กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในโลกโซเชียล เมื่อสำนักพระพุทธศาสนาได้ลงพื้นที่ดำเนินการกับร้านขนมมาดามชุบ ในกรณีที่มีการทำขนมอาลัวรูปพระเครื่องออกมา ซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นที่ถกเถียงในสังคมเป็นวงกว้างว่าการกระทำดังกล่าวนั้นถูกต้องหรือไม่
บางกระแสก็บอกว่าสำหรับชาวพุทธแล้วพระเครื่องถือเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าซึ่งไม่สามารถยอมรับได้ในการนำรูปแทนองค์พระพุทธเจ้ามาทำเป็นของกินเล่นเช่นนี้
แต่บางกระแสก็ได้ยกคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นเหตุผล เนื่องจากองค์พระพุทธเจ้าเองนั้นไม่ได้สอนให้ชาวพุทธยึดติดกับสิ่งใดๆ นอกจากพระธรรมคำสอนของท่าน แต่ถึงกระนั้นทางร้านมาดามชุบก็ได้โดนั่งห้ามไม่ให้ทำขนมอาลัวรูปพระเครื่องดังกล่าวไปแล้วเรียบร้อย
ที่จริงแล้วในหลายๆ ประเทศที่มีศาสนาพุทธแพร่หลายอยู่นั้น ทั้งญี่ปุ่น หรือเกาหลี หรือแม้แต่ที่ประเทศจีน ก็มีขนมที่มีรูปทรงเหมือนกับหน้าพระพุทธเจ้าเช่นกัน ซึ่งขนมเหล่านั้นกลับกลายเป็นของฝากที่ทรงคุณค่าในสายตานักท่องเที่ยว กลายเป็นของฝากประจำถิ่นและสร้างมูลค่าให้กับชาวบ้าน แทนที่จะขายขนมธรรมดา แต่สามารถสร้างกิมมิคจากตรงนี้ได้ ทำให้ขนมรูปหน้าพระพุทธเจ้าบางที่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของฝากของสถานที่นั้นๆ ไปเลย ดั่งเช่นขนมพระใหญ่ไดบุตสึ จากเมืองคามาคุระ จังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น นั่นเอง
ซึ่งถ้ายึดตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ นั้นการทำขนมรูปพระพุทธเจ้าหรือรูปพระเครื่องนั้นก็ไม่น่าจะผิดไปจากหลักธรรมวินัยจริงๆ จะผิดเพียงอย่างเดียวก็คงจะผิดใจของผู้ที่มองในด้านลบ ซึ่งที่จริงแล้วในเมืองไทยเองนั้นมีหลายสิ่งหลายอย่างของศาสนาที่ค่อนข้างจะบิดเบี้ยวมากกว่าขนมอาลัวรูปพระเครื่องเสียอีก ซึ่งทางเราก็หวังว่าการปฏิบัติต่อร้านมาดามชุบของทางสำนักงานพระพุทธศาสนานี้จะช่วยกระตุ้นมาตรฐานในด้านการดำเนินงานตรวจสอบความผิดปกติของพระพุทธศาสนาในเมืองไทยให้ทั่วถึงในกรณีอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
>> 6 ผลผลิตสุดปังที่มีไอเดียจาก “พระพุทธศาสนา”