“รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู” จะเปิดให้ทดลองใช้บริการ ฟรีข้ามปี เป็นของขวัญให้ประชาชน เริ่มเก็บค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2567 เป็นต้นไป นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งกำกับดูแล การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการเจรจาร่วมกับ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี
ซึ่งบรรลุข้อตกลงร่วมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย ผู้รับสัมปทาน NBM มีความยินดีที่จะขยายช่วงเวลาให้ประชาชนสามารถใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ตลอดสาย ครบทั้ง 30 สถานี และ ที่จอดรถ บริเวณชั้น 1 ของอาคารจอดแล้วจรที่สถานีมีนบุรี ฟรี! ซึ่งจากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 17 ธันวาคม 2566 จะขยายไปจนถึง วันที่ 2 มกราคม 2567 เพื่อเป็นการส่งมอบความสุขส่งท้ายปี และมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชนทุกคน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า มีประชาชนให้ความสนใจและตื่นตัวในการมาทดลองใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู เป็นจำนวนมาก โดยมีผู้มาใช้บริการในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 รวมจำนวน 50,910 คนต่อเที่ยว (ให้บริการช่วงเวลา 15.00-20.00 น.)
และมีผู้มาใช้บริการในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 รวมจำนวน 98,262 คนต่อเที่ยว (ให้บริการช่วงเวลา 06.00-20.00 น.) สะสมสองวันมีผู้ใช้บริการรวม 149,172 คนต่อเที่ยว ซึ่งนับเป็นเรื่องดีที่สะท้อนถึงความพร้อมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางของประชาชน หันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะกันมากขึ้น โดยเฉพาะระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ขนส่งผู้โดยสารได้คราวละมากๆ และใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ก็จะช่วยบรรเทาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกไปได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนยังช่วยให้ประชาชนสามารถควบคุมเวลา วางแผนการเดินทางได้ดียิ่งขึ้น ได้รับทั้งความสะดวก และความปลอดภัยในการเดินทาง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของนโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ที่มุ่งยกระดับความสุขของประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัย การให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ กล่าวเพิ่มเติมว่า รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ที่วิ่งให้บริการในเส้นทางแคราย – มีนบุรี รวมระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 17,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ด้วยขนาด 4 ตู้ต่อขบวน โดยจะใช้ขบวนรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการในระบบและขบวนสำรองรวมทั้งสิ้น 42 ขบวน มีจุดเด่นในการทำหน้าที่เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) เพราะมีสถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายหลักมากถึง 5 สถานี ได้แก่
- สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง)
- สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อกับรถไฟชานเมือง สายธานีรัถยา
- สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- สถานีวัชรพล เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาในอนาคต
- สถานีมีนบุรี เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม (MRT สายสีส้ม)
จึงสามารถขนส่งผู้โดยสารจากพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร เข้าสู่รถไฟฟ้าสายหลักที่วิ่งให้บริการในพื้นที่ใจกลางเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2567 เป็นต้นไป จะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารด้วยอัตราค่าโดยสาร 15 – 45 บาท
ที่จอดรถใกล้ รถไฟฟ้าสายสีชมพู
นอกจากนี้ ยังมีอาคารจอดแล้วจรให้บริการ 1 แห่ง ใกล้กับสถานีมีนบุรี ขนาด 3 ชั้น สามารถรองรับรถยนต์ได้ 3,025 คัน โดยมีพื้นที่จอดรถสำหรับคนพิการ และพื้นที่จอดรถจักรยานยนต์ พร้อมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ อาทิ ลิฟต์โดยสาร ห้องน้ำ ห้องน้ำคนพิการ บันไดหนีไฟ กล้องโทรทัศน์วงจรปิด ฯลฯ ไว้ให้บริการอย่างครบครัน ซึ่งผู้ใช้บริการอาคารจอดแล้วจรสามารถใช้ทางเดินเชื่อมต่อเข้าสู่สถานีมีนบุรีได้โดยสะดวก
การเก็บค่าโดยสาร
โดยตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2567 เป็นต้นไป จะเริ่มเก็บค่าบริการจอดรถในอัตรา 5 บาทต่อชั่วโมง สำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู และอัตราชั่วโมงละ 20 บาท สำหรับผู้ไม่ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู กรณีผู้ถือบัตรแรบบิทสามารถเลือกใช้บริการจอดรถรายเดือนได้ในอัตรา 1,000 บาทต่อเดือน
ทั้งนี้ ยกเว้นค่าบริการจอดรถให้ หากจอดรถไม่เกิน 15 นาที สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู MRT Pink Line Call Center โทร. 0 2617 6111 Line Official: @pinkyellowline หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู และติดตามรายละเอียดและข้อมูลข่าวสาร รฟม. ได้ที่เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทร. 0 2716 4044 “รฟม. ร่วมยกระดับเมืองด้วยโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและนวัตกรรม เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”
ที่มา : การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย