ขี้ลืมมากแค่ไหน ถึงเป็นสัญญาณเสี่ยงโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์

Home » ขี้ลืมมากแค่ไหน ถึงเป็นสัญญาณเสี่ยงโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์
ขี้ลืมมากแค่ไหน ถึงเป็นสัญญาณเสี่ยงโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์

บางครั้งในวัยรุ่น หรือวัยทำงานอย่างเราๆ ทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน หรืออาจจะนอนดึกจนเพลีย ก็อาจเป็นสาเหตุให้เราหลงๆ ลืมๆ อะไรเล็กๆ น้อยๆ ไปบ้าง เช่น ลืมมือถือ กุญแจบ้าน ไม่แน่ใจว่าล็อครถหรือยัง เป็นต้น

แต่หากขี้หลงขี้ลืมมากเกินไป ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยถึงโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ได้ ต้องลงลืมถึงขั้นไหน อย่างไร Sanook! Health มีข้อมูลมาให้เช็คตัวเอง และคนที่คุณรักกันค่ะ

 

10 สัญญาณเตือนภัย โรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์

1. ลืมแม้กระทั่งสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ถามย้ำซ้ำๆ ทั้งๆ ที่เพิ่งจะรับทราบข้อมูลไปไม่นาน ลืมนัด ลืมทำธุระต่างๆ เป็นต้น

2. งาน หรือกิจกรรมที่เคยทำอยู่เป้รประจำ เริ่มจะทำได้ลำบากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากจำขั้นตอนไม่ได้ หรือลืมบางส่วนของการทำไป เช่น ทำอาหารลืมใส่เครื่องปรุง ลืมว่าใส่เครื่องปรุงไปแล้ว จึงใส่เพิ่ม เป็นต้น

3. เริ่มมีปัญหาด้านการพูด การใช้ภาษา พูดไม่รู้เรื่อง พูดไม่คล่องแคล่วเหมือนก่อน ต้องคิดก่อนพูดนานขึ้น เรียงลำดับในการใช้คำผิด เป็นต้น

4. สับสนเรื่องวัน เวลา และหนทาง โดยไม่สามารถจำวัน เวลาได้ และทางไปสถานที่ที่คุ้นเคยได้

5. มีความสับสนในความสัมพันธ์ของภาพ สี เสียง ระยะทาง จนอาจทำให้มีปัญหาในการขับรถ

6. สติปัญหาด้อยลง เคยทำสิ่งใดได้ดีก็เริ่มทำไม่ได้เหมือนเดิม ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ไม่ได้

7. วางสิ่งของผิดที่ผิดทาง และยังคงใช้ชีวิตต่อไปเหมือนไม่คิดว่าเป็นสิ่งที่ผิดปกติ เช่น เก็บรีโมตทีวีไว้ในตู้เย็น

8. อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย และรวดเร็ว เช่น เดี๋ยวโมโห เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวหัวเราะ

9. บุคลิกโดยรวมเปลี่ยนไปจากเดิม เคยร่าเริงสดใส อาจกลายเป็นคนซึมเศร้า เคยพูดเก่ง แต่กลายเป็นคนเงียบขรึม หรือบางครั้งอาจกลายเป็นคนที่มีบุคลิกคล้ายเด็กเล็กๆ

10. เริ่มแยกตัวออกจากสังคม ไม่อยากพบปะผู้คน เก็บตัวอยู่แต่ในห้อง เฉื่อยชา ไม่สนใจ และกระตือรือร้น หรือตื่นเต้นต่อสิ่งรอบข้าง

หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์โดยทันที แต่หากยังรู้สึกว่าไม่ได้ขี้หลงขี้ลืมจนถึงขั้นนั้น แต่มีความรู้สึกว่าช่วงนี้เริ่มหลงๆ ลืมๆ มากยิ่งขึ้น ลองทานอาหารบำรุงสมองดังต่อไปนี้ดูนะคะ

 

อาหารบำรุงสมอง ลดความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์

1. ไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว รวมถึงอาหารที่มีโอเมก้า 3, 6 และ 9 เช่น ปลาทะเล ถั่วเหลือง ผักโขม เป็นต้น

2. โปรตีน เช่น โปรตีนจากเนื้อปลา ไม่ว่าจะปลาทะเล หรือปลาน้ำจืดก็ได้ แต่อย่าลืมทำให้สุกก่อนทาน เพื่อป้องกับพยาธิ และแบคทีเรียต่างๆ

3. วิตามินบี พบมากในถั่ว งา ข้าวโพด ขนมปังโฮลวีต ธัญพืชต่างๆ รวมไปถึงนมด้วย

4. โคลีน พบมากในข้าวกล้อง ข้าวโพด โดยเฉพาะส่วนของจมูกข้าวโพด หรือส่วนที่ใกล้ๆ ซังข้าวโพด และไข่แดง แต่หากใครที่มีปัญหาคอลเสเตอรอลสูง ควรทานไข่แดงน้อยๆ

5. สารเคอร์คูมิน พบได้ในขมิ้น ช่วยต้านการอักเสบ และลดการเสื่อมของสมองจากโรคอัลไซเมอร์ได้

 

สิ่งสำคัญคือ ทานอาหารให้หลากหลายสลับกันไป ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ หลักๆ 3 ข้อนี้ ก็ช่วยให้คุณสุขภาพดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนแล้วล่ะค่ะ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ