ก้าวไกลเปิดตัว “พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” อดีตผอ. NIA ลงสนามเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่

Home » ก้าวไกลเปิดตัว “พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” อดีตผอ. NIA ลงสนามเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่

พรรคก้าวไกลเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่พรรคจะส่งลงสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ คือ “พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และกรรมาธิการวิสามัญพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือตอนล่าง 1 และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ โดยกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลได้มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบให้พันธุ์อาจผ่านการคัดเลือกเป็นผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 

  • คุยเรื่องกันดั้มและการส่งออกวัฒนธรรมไทย กับ “ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์”
  • NIA: โลกเปลี่ยน หน่วยงานรัฐปรับ สู่การสนับสนุน LGBTQ+

“พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” คือใคร

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ คืออดีตผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เขาเป็นชาวเชียงใหม่โดยกำเนิด จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาเอกจาก Aalborg University เดนมาร์ก

พันธุ์อาจทำงานคลุกคลีในแวดวงนวัตกรรมมาโดยตลอด โดยในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ พันธุ์อาจพยายามผลักดันแนวคิด ‘Innovation Thailand’ ผ่าน ‘Innovation for Crafted Living’ หรือนวัตกรรมเพื่อการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น โดยแบ่งเป็น 7 หมวด คือ นวัตกรรมเพื่อสุขภาพดี นวัตกรรมเพื่อผู้สูงวัย คนพิการ หรือผู้ที่ด้อยโอกาส นวัตกรรมเพื่อโลกและสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมที่เชื่อมโยงผู้ที่สนใจเรื่องเดียวกัน นวัตกรรมเพื่อชีวิตและทรัพย์สินปลอดภัย นวัตกรรมที่สร้างโอกาสและอาชีพใหม่ ๆ ที่เลี้ยงตัวเองได้ และนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยว ดนตรี และสันทนาการ นอกจากนี้ พันธุ์อาจยังได้ผลักดันให้ NIA มีบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม โดย NIA ถูกจัดให้เป็นอันดับที่ 1 จากผลการสำรวจ 2022-2023 Thailand’s Most Admired Company ในกลุ่ม “องค์การมหาชน” (นวัตกรรม + เทคโนโลยี) ที่ได้รับความเชื่อมั่น การจดจำ และการยอมรับสูงสุดในเชิงภาพลักษณ์ รวมถึงความพึงพอใจในการให้บริการ และการทำประโยชน์เพื่อสังคม

พันธุ์อาจเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร GQ ถึงแนวคิดของเขาเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพประเทศไทยผ่าน ‘Innovation Thailand’ ว่าเกิดขึ้นจากคำถามที่ว่า หากมองประเทศอื่น เช่น เยอรมนีที่โดดเด่นเรื่องรถยนต์หรู ฝรั่งเศสโดดเด่นเรื่องอุตสาหกรรมน้ำหอม เกาหลีใต้โดดเด่นเรื่องอิเล็กทรอนิกส์และความบันเทิง ส่วนญี่ปุ่นโดดเด่นเรื่องอิเล็กทรอนิกส์และการ์ตูน ไทยจะวางตัวเองไว้ที่จุดใด 

“ผมว่ามันคือเรื่องไลฟ์สไตล์ ตั้งแต่อาหาร การท่องเที่ยว การใช้ชีวิต ด้วยภาพลักษณ์ของคนไทยที่คนข้างนอกมองคือความสบาย ๆ รักสนุก แบรนดิ้งที่อยากจะสื่อออกไปคือ Crafted Living หรือการใช้ชีวิตแบบคราฟต์ผ่าน 7 มิติของนวัตกรรม การส่งออกไลฟ์สไตล์ของคนไทยจึงเป็นเรื่องสำคัญ” พันธุ์อาจกล่าว

ประวัติการศึกษา

  • 2549 ปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์นวัตกรรม Aalborg University, Denmark
  • 2540 ปริญญาโทวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (การจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม) University of Sussex, UK
  • 2539 ประกาศนียบัตรเศรษฐศาสตร์การเมืองนวัตกรรม, Linköping University, Sweden
  • 2538 ปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต (ฟิสิกส์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • 2534 จบการศึกษาชั้นมัธยมปลาย จากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย 

ประวัติการทำงาน

  • กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท โนวิสเคปคอนซัลติ้งกรุ๊ป จำกัด
  • ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศและพัฒนานักนโยบาย สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ
  • ที่ปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • กรรมการและเลขานุการ ในคณะกรรมการจัดตั้งกองทุนพัฒนานวัตกรรม (ต่อมายกระดับเป็นสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ)
  • กรรมการและเลขานุการการจัดตั้งฝ่ายวิจัยนโยบาย (ต่อมายกระดับเป็นสำนักงานนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน.)
  • หัวหน้าคณะที่ปรึกษา การจัดทำแผนที่นำทางวิจัยและนวัตกรรมระยะยาว บมจ.มิตรผล
  • หัวหน้าคณะที่ปรึกษา การทำนวัตกรรมบริการในธนาคาร บมจ.ธนาคารกรุงไทย
  • ที่ปรึกษาการออกแบบและพัฒนาเมืองเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ที่ปรึกษาการจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมสับปะรดไทย สถาบันอาหาร
  • ที่ปรึกษานโยบายระบบนวัตกรรมแห่งชาติของไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ประสบการณ์และผลงานที่เกี่ยวข้อง

  • กรรมการกิติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหารมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
  • คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ
  • คณะกรรมการพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
  • คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและเตรียมความพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยีการใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนยานพาหนะของประเทศไทย
  • คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจกระแสใหม่
  • ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ
  • คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ เกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ
  • คณะอนุกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศ สภาผู้แทนราษฎร
  • คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดการภาวะวิกฤติโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภัยแล้ง และเศรษฐกิจ
  • คณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของมวลชน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม

รางวัลที่ได้รับ

  • รางวัล Rising Star ในงานสัมมนานานาชาตินวัตกรรมภาครัฐ Innovation Labs World 2018 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ