ก้าวไกล จัดประกวด เบียร์ชิงแชมป์ ประเทศไทย ใช้เกณฑ์เดียวกับ อเมริกา

Home » ก้าวไกล จัดประกวด เบียร์ชิงแชมป์ ประเทศไทย ใช้เกณฑ์เดียวกับ อเมริกา


ก้าวไกล จัดประกวด เบียร์ชิงแชมป์ ประเทศไทย ใช้เกณฑ์เดียวกับ อเมริกา

ก้าวไกลแถลงข่าว จัดประกวด เบียร์ชิงแชมป์ ประเทศไทย แข่งเหมือน F1 ใช้เกณฑ์แบบอเมริกา คนแห่สมัคร ล้นหลาม คึกคักเป็นอย่างมาก

วันที่ 24 เม.ย.2565 บริษัทส้มจี๊ด เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ก่อตั้งโดยคณะก้าวหน้า ร่วมกับพรรคก้าวไกล แถลงข่าวเปิดตัวโครงการประกวดเบียร์ชิงแชมป์ประเทศไทย หรือ B.A.D Beer Contest เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายย่อย สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตเบียร์ และเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า ของพรรคก้าวไกล ที่จะมีการโหวตลงมติรับหรือไม่รับหลักการในสมัยประชุมสภาที่จะเปิดวันที่ 22 พ.ค.นี้

ด้านนายนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ กรรมการบริษัทส้มจี๊ดฯ กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการแข่งจะเป็นแบบ ‘กรังด์ปรีซ์’ คล้ายการแข่งคล้าย F1 แบ่งการแข่งทั้งหมดเป็น 5 รอบ ตามชนิดเบียร์ 5 ประเภท แล้วนำคะแนนมารวมกันเพื่อหาผู้ชนะ แข่งครั้งแรก วันที่ 28 พ.ค. ชนิด IPA, ครั้งที่ 2 วันที่ 23 ก.ค. แข่งเบียร์ชนิด Stout ครั้งที่ 3 วันที่ 27 ส.ค. แข่ง German Wheat Beer ครั้งที่ 4 วันที่ 22 ตค. Fruit Beers และครั้งสุดท้าย วันที่ 10 ธ.ค.เป็นต้น

เมื่อรวมคะแนนจาก 5 รอบ ผู้ชนะจะได้รับรางวัลเป็นการสนับสนุนให้ผลิตเบียร์ได้ในสเกลอุตสาหกรรมคือ 5,000 ลิตร เพื่อบรรจุขวดและกระจายขายทั่วไปได้ตามกฎหมาย นอกจากนี้ ผู้ชนะอันดับที่ 1-3 จะได้รับการสนับสนุนจากสถาบันอุดมคติให้ได้เรียนในหลักสูตรที่แอดวานซ์สำหรับการต้มเบียร์ ส่วนผู้ชนะในแต่ละรอบย่อย 5 สนาม จะได้ต้มเบียร์ในสเกล 60 ลิตร เพื่อทดลองว่าจะสามารถทำสเกลใหญ่เพื่อพัฒนาต่อไปได้หรือไม่

ขณะนี้มีผู้สมัครมาแล้ว 44 คน แบ่งเป็น 21 ทีม จาก 14 จังหวัด ที่จะส่งเบียร์เข้าประกวดครบทั้ง 5 ประเภท ที่เหลือจะเป็นการส่งประกวดเฉพาะบางสไตล์ที่ถนัดและอยากทำให้ดีที่สุดในชนิดที่ตนสนใจ เชื่อว่ายังมีผู้ประกอบการรายย่อยที่สนใจเข้าร่วมอีกมาก แต่ตอนนี้การประกวดชนิด IPA สมัครเข้ามาเต็มแล้ว เนื่องจากกรรมการที่ตัดสินเบียร์ได้ยังมีจำกัด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากผู้สมัครก็มีความน่าสนใจ ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 36 ปี มีประสบการณ์ต้มเบียร์เฉลี่ย 3.8 ปี และเกือบทั้งหมดไม่เคยมีประสบการณ์เข้าร่วมประกวดแนวนี้ ในอนาคตเราหวังว่าจะรับผู้สมัครได้มากขึ้น ตอนนี้เรามีข้อจำกัดเรื่องจำนวนกรรมการ เราอยากสร้างพื้นที่เพื่อทลายความไม่ยุติธรรมที่คอยกดผู้ผลิตรายย่อย เพราะถ้าทำได้ เราเชื่อว่ารายได้จะลงสู่ชุมชนและท้องถิ่นได้มากขึ้น

นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการจัดการประกวดเบียร์ครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าการผ่านร่างกฎหมาย การผลักดันในสภาอย่างเดียวอาจเป็นเรื่องยาก จึงควรขับเคลื่อนนอกสภาด้วย ในปัจจุบันมีผู้ผลิตเบียร์มากมาย ทั้งต้มกินเองที่บ้านหรือมีเป้าหมายเพื่อการค้า

การจัดประกวดจะช่วยยกระดับเรื่องเรื่ององค์ความรู้ และหากสามารถปลดล็อกการผลิตเหล้าเบียร์ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่สามารถนำผลิตภัณฑ์การเกษตรมาแปรูปได้ รวมถึงเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรอง เพราะการนำมาเก็บในขวดมีแต่มูลค่าที่มากขึ้น ไม่ใช่ต้องเอามาเททิ้งประท้วงกันอย่างในปัจจุบัน

โดย B.A.D ย่อมาจาก Break All Deadlocks เราอยากปลดล็อกทุกอย่าง คนไม่เห็นด้วย มักพูดว่า เบียร์ไทยมันเลว เบียร์ไทยมันพัฒนาไม่ได้ มันจริงไหม ก็ต้องมาพิสูจน์กัน จึงเป็นที่มาของการที่ก้าวไกลและบริษัทส้มจี๊ด เริ่มจัดการประกวดเบียร์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ทั้งนี้วงการเบียร์ปัจจุบันไปไกลกว่าที่สมัยตนเริ่มต้มเบียร์ใหม่ ๆ มาก หนึ่งในการประกวดรอบย่อยจะมีการประกวด Fruit Beers ที่มีวัตถุดิบจากผลไม้ด้วย เมื่อก่อนทุกฤดูผลไม้จะเห็นภาพเกษตรกรเอาผลไม้ไปเททิ้ง ตนเชื่อว่าการประกวดนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้นำวัตถุดิบไปแปรรูปมากขึ้น เหมือนที่เกิดขึ้นในอเมริกา หรืออย่างวงการเบียร์เยอรมัน จะมีเบียร์ของแคว้นต่างๆ เป็นลักษณะที่คล้ายกับไทยที่มีเหล้าภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน แตกต่างกันไป

การประกวดเบียร์อาจเป็นจุดเริ่มต้น ต่อไปอาจมี B.A.D.สาโท ,B.A.D สุราท้องถิ่น และหวังว่าวันหนึ่งจะสามารถจัดหมวดหมู่เครื่องดื่มอย่างสาโทให้มีไกด์ไลน์ของไทยในการผลิตในอนาคตได้

สำหรับเรื่องหลักเกณฑ์การตัดสิน การแข่งขันนี้ใช้มาตรฐานการประกวดเบียร์ของอเมริกา ซึ่งในไทยก็มีกรรมการที่สอบผ่านการเป็นผู้ตัดสินจำนวนหนึ่ง รวมถึงตนด้วย การชิมเบียร์ว่าอร่อยหรือไม่อาจขึ้นกับรสนิยมความชอบ แต่การประกวดจะมีมาตรฐานกลางของเบียร์แต่ละประเภท จะดูจากคุณสมบัติ เช่น สีเบียร์ ถ้าประกวดเบียร์ดำ สีก็ต้องไม่เหลือง โฟมเป็นอย่างไร กลิ่นตรงหรือไม่ รวมถึงรสสัมผัส คะแนนรวม คือ 50 คะแนน

การตัดสินจะเน้นความตรงสไตล์มากที่สุดตามมาตรฐานการตัดสินเบียร์ การแพ้ชนะอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดในการประกวด แต่มุ่งเน้นเรื่องการช่วยกันพัฒนาองค์ความรู้ เพราะผู้ประกวดทุกคนจะได้รับการแนะนำหรือการเป็นที่ปรึกษาเพื่อนำกลับไปเพื่อพัฒนาเบียร์ของตนเอง ซึ่งวงการเบียร์ของอเมริกาที่เติบโตขึ้นก็มาจากแนวทางลักษณะนี้

โดยขณะนี้ ตนได้ทำแคมเปญ #ริ้บบิ้นส้มล้มผูกขาด จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการทุกร้าน หรือผู้สนใจช่วยกันแจกริบบิ้นสีส้มให้ลูกค้าและติดลูกค้าเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ต้องการให้ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าผ่านสภา แคมเปญนี้สร้างขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นพลังของเราทุกคนในการต่อต้านการดำรงอยู่ของกฎหมายที่เอื้อให้เกิดการผูกขาดและกีดกันการแข่งขันทางการค้า

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ