ก้าวไกล เปิดนโยบายสุขภาพก้าวหน้า ชู‘2 เพิ่ม-2 ลด’ แก้บุคลากรแพทย์ทำงานหนัก

Home » ก้าวไกล เปิดนโยบายสุขภาพก้าวหน้า ชู‘2 เพิ่ม-2 ลด’ แก้บุคลากรแพทย์ทำงานหนัก


ก้าวไกล เปิดนโยบายสุขภาพก้าวหน้า ชู‘2 เพิ่ม-2 ลด’ แก้บุคลากรแพทย์ทำงานหนัก

พิธา เปิดนโยบายสุขภาพไทยก้าวหน้า ชูนโยบายก้าวไกล ‘2 เพิ่ม – 2 ลด’ แก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนัก-คนไข้ล้นโรงพยาบาล ดูแลสุขภาพจิตครบวงจร

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2566 ที่โรงพยาบาลเขาพนม อ.เขาพนม จ.กระบี่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค เปิดตัวชุดนโยบายสุขภาพไทยก้าวหน้า และร่วมพูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และผู้เข้าใช้บริการโรงพยาบาลเขาพนม เพื่อสอบถามถึงสภาพการทำงาน และการให้บริการของโรงพยาบาล

นายพิธา กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของระบบสาธารณสุขไทยในปัจจุบัน คือ บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนัก และมีเวลาพักผ่อนน้อย สาเหตุสำคัญเพราะจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นจนล้นโรงพยาบาล หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ระบบสาธารณสุขจะพังทลาย ทั้งผู้ป่วยและผู้มีหน้าที่รักษาพยาบาล จะเกิดวิกฤตสุขภาพด้วยกันทุกฝ่าย

การออกแบบนโยบายสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดจึงสำคัญมาก เพราะต่อให้เรามีนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ดีเลิศแค่ไหน แต่ประเทศไทยที่เข้มแข็งและพร้อมเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ไม่สามารถสร้างได้ หากคนไทยมีสุขภาพอ่อนแอ

ดังนั้น ทางออกของเรื่องนี้ จำเป็นต้องใช้หลักการ 2 ลด 2 เพิ่ม ประกอบด้วย ลดที่ 1 คือลดความเหลื่อมล้ำ เพราะปัจจุบันแพทย์ส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วยสัดส่วนแพทย์ต่อคนไข้ 1:600 คน ขณะที่แพทย์ในจังหวัดอื่นๆ เช่น จ.บึงกาฬ มีสัดส่วนแพทย์ต่อคนไข้ถึง 1:5,000 คน หรือ จ.กระบี่ มีสัดส่วนแพทย์ต่อคนไข้ 1:3,000 คน สะท้อนความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรอย่างชัดเจน ประชาชนแต่ละพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงคุณภาพการให้บริการที่ใกล้เคียงกัน

ลดที่ 2 คือ ลดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนการแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มคนเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ลดชั่วโมงทำงาน จะทำให้บุคลากรไหลออกจากระบบอยู่ดี

ส่วน 2 เพิ่ม คือการทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีตั้งแต่ต้น และเพิ่มช่องทางอื่นๆ ในการรักษา ประกอบด้วย เพิ่มที่ 1 เพิ่มความครอบคลุมในการรักษา ไม่ใช่เพียงการรักษาสุขภาพทางกายเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงสุขภาพทางใจ และเพิ่มที่ 2 เพิ่มแนวทางป้องกัน-รักษา-ประคับประคอง เช่น การคัดกรองมะเร็งให้ครอบคลุมและทำได้ทันที จากปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง 6 ชนิด ต้องมีใบสั่งจากแพทย์ก่อน ทำให้ใช้เวลายาวนานกว่าจะพบโรคและรับการรักษา รวมถึงเพิ่มวิธีการรักษาที่หลากหลายสำหรับโรคบางชนิด เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มแนวทางการประคับประคองดูแลผู้ป่วยติดเตียง

ด้าน น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ในอนาคตเห็นว่า อสม. ไม่ควรเป็นเพียงอาสาสมัคร แต่สามารถทำเป็นอาชีพได้ โดยเพิ่มเติมการอบรมความรู้ และเพิ่มค่าตอบแทนให้เหมาะสมตามชิ้นงาน นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังพร้อมผลักดันให้ทุก รพ.สต. มีหมอประจำ หรืออย่างน้อยต้องมีบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อเพิ่มทางเลือกของประชาชนในการเข้าถึงแพทย์ และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาล รวมถึงมีนโยบายสร้างแรงจูงใจให้คนดูแลสุขภาพ ผ่านการให้รางวัลแก่คนสุขภาพดี

อย่างไรก็ตาม เราตระหนักดีว่าการดูแลสุขภาพเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาพเศรษฐกิจของประชาชน คนร่ำรวยอาจมีเวลาและทรัพยากร เพื่อใช้ดูแลสุขภาพของตัวเองได้มากกว่าคนยากจน ดังนั้น ขอยืนยันว่าหากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล เราจะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ต้นตอ ทั้งในเชิงการเมืองและเชิงเศรษฐกิจ ตามที่เราเคยประกาศว่า กาก้าวไกลประเทศไทยไม่เหมือนเดิม การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต

สำหรับชุดนโยบายสุขภาพไทยก้าวหน้า ของพรรคก้าวไกล ต้องการลดปริมาณงานของบุคลากรทางการแพทย์ ควบคู่กับการลดจำนวนคนไข้ที่ไปรักษาที่โรงพยาบาล ต้องกำหนดชั่วโมงการทำงานบุคลากรทางการแพทย์ไม่เกิน 60 ชม./สัปดาห์ เพิ่มค่าตอบแทน ค่าเวร ค่าโอทีบุคลากรทางการแพทย์เป็นธรรม สร้างแนวหน้าสาธารณสุข ต่อยอดจากงาน อสม. เป็น อสม. เฉพาะทาง โดยจ่ายค่าตอบแทนตามชิ้นงาน

สำหรับด้านสุขภาพกายดี จะมีนโยบายตรวจสุขภาพประจำปี ฟรีทั้งค่าตรวจและค่าเดินทาง รวมคัดกรองมะเร็ง 6 ชนิดฟรี สำหรับกลุ่มเสี่ยง เพิ่มวัคซีนฟรี ลดการป่วยทั้งเด็กและผู้สูงวัย เช่น วัคซีนไข้เลือดออกและปอดอักเสบ สิทธิ 30 บาทครอบคลุมแว่นตาฟรีถึง 18 ปี ประชาชนที่รักษาสุขภาพดี มีรางวัล โดยการสะสมแต้มแลกของรางวัล

ด้านสุขภาพใจดี ตรวจสุขภาพประจำปีต้องมีตรวจสุขภาพจิตด้วย เปิดคลินิกเยาวชน ปรึกษาได้ ไม่ต้องรายงานผู้ปกครอง-โรงเรียน ดูแลสุขภาพจิตครบวงจร เพิ่มบุคลากร-ขยายบัญชียา-ใช้เทคโนโลยี สร้างแนวหน้าสุขภาพจิต ช่วยดูแล บำบัด ฟื้นฟูสุขภาพจิตของคนใกล้ตัว

ด้านการเพิ่มทางเลือกในการรักษาใกล้บ้าน ต้องยกระดับ รพ. สต. และศูนย์สาธารณสุขชุมชน และปลดล็อกระบบการแพทย์ออนไลน์ Telemedicine ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงพยาบาล ลดความแออัดในโรงพยาบาล มีห้องฉุกเฉินกันไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน ส่งต่อ-หาเตียงแบบไร้รอยต่อด้วยศูนย์รวมเตียง-ระบบเชื่อมข้อมูลสุขภาพ เพิ่มยอดบริจาคอวัยวะเชิงรุก ถามทุกครั้งที่ทำบัตรประจำตัวประชาชน

ด้านการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล มีกองทุนดูแลผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยติดเตียง งบประมาณเฉลี่ย 9,000 บาทต่อคนต่อเดือน ตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในชุมชน อย่างน้อยอำเภอละหนึ่งแห่ง ตั้งธนาคารอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน นอกจากนี้ ยังมีนโยบาย ลาไปบอกลา เพิ่มสิทธิวันลาดูแลพ่อ-แม่ที่ป่วยระยะสุดท้าย และนโยบายตายดี สิทธิจบชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี สำหรับคนป่วยทางกายที่รักษาไม่ได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ