“ศิริกัญญา” ห่วง ราคาสินค้าทยอยปรับขึ้นแบบหน้ากระดาน ส่งผลเศรษฐกิจชะลอตัว เสนอรัฐบาลแก้ปัญหาค่าครองชีพ เติมเงินเข้ากระเป๋าปชช.โดยตรง 1,000 บาทต่อเดือน
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 8 พ.ค. ที่อาคารอนาคตใหม่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีปัญหาสินค้าราคาแพงว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือน เม.ย. ซึ่งลดลงมาเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 4.65% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.2564
ซึ่งเดือน เม.ย.มีการปรับขึ้นราคาสินค้าแบบหน้ากระดาน 270 กว่ารายการ มีรายการใหม่ที่เพิ่งปรับขึ้น 182 รายการ แต่เมื่อเข้าสู่เดือนพ.ค.พบว่าสินค้ากำลังทยอยปรับราคาขึ้นแบบหน้ากระดาน เช่น ไข่ไก่เบอร์ 4 ขึ้นเป็น 4 บาทต่อฟอง หมูเนื้อแดง ขึ้นไปแตะ 200 บาทต่อกิโลกรัม มาม่าที่แม้รัฐบาลจะขอร้องผู้ประกอบการให้ตรึงราคาแต่ก็อั้นไม่ไหวแล้ว โดยมีทีท่าจะปรับขึ้นเป็น 7 บาทต่อซอง รวมถึงเครื่องดื่มชูกำลัง เบียร์ น้ำมันปาล์มขวด น้ำมันดีเซล แก๊สหุงต้ม
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า การขึ้นราคาสินค้าแบบหน้ากระดานน่ากังวลใจเป็นอย่างยิ่ง และพิสูจน์ให้เห็นว่ามาตรการที่รัฐบาลใช้อยู่ตอนนี้ คือการอุดหนุนเฉพาะบางสินค้าจนอุดหนุนไม่ไหว เพราะไม่ได้มีปัญหาเฉพาะราคาพลังงานเท่านั้น แต่สงครามยูเครน-รัสเซีย ยังทำให้ราคาอาหารสัตว์และสินค้าอื่นๆ พุ่งขึ้นไปด้วย และนี่จะไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการขึ้นราคาสินค้า ทั้งนี้ หากดูฝั่งเงินเฟ้อที่เป็นราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่ายขึ้นเพียงแค่ 4.65% เท่านั้น
แต่ฝั่งต้นทุนของผู้ประกอบการ ขึ้นไปถึง 12.8% แล้ว เท่ากับว่าการที่ราคาสินค้ายังไม่ขึ้นตอนนี้ ทางฝั่งผู้ประกอบการเป็นผู้แบกรับ แต่ไม่สามารถส่งผ่านราคามาที่ผู้บริโภคได้ เนื่องจากกำลังซื้อหดหายหรือหากขึ้นราคาก็ขายไม่ได้อยู่ดี จึงเป็นภาวะที่เศรษฐกิจน่าจะมีการชะลอตัวเป็นอย่างมากจากปัญหาค่าครองชีพ ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาแค่ผู้บริโภค แต่ผู้ประกอบการที่รับสินค้ามาขาย เมื่อทางต้นทางขึ้นราคาสินค้า แต่ไม่สามารถขึ้นราคาต่อได้ก็จะเป็นความยากลำบากสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยที่จะทำมาหากินในช่วงเวลาแบบนี้
“สิ่งที่เราเรียกร้องและอยากฝากคำถามไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม คือ ต่อจากนี้จะมีมาตรการอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาค่าครองชีพของประชาชนอีกหรือไม่ ท่านจะทำเพียงแค่ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการเพื่อตรึงราคาสินค้าเพียงอย่างเดียวต่อไปหรือไม่ เพราะเราพบแล้วว่ามันทำไม่ได้จริง
แม้แต่เงินที่จะใช้อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลตอนนี้ก็หมดลงแล้ว กองทุนน้ำมันติดลบไปแล้ว 56,000 ล้านบาท ถึงจะมีผู้เสนอให้ลดภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติมก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะสถานะทางการคลังล่าสุด ไตรมาสแรกของปี 2565 พบว่า เงินที่รัฐจัดเก็บได้ สูงขึ้นกว่าปีที่แล้วเพียงแค่พันกว่าล้านบาท ถ้ารัฐตัดสินใจลดภาษีสรรพสามิตลงอีกก็อาจจะมีปัญหาเรื่องงบประมาณได้” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า เราจึงเสนอว่า จำเป็นต้องมีการเติมเงินทางฝั่งรายได้ใส่กระเป๋าประชาชน โดยการช่วยเหลือค่าครองชีพโดยตรง 1,000 บาทต่อเดือน เป็นเงินสดหรือเติมผ่านแอปฯ แบบที่รัฐบาลถนัดก็ได้ ตอนนี้ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว เนื่องจากสินค้าขึ้นราคาหน้ากระดาน ไม่สามารถช่วยเหลือเป็นกลุ่มๆ แบบเดิมอีกต่อไป ถ้าเราเติมค่าครองชีพให้ประชาชน ธุรกิจรายเล็กรายย่อยที่รับสินค้ามาราคาแพงอยู่แล้วก็จะสามารถขายราคาที่แพงขึ้นได้อีกเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าเศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ได้อยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะงักงันแบบทุกวันนี้
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า ต้นเดือนมิ.ย. จะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีจงบประมาณ พ.ศ.2566 วาระที่ 1 ซึ่งจะเป็นงบก้อนสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อจัดสรรงบฯ มา 4 ปีแล้วยังไม่ตรงใจ ตรงจุด ตรงเป้าแบบที่ประชาชนต้องการ พรรคก้าวไกลขอเชิญทุกคนเข้าร่วมโครงการ Hackathon งบ 66 งบประมาณแบบไหนที่ประชาชนอยากได้ ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 28-29 พ.ค. ท่านใดที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กของพรรคก้าวไกล