ใช้ห่ำหันกันยามสงคราม

หลายครั้งที่การต่อสู้จบลงด้วยความตายของฝ่ายตรงข้าม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดตำนานระหว่างนักสู้มวยไทย และนักสู้ลัดเว่ย ที่รูปแบบที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน 

เรื่องราวโด่งดังที่สุดคงหนีไม่พ้น “นายขนมต้ม” นักมวยคาดเชือกจากชาวกรุงศรีอยุธยา แต่เอาชนะนักมวยพม่า 9-10 คนรวด สร้างความประทับใจแก่พระเจ้ามังระ จนถูกปล่อยตัวออกมาร่วมกับเชลยชาวไทยบางส่วนที่ถูกกวาดต้อนระหว่างการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ได้สำเร็จ

ไม่ว่าตำนานนายขนมต้มจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ? แต่มวยไทยและลัดเว่ย ก็แข่งขันต่อสู้กันมาตั้งแต่กาลสงคราม เมื่อหลายร้อยปีก่อน 

ทั้งสองชนิดกีฬาก็จึงเป็นมรดกทางภูมิปัญญา และศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ ที่ถูกส่งต่อมาจนถึงบรรพชนคนรุ่นหลังของไทยและเมียนมา

พัฒนาการที่สวนทาง

ความขัดแย้งระหว่างชาวไทย และชาวพม่า สิ้นสุดลงหลังราชอาณาจักรพม่าถูกยึดครองโดยจักรวรรดิอังกฤษ ใน พ.ศ. 2428 หรือ ค.ศ. 1885 

นับแต่นั้น มวยลัดเว่ย ถูกมองเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีความอันตราย ผู้ปกครองชาวอังกฤษออกกฎหมายเด็ดขาดให้จับกุมชาวพม่าที่ฝึกฝนลัดเว่ย ขณะเดียวกัน นักมวยกลายเป็นอาชีพที่ไร้คุณค่า มีสถานะไม่ต่างจากคนเร่ร่อน


Photo : www.reddit.com

สวนทางกับลัดเวย มวยไทย กลับได้รับความนิยมอย่างมากระหว่างยุคล่าอาณานิคม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการจัดแข่งขันชกมวยในราชสำนัก เพื่อความสำราญขององค์กษัตริย์

นักมวยชื่อดังในหน้าประวัติศาสตร์ไทย อาทิ หมื่นมวยมีชื่อ จากเมืองไชยา, หมื่นมือแม่นหมัด จากลพบุรี และหมื่นชงัดเชิงชก จากเมืองโคราช ต่างเคยมวยคาดเชือกให้รัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตรแล้วทั้งสิ้น โดย

ความรุ่งเรืองของมวยไทยในยุคนั้น ส่งผลให้ศาสตร์แห่งอาวุธทั้ง 8 เกิดการพัฒนาในแนวทางที่หลากหลาย นำมาสู่คำกล่าวที่ว่า “หมัดหนักโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา ไวกว่าท่าเสา” แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของมวยไทยสำนักต่าง ๆ ซึ่งมีจุดเด่นแตกต่างกันไป

ช่วงเวลาดังกล่าวจึงถูกขนานนามว่า “ยุคทองแห่งมวยไทย” นำมาสู่การพัฒนาเวทีมวยที่มีเชือกล้อมรอบตามแบบสากล ใน พ.ศ. 2464 หรือ ค.ศ. 1921 ในไม่ช้าจึงเริ่มมีนักสู้จากต่างชาติเข้ามาต่อสู้กับนักมวยไทย เช่น ยัง หาญทะเล กับ จิ๊ฉ่าง นักมวยชาวจีนที่มีฝีมือร้ายกาจ

การเข้ามาของชาวต่างชาติ และวัฒนธรรมตะวันตก ส่งผลให้กีฬามวยไทยต้องปฏิรูปตัวเองอย่างช้า ๆ เริ่มมีการให้ความสำคัญกับคำว่า “น้ำใจนักกีฬา” มากกว่าการเตะคู่ต่อสู้ให้ตายคาเวที

เวทีมาตรฐาน, กรรมการ, ผู้ตัดสิน และรุ่นน้ำหนัก เริ่มปรากฎขึ้นในกีฬามวยไทย ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2472 หรือ ค.ศ. 1929 

ภายหลังจาก นายเจียร์ นักมวยชาวเขมรถูก นายแพ เลี้ยงประเสริฐ นักมวยคาดเชือกไทยชก จนหมดสติคาเวที และเสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาล  นักมวยไทยจึงเปลี่ยนมาต่อยด้วยนวมนับแต่นั้นเป็นต้นมา 

ในขณะที่ มวยไทย ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จนกลายเป็น กีฬาอาชีพที่มีความเป็นสากลมากขึ้น “ลัดเว่ย” กลับยังรักษาเอกลักษณ์เดิมของตัวเองไว้อย่างครบถ้วน


Photo : www.thefight-site.com

ในฐานะการต่อสู้มือเปล่าที่ดุดัน สามารถออกอาวุธจนคู่ต่อสู้ถึงตาย แม้จะมีความพยายามลดบทบาท และขาดการสนับสนุนอย่างยาวนาน 

แต่ความโหด ดิบ เถื่อน ของลัดเว่ย ก็ส่งผลให้กีฬานี้ได้รับความนิยมมากในหมู่ชนกลุ่มน้อยของพม่า เช่น ชาวกะเหรี่ยง หรือ ชาวมอญ พวกเขามักจัดการต่อสู้เพื่อบวงสรวงแก่พระแม่โพสพในยามค่ำคืน ท่ามกลางแสดงบนฟากฟ้า สองนักสู้จะปะทะกันบนกองดินหรือกองทราย ไม่มีเวที ไม่มีเชือก และไม่มีกรรมการ

มวยลัดเว่ยจะจบลงด้วยวิธีเดียวเท่านั้น คือ การน็อคเอาต์คู่ต่อสู้ นี่จึงเป็นการต่อสู้แบบ Last Man Standing ของจริงบนโลกใบนี้ ซึ่งส่งผลดีรวมถึงผลเสียแก่กีฬาชนิดนี้ไปพร้อมกัน

ในแง่มุมหนึ่ง ลัดเว่ย จึงเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีความโหดเหี้ยม และดุร้ายยิ่งกว่ามวยไทย เพราะการต่อสู้แบบเอาเป็นเอาตายของชาวพม่า ยังคงอยู่มี 

ส่วนมวยไทย สามารถใช้ระบบแบ่งยก และนับคะแนนอย่างเป็นทางการเหมือนมวยต่างประเทศ นับตั้งแต่มีการสร้างเวทีราชดำเนิน ใน พ.ศ. 2488 หรือ ค.ศ. 1945


Photo : sites.google.com/site/prawatikhxngmwy

ความเป็นสากลของมวยไทย ส่งผลให้ศิลปะการต่อสู้เข้าถึงพลโลกได้กว้างกว่า พัฒนากลายเป็นกีฬายอดฮิตในปัจจุบัน ส่วน ลัดเว่ยกลายเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ชาวต่างชาติแทบไม่รู้จักเลย อันเป็นผลจากสงคราม และการปิดประเทศยาวนานหลายทศวรรษ 

ส่งผลให้มวยไทยถูกยกย่องเป็น “กีฬาที่โหดร้ายที่สุด” จากชาวโลก แม้ความจริงอาจจะไม่ใช่แบบนั้นก็ตาม เพราะ ลัดเว่ย ยังมีความโหดร้ายกว่ามาก เนื่องจากการนับคะแนน หรือการตัดสินโดยกรรมการ ยังไม่ถูกใช้งานในปัจจุบัน

การชนะคู่ต่อสู้ ต้องใช้ด้วยการน็อกเอาต์ หรือ ยุติการแข่งขัน เพียงอย่างเดียว หากยืนได้ครบยกถือว่าสองฝ่ายเสมอกัน และยังคงยึดรูปแบบนี้มาอยู่จนถึงปัจจุบัน การออกอาวุธของ ลัดเว่ย จึงจงใจให้คู่ต่อสู้เสียเลือดมาก เพราะลัดเว่ยปฏิเสธการใช้นวม และเลือกรักษาวัฒนธรรมมวยคาดเชือกไว้

ต่างจากมวยไทย ที่ใส่นวม สวมแองเกิล เน้นใช้อาวุธ 8 เพื่อทำให้คู่ต่อสู้เสียอาการมวย เสียทรง เพื่อดูว่าใครทนทานรับอาวุธแล้วเก็บอาการได้ดีกว่ากัน หรือทำ Damage ใส่คู่แข่งได้มากกว่า จึงจะเป็นผู้ชนะ

ความเหมือนที่แตกต่าง

อีกหนึ่งความแตกต่างสำคัญระหว่างมวยไทย และลัดเว่ย คือ การออกอาวุธที่ฝ่ายหลังมีมากกว่า โดยมวยไทยสามารถออกอาวุธได้แค่ 8 อย่าง ได้แก่ 2 หมัด, 2 ศอก, 2 เข่า และ 2 เท้า แต่ลัดเว่ย ถูกเรียกว่า ศาสตร์แห่งอาวุธทั้ง 9 เพราะการใช้หัวโขกถูกนับเป็นหนึ่งในอาวุธสำหรับการต่อสู้ 


Photo : www.quora.com

นอกจากนั้น ความแตกต่าง และความเหมือนของมวยไทยกับลัดเว่ย ยังลงลึกไปถึงรายละเอียดเล็กน้อย เช่น การให้ความสำคัญต่อเบสิคการปล้ำ, ไล่แขน หรือ Clinching เหมือนกันทั้งคู่ 

แต่พอเอาเข้าจริง มวยไทยกลับไม่อนุญาตให้นักมวยโจมตีกันในช่วงเวลานี้ได้มากนัก (ถ้ากอดแขนแล้วไม่ออกอาวุธกรรมการจะแยกทันที) ส่วนลัดเว่ยนั้น นักมวยสามารถจับทุ่มคู่ต่อสู้ได้ไม่ผิดกติกา ส่วนมวยไทย การจะทุ่มคู่ต่อสู้ ด้วยอาศัยหลักเหลี่ยม และจังหวะ เพื่อเลี่ยงการทำผิดกติกา 

หากจำกัดความแตกต่างของมวยไทย และลัดเว่ย ให้เข้าใจได้ง่าย เราจึงกล่าวได้ว่า มวยไทย คือ “มวยโหด” แต่ลัดเว่ย คือ “มวยเถื่อน” เพราะเอกลักษณ์สำคัญของลัดเว่ย เช่น การใช้หัวโขกคู่ต่อสู้ และมวยคาดเชือก กลายเป็นสิ่งผิดกติกากีฬาในมวยไทยไปเสียแล้ว


Photo : evolve-mma.com

กรณีของ เดฟ เลอดัก นักมวยลัดเว่ยชาวแคนาดา ที่ดูถูก และหยามเกียรติมวยไทยแบบไม่เกรงใจใคร เกิดจากความเชื่อส่วนตัวที่เขามองว่า ลัดเว่ย คือศิลปะการต่อสู้ที่โหดเหี้ยมที่สุด แต่ถูกมองข้ามจากสายตาคนทั่วโลกมาตลอด เนื่องจากทุกคนพากันสนใจมวยไทยเสียหมด

เจตนาของเขา อาจแค่ต้องการให้ชาวโลกหันมาสนใจมวยพม่า แต่วิธีการที่เขาเลือกใช้ด้วยการเหยียดหยามศิลปะอันล้ำค่าของชาติอื่นก็ไม่ใช่เรื่องสมควร 

เพราะถึงแม้ว่า มวยไทยกับลัดเว่ย จะมีประวัติศาสตร์ที่แข่งขันกันมานานหลายร้อยปี แต่การเหยียดวิชาการต่อสู้ของชาติอื่น เพื่อทำให้ศาสตร์ที่ตัวเองสนใจสูงส่งขึ้น ก็เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสมนัก 

เพราะสุดท้ายทั้ง มวยไทย และมวยพม่า ต่างเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีคุณค่า มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตัวเอง และสมควรจะรักษาไว้เคียงคู่กัน ตราบนานเท่านาน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ