ขนมเบื้องญวนคนรุ่นใหม่อาจจะไม่ค่อยรู้จัก เป็นขนมโบราณ จะกินเป็นของว่างก็ได้ และหากินยาก เพราะมีคนทำขายน้อยมาก แต่ที่จังหวัดระยอง ยังมีขายให้เห็นกันอยู่ เป็นเจ้าเดียวที่ขายมานานกว่า 50 ปี มีลูกค้าประจำทั่วเมืองระยอง ถึงแม้จะอยู่ในช่วงโควิดก็ไม่กระทบกระเทือนมากนักเพราะลูกค้าซื้อกลับบ้าน ยึดอาชีพนี้จนสามารถส่งลูก 2 คน เรียนจบปริญญาตรี
ร้านขนมกระเบื้องป้าต้อย ของนางพุดนิล สัตย์ซื้อ อายุ 66 ปี บอกว่า ตนช่วยแม่ขายขนมเบื้องญวนมาตั้งแต่อายุ 10 กว่าขวบ ยึดอาชีพนี้มากว่า 50 ปีแล้ว ตนเป็นรุ่นที่สองต่อจากแม่ เริ่มจากขายที่หน้าบ้านก่อน อยู่หลังวัดป่าประดู่พระอารามหลวง ถ้าขายอยู่ที่บ้านก็ต้องรอลูกค้าเข้ามาซื้อ จึงเริ่มทำรถสามล้อพ่วงข้างทำเป็นร้านขาย ขี่รถตะเวณขายไปตามตลาดในตัวเมืองระยอง ทำให้มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น โดยใช้วัตถุดิบที่สดใหม่ทุกวันไม่มีตกค้างขายแค่หมด ใส่มะพร้าวก็จะใช้มะพร้าวขูดวันละ 4 กิโลกรัม มาพัดกับน้ำตาลทรายให้เข้ากัน ใส่สีผสมอาหารเล็กน้อยทำให้สีสวยใส่ใบมะกรูดหันฝอย ให้มีกลิ่นหอม ตัวแป้งก็ใช้แป้งข้าวเจ้า กับแป้งมี่ผสมกัน ผสมกับกะทิและเกลือ ใส่ผงขมิ้นให้มีสีเหลืองสวย เวลาทอดแป้งก็ต้องร่อนให้แป้งทั่วกระทะให้เหลืองกรอบ แล้วถึงใส่ไส้มะพร้าว ถั่วงอก หัวไชโป๊วหวานสับ และต้นหอม พับแป้งเข้าหากันแล้วใส่กล่องราคากล่องละ 30 บาท ถ้าลูกค้าจะสั่งแบบแป้งผสมไข่ ก็ราคากล่องละ 35 บาท ขายราคานี้มาสิบกว่าปีแล้วถึงแม่ราคาของจะขึ้นมาบ้างแต่ก็ยังขายราคาเดิม จะขายได้วันละประมาณ 100 กล่อง ส่วนอาจาดสำหรับกินกับขนมเบื้องเราทำทุกวัน แตงกวาก็จะไม่หั่นไว้ให้เหม็นลม จะหั่นไปขายไปทำให้แตงกวากรอบอร่อย นอกจากจะมีขนมเบื้องญวนแล้ว ก็ยังมีกล้วยต้ม ฟักทองต้ม โรยด้วยมะพร้าวขูด และข้าวต้มคลุก ราคากล่องละ 25 บาท เป็นขนมไทย ๆ ปัจจุบันขายอยู่ 2 แห่ง เช้าประมาณ 7 โมงเช้าจะขายอยู่ที่ตลาดเช้าศูนย์การค้าสาย 3 เวลา 09.00 น.จะมาขายที่บริเวณหน้าร้านหมอสุภาวดี ตลาดไฟไหม้ ใจกลางเมืองระยอง ขายหมดประมาณบ่ายโมง
นางพุดนิล ยังบอกอีกว่า ตนยึดอาชีพนี้มาตั้งแต่ยังไม่มีครอบครัว พอมีครอบครัวและมีลูก 2 คน มีรายได้จากการขายขนมเบื้องสามารถส่งลูกทั้งสองคนเรียนจนจบปริญญาตรี และมีงานทำกันแล้ว แต่ลูก ๆ ก็ชอบขายของเหมือนกัน ที่ตั้งชื่อร้านขนมกระเบื้อง เพราะลูกเป็นคนตั้งบอกว่าถ้าชื่อขนมเบื้อง จะธรรมดาไป จึงเป็นชื่อขนมกระเบื้อง เพื่อให้ลูกค้าสงสัยอยากเข้ามาลองชิมนั่นเอง