ก้าวไกล จี้รัฐแก้ปัญหา 'ค่าไฟแพง' ถามที่มาเรื่องค่าบริการรายเดือน

Home » ก้าวไกล จี้รัฐแก้ปัญหา 'ค่าไฟแพง' ถามที่มาเรื่องค่าบริการรายเดือน



ก้าวไกล จี้ รัฐเร่งแก้ปัญหาค่าไฟแพง ถาม ค่าบริการรายเดือนมีที่มาอย่างไร ด้าน “รมว.พลังงาน” แจง เป็นต้นทุนการบำรุงรักษามิเตอร์

5 ม.ค. 2566 – ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้ถามทั่วไปเรื่องค่าไฟฟ้าราคาแพง โดยถาม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ว่า รัฐธรรมนูญหมวด 5 มาตรา 56 ระบุว่า

รัฐต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่อประชาชนอย่างทั่วถึง รัฐจะทำการใด ๆ ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือรัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 50 จะกระทำไม่ได้ และการเรียกเก็บจะให้เป็นภาระต่อประชาชนไม่ได้ ประชาชนต้องเข้าถึงอย่างเป็นธรรมเสมอภาค ซึ่งค่าบริการรายเดือนในบิลค่าไฟ จำนวน 38.22 บาท ในรายละเอียดบอกว่าเป็นค่าพิมพ์บิล ค่ารักษามิเตอร์ และค่าจัดส่งเอกสาร ทั้งที่ ประชาชนจ่ายค่ามิเตอร์ไปแล้ว เงินประกันก็อยู่ที่การไฟฟ้าแล้ว ส่วนบิลเป็นเรื่องปกติที่หน่วยงานจะต้องทำบิลส่งอยู่แล้ว ทั้งนี้ จากการตรวจสอบมิเตอร์ในประไทยมีประมาณ 50 ล้านมิเตอร์ คิดเป็นเงินจำนวน 1,911 ล้านบาทต่อเดือน ที่ประชาชนจะต้องจ่าย

ตนถามว่า ค่าบริการรายเดือนดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร จะจัดการไม่ให้มีได้อย่างไร เพราะไม่มีความเหมาะสม ไม่มีความเป็นธรรมกับประชาชน และเป็นการเก็บค่าบริการเกินควร นอกจากนี้ ตนอยากเห็นตัวเลขโครงสร้างพลังงานว่ามีเกินความจำเป็นเท่าไหร่ และในระยะเร่งดวน มีแนวทางลดค่าไฟฟ้าให้ยั่งยืนได้อย่างไร

นายสุพัฒนพงษ์ ชี้แจงว่า ค่าบริการรายเดือนเป็นการพิจารณาโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ดูเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบริการ และคำนวณจากปริมาณการใช้ไฟ นอกจากนี้ ในส่วนของมิเตอร์จะต้องมีการบำรุงรักษาดูแล ถ้ามิเตอร์เสีย การจ่ายไฟจะได้รับผลกระทบ จึงต้องมีการบำรุงรักษา เพื่อไม่ให้มิเตอร์เสื่อมสภาพเร็ว ซึ่งส่วนนี้มีค่าใช้จ่ายจึงมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ไปตรวจสอบว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งได้รับการยืนยันว่า เป็นตัวเลขที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม เมื่อท่านสอบถามมาตนจะสอบถามให้อีกครั้ง และอาจให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เชิญคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาชี้แจง เพราะมีหน้าที่ดูแลอัตราค่าบริการที่เหมาะสม

ส่วนกำลังการผลิตที่เกินความจำเป็นนั้น เชื่อว่าปีนี้ตัวเลขจะต่ำกว่า 30% ซึ่งประเทศที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมในการดึงดูดอุตสาหกรรมต่างต้องมีความพร้อมเรื่องไฟฟ้า กำลังการผลิตสำรองต้องสร้างความมั่นใจว่าเปิดปุ๊บติดปั๊บ ต้องชมการไฟฟ้าที่ช่วยกันรักษาคุณภาพการให้บริการ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในระดับต้น ๆ เราน่าจะเป็นลำดับสองของภูมิภาคนี้รองจากสิงคโปร์

ดังนั้น เราต้องมีกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่ายไฟ ส่วนโรงไฟฟ้าที่ไม่มีการผลิตเลยนั้น ต้องไปดูด้วยว่าอยู่ในแผนที่เราจะปลดระวาง และเพิ่มพลังงานสะอาดใส่เข้าไปหรือไม่ ขณะที่ การแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน เราให้ความสำคัญ และเข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน โดยพยายามหาช่องทางว่าจะรักษาอัตราค่าไฟฟ้า สำหรับกลุ่มเปราะบาง และใช้ไฟไม่มากได้อีกหรือไม่ อยากให้สบายใจว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพลังงาน พยายามหาช่องทางลดหรือแก้ปัญหาอยู่ตลอด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ