ก้าวต่อไปของ "แอนฟิลด์" (คอลัมน์สนุกมือ / ธีรพัฒน์ อัครเศรณี)

Home » ก้าวต่อไปของ "แอนฟิลด์" (คอลัมน์สนุกมือ / ธีรพัฒน์ อัครเศรณี)
ก้าวต่อไปของ "แอนฟิลด์" (คอลัมน์สนุกมือ / ธีรพัฒน์ อัครเศรณี)

นับเป็นข่าวดีสำหรับแฟนๆ “หงส์แดง” เมื่อโครงการขยายสนามฝั่งหลังประตูซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอัฒจันทร์ “เดอะ ค็อป” ได้รับไฟเขียวให้เริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป หลังจากถูกพิษโควิดเล่นงานจนล่าช้ามากว่า 1 ปี

โปรเจ็คต์การปรับปรุงสนามแอนฟิลด์เที่ยวนี้ใช้งบ 60 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 2,400 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สโมสรสามารถเพิ่มความจุได้เพิ่มอีก 7,000 กลายเป็น 61,000 ที่นั่ง แม้ยังไม่เทียบเท่า โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ของปรปักษ์ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งรองรับผู้ชมได้ถึง 76,000 แต่จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม ของ อาร์เซนอล และ ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ สเตเดี้ยม ของทีม “ไก่เดือยทอง” เลยทีเดียว

นอกจากนั้นจะทำให้สโมสรอันเก่าแก่แห่งนี้ สามารถขยายฐานคนดูเพื่อสร้างกิจกรรม, การจำหน่ายบัตร และขายของในวันแข่งขันได้มากขึ้นไปอีก ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น นั่นก็คือการเพิ่มอัตราการจ้างงานให้กับพนักงานของสโมสร ซึ่งส่วนใหญ่ต้องใช้คนในเมืองเพื่อรองรับการดำเนินการทางธุรกิจที่จะเพิ่มขึ้นอีกมากมายในสนามแอนฟิลด์ รวมทั้งบริเวณโดยรอบอีกด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องดีสำหรับชุมชนเป็นอย่างยิ่ง
aผมมองว่าในเรื่องของบรรยากาศการเชียร์น่าจะยิ่งคึกคักขึ้น เพราะในแต่ละนัดมีคนเข้าเชียร์เหยียบระดับ 6 หมื่น เหมือนเมื่อครั้งฟุตบอลในยุคเก่าที่ผู้ชมยังยืนชมการแข่งขันได้ โดยสถิติสูงสุดในแอนฟิลด์ยังเป็นเกมที่ “หงส์แดง” โม่แข่งกับ วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส เมื่อปี 1952 มีคนดูถึง 61,905 คนเลยทีเดียว

ลักษณะการก่อสร้างของ ลิเวอร์พูล เที่ยวนี้จะคล้ายๆกับการขยายอัฐจันทร์ฝั่ง เมน แสตนด์ คือการสร้างที่นั่งชั้นบนขึ้นมาใหม่ เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงเคลื่อนมาทาบคร่อมบนแสตนด์ชั้นล่างซึ่งเป็นของเดิม จึงทำให้ระหว่างดำเนินงานยังคงดำเนินการแข่งขันได้ตามปกติ จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ตามหมายกำหนดการคือฤดูกาล 2023-24 หรือใช้เวลา 2 ซีซั่นนั่นเอง

แอนดี้ ฮิวจ์ส ผู้อำนวยการสโมสรได้กล่าวว่า “การดำเนินการครั้งนี้ เราได้ประสานกับทางชุมชนในเรื่องของการใช้พื้นที่ก่อสร้าง และวางแผนในเรื่องของการเงินให้รัดกุมด้วย ในกรณีที่ค่าใช้จ่ายบานปลาย”

นี่อาจจะเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้การเสริมทัพของทีมจึงต้องทำอย่างจำกัดมาตลอดในช่วง 1-2 ปีหลัง เมื่อทราบรายละเอียดนี้ แฟนหงส์บางรายอาจจะบรรเทาความไม่พอใจกลุ่มแฟนเวย์ลงบ้าง เนื่องจากอย่างน้อยๆ กลุ่มทุนเจ้าของจากอเมริกาก็ยังรักษาสัญญาเรื่องการพัฒนาโครงสร้างของสโมสรในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงสนามและความจุ นับจากวันที่ตัดสินใจจะไม่ย้ายไปไหน
bอย่างไรก็ดี การต่อเติมเฟส 2 ครั้งนี้ ดูท่าว่าน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วสำหรับการเสริมความจุครั้งละมากๆให้กับสนามแอนฟิลด์ เนื่องจากพื้นที่โดยรอบมีข้อจำกัดติดบ้านเรือนของชุมชนเดิมที่อยู่อาศัยใกล้กับสโมสรมานาน การเคลียร์พื้นที่กับเจ้าของบ้านแต่ละหลัง แน่นอนมันไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากนั้นยังต้องขออนุญาตกับสภาเมือง

การต่อเติมครั้งนี้เมื่อเสร็จสิ้นจะทำให้ แอนฟิลด์ ซึ่งเป็นสนามที่มีความจุอันดับ 7 ของประเทศอังกฤษในปัจจุบัน ขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 4 ในทันที (อันดับ 3 ในระดับสโมสร) นับว่าสมศักดิ์ศรีทีมชั้นนำด้วยประการทั้งปวง

ลำดับความจุของสนามฟุตบอลในอังกฤษตอนนี้

1. ความจุ 90,000 : เวมบลีย์ สเตเดี้ยม (ลอนดอน), ทีมชาติอังกฤษ
2. ความจุ 75,635 : โอลด์ แทรฟฟอร์ด (แมนเชสเตอร์), แมนฯ ยูไนเต็ด
3. ความจุ 62,850 : ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ สเตเดี้ยม (ลอนดอน), สเปอร์ส
4. ความจุ 60,704 : เอมิเรตส์ สตเดี้ยม (ลอนดอน), อาร์เซนอล
5. ความจุ 60,000 : ลอนดอน สเตเดี้ยม (ลอนดอน), เวสต์แฮม ยูไนเต็ด
6. ความจุ 55,097 : เอติฮัด สเตเดี้ยม (แมนเชสเตอร์), แมนฯ ซิตี้
7. ความจุ 54,074 : แอนฟิลด์ (ลิเวอร์พูล), ลิเวอร์พูล

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ