ก้าวไกล เปิด 2 คำถามถึง "เศรษฐา" ในฐานะนายกฯ จะรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับ ปชช.หรือไม่

Home » ก้าวไกล เปิด 2 คำถามถึง "เศรษฐา" ในฐานะนายกฯ จะรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับ ปชช.หรือไม่

วันที่ 30 สิงหาคม 2566 เพจเฟซบุ๊ก พรรคก้าวไกล – Move Forward Party โพสต์ข้อความระบุว่า 2 คำถามถึง ‘เศรษฐา’ ในฐานะนายกฯ ที่ได้ให้สัญญากับประชาชน กรณีการจัดให้มีประชามติ เดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

ท่านยังยืนคำเดิมหรือไม่ ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก จะมีมติออกมาเพื่อให้มีการจัดประชามติ เพื่อเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

หากยืนยันจะมีการจัดประชามติเพื่อเดินหน้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คำถามที่ใช้จะเป็นอย่างไร

(1) วันนี้ 30 ส.ค. พรรคก้าวไกลได้เสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยอาศัยข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 54 (2) เปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนฯ โดยเลื่อนวาระข้อที่ 5.33 ขอให้สภาผู้แทนราษฎรแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขึ้นมาพิจารณาเป็นอันดับแรกในวันนี้

(2) พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอญัตติ ได้ระบุว่าประเด็นเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในการขับเคลื่อนของภาคประชาชนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนมาแล้วกว่า 2 แสนรายชื่อ เพื่อเสนอให้จัดประชามติเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

(3) จึงเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องถกประเด็นดังกล่าวในสภาผู้แทนราษฎร ที่มีตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองและทุกชุดความคิด โดยพริษฐ์ให้เหตุผลในการเลื่อนระเบียบวาระ 3 ข้อ ประกอบด้วย :

(4) เหตุผลที่หนึ่ง ประเทศของเราควรมีความชัดเจนโดยเร็วเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ – ในมุมหนึ่ง ประเด็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นประเด็นที่กำลังถูกถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ แม้ในที่สุดแล้ว กกต. จะมีคำสั่งให้การใช้รายชื่อในระบบออนไลน์ทำไม่ได้ แต่ประชาชนก็มีความตื่นตัวกันเข้าชื่อในกระดาษได้มากถึง 2 แสนรายชื่อภายในไม่กี่วัน นับเป็นสถิติใหม่ในการล่ารายชื่อของภาคประชาชน แต่ในเมื่อกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจต้องอาศัยเวลากว่า 2 ปี การมีความชัดเจนโดยเร็วว่าประเทศจะเดินหน้าในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่อย่างไร จึงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

(5) เหตุผลที่สอง ความชัดเจนดังกล่าวไม่ควรเป็นการรอคณะรัฐมนตรีฝ่ายเดียว เพราะไม่ว่า ครม. จะตัดสินใจเมื่อไหร่อย่างไร การพิจารณาประเด็นดังกล่าวในพื้นที่ของสภาฯ ยังคงมีความหมาย
– หาก ครม. มีความเสี่ยงจะไม่ได้ข้อสรุปโดยเร็วในการประชุม ครม. นัดแรก ก็เป็นเหตุผลให้ควรใช้กลไกในสภาฯ ดำเนินการคู่ขนาน ตาม พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 9(4)
– แต่หาก ครม. มีความตั้งใจเดินหน้าหาข้อสรุปโดยเร็ว ยิ่งเป็นเหตุต้องให้ถกประเด็นนี้ในสภาตั้งแต่วันนี้ เพราะปีศาจอยู่ในรายละเอียด และรายละเอียดที่จะกำหนดชะตากรรมหรือหน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่ที่คำถามประชามติ ดังนั้นจึงควรต้องใช้พื้นที่สภาฯที่มีตัวแทนทุกชุดความคิด มาถกกันก่อนถึงข้อเสนอต่างๆเรื่องคำถามประชามติ และข้อดี-ข้อเสีย ของแต่ละทางเลือก ก่อนที่ ครม. จะตัดสินใจ

(6) เหตุผลที่สาม การพิจารณาญัตติดังกล่าวไม่ควรจะรบกวนเวลาของสภาฯ มากเกินไป เพราะไม่ได้เป็นญัตติที่เสนอคำถามประชามติใหม่ แต่เป็นญัตติที่เสนอคำถามประชามติที่หลายพรรคการเมืองเคยเห็นชอบไปแล้วเมื่อไม่ถึงปีที่แล้ว ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2565 ญัตติดังกล่าวถูกเสนอโดย 2 พรรค คือพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย และเมื่อมีการลงมติ ก็ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยในบรรดา 324 สส. ที่เห็นชอบต่างก็มาจากทุกพรรคการเมืองหลักจากสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว ซึ่งมีหลายท่านที่นั่งอยู่ในที่ประชุมวันนี้ด้วย พรรคการเมืองและ สส. ส่วนใหญ่คงจะใช้เวลาไม่นานมากในการพิจารณาญัตติดังกล่าว เพื่อยืนยันจุดยืนเดิมที่ตัวเองได้เคยลงมติไว้

(7) ด้าน ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ขอใช้สิทธิพาดพิง ในฐานะที่ได้รับหน้าที่ผู้ประสานงานของพรรคก้าวไกล โดยระบุว่าสัปดาห์ก่อนหน้านี้ตนอยู่ในห้องประชุม เดินไปคุยกับทุกพรรคการเมืองถึงเรื่องนี้แล้ว ดังนั้น ที่อ้างว่าไม่มีการพูดคุยตกลงกันมาก่อนนั้นเป็นเรื่องที่ทำให้ตนและพรรคก้าวไกลเสียหาย ทั้งนี้ ตนเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงมติในเรื่องนี้ด้วยซ้ำ และเรื่องนี้จะดำเนินไปได้อย่างราบรื่นหากเพียงพรรคเพื่อไทยรวมกับพรรคก้าวไกลทำสิ่งเดียวกันกับที่เราเคยทำเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาในสภาฯ สมัยที่ 25

(จากนั้น ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นใช้สิทธิพาดพิง ระบุว่าเรื่องของพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลนั้น วันนี้เป็นคนละเวลา คนละเหตุการณ์ แต่ก็อย่าคิดว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ทำอะไร เพราะเมื่อวานนี้ในการประชุมพรรค นายกรัฐมนตรีบอกแล้วว่าไม่เกินสองสัปดาห์จะมีการพูดคุยเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนถกเถียงกันอยู่ แต่ความเดือดร้อนปากท้องของประชาชนสำคัญกว่าการถกเถียงประเด็นสาธารณะทั่วไป จึงไม่อยากให้หารือกันซ้ำซาก และอย่าพาดพิงถึงพรรคเพื่อไทยอีกเลย

(9) ทั้งนี้ ผลการลงมติว่าจะให้มีการเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมหรือไม่ ได้ตกไปด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 143 และไม่เห็นด้วย 262 เสียง

(10) ต่อมา พริษฐ์แถลงข่าว ระบุว่าพรรคก้าวไกลน้อมรับผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ในเมื่อวันนี้เราสูญเสียโอกาสในการถกเรื่องประชามติในสภาฯ จึงเห็นว่ายิ่งมีความจำเป็นที่นายกฯ คนใหม่และรัฐบาลใหม่จะให้ความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จึงมีคำถาม 2 ข้อไปถึงเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่หลายโอกาสก็ได้พูดถึงความสำคัญของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

(11) คำถามที่หนึ่ง ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ได้ให้สัญญากับประชาชน ท่านยังยืนคำเดิมหรือไม่ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก จะมีมติ ครม. ออกมาเพื่อให้มีการจัดประชามติเพื่อเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ต้องถามเช่นนี้เพราะแม้นายกฯ เคยออกมายืนยันหลายครั้ง แต่จากท่าทีและคำอภิปรายทั้งในและนอกสภาฯของ สส. บางคนในพรรคร่วมรัฐบาล สัมผัสได้ว่ามีบางส่วนที่อาจไม่เห็นด้วยกับการจัดประชามติโดยเร็วเพื่อเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

(12) คำถามที่สอง เรื่องคำถามประชามติ หากยืนยันว่าจะมีการจัดประชามติเพื่อเดินหน้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คำถามที่ใช้จะเป็นอย่างไร พรรคก้าวไกลมองว่าคำถามเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากต้องกระชับ ตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย ยังควรยืนยัน 2 หลักการสำคัญว่าต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง 100%

เพราะเป้าหมายต้องไม่ใช่แค่การมีรัฐธรรรมนูญฉบับใหม่โดยชื่อ แต่ต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ไม่เพียงมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยทั้งในแง่กระบวนการและเนื้อหา แต่ต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สะท้อนฉันทามติใหม่ของสังคม โอบรับความหลากหลาย ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน 100%

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ