ก้องศักด วอน กสทช. เร่งแก้กฎ มัสต์แฮฟ – มัสต์ แครี่ ทำซื้อลิขสิทธิ์กีฬาปั่นป่วน

Home » ก้องศักด วอน กสทช. เร่งแก้กฎ มัสต์แฮฟ – มัสต์ แครี่ ทำซื้อลิขสิทธิ์กีฬาปั่นป่วน


ก้องศักด วอน กสทช. เร่งแก้กฎ มัสต์แฮฟ – มัสต์ แครี่ ทำซื้อลิขสิทธิ์กีฬาปั่นป่วน

ดร. ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ก่อน ตนได้เดินทางไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 32 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 26 ก.ค. – 11 ส.ค. 2024 ซึ่งในโอกาสดังกล่าวได้เข้าเยี่ยมชมสถานที่ที่จะใช้ในการจัดการแข่งขันจริงๆ รวงถึงยังได้เข้าพบผู้บริหารระดับสูงในวงการกีฬาของฝรั่งเศส และเจ้าหน้าที่จากฝ่ายต่างๆของการแข่งขัน

ผู้ว่าการกกท. เผยว่า ในโอกาสนี้ กกท.ยังได้เข้าพูดคุยถึงเรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2024 ด้วย ซึ่งก็ทำให้ตนนั้นได้รับทราบข้อมูลที่สำคัญๆมากมาย อย่างไรก็ตามยังคงมีสิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมหกรรมกีฬาของเมืองไทยเช่นกัน เพราะตั้งแต่จบจากฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ยังไม่มีการนำบทเรียนและปัญหาที่ยุ่งเหยิงต่างๆที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้ “กฎมัสต์แฮฟ” และ “มัสต์แครี่” จนเกิดปัญหาต่างๆตามมา มาร่วมถกและพูดคุยอย่างจริงจังแต่อย่างใด

“ส่วนตัวอยากให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุม ดูแล และกำกับการใช้ กฎมัสต์แฮฟ และ มัสต์แครี่ ปรับแก้ไขกฎดังกล่าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ส่วนจะมีปรับเปลี่ยนตรงไหน แก้อย่างไร กกท.ก็พร้อมจะเข้าไปร่วมรับฟังและให้ข้อมูล เพราะต้องยอมรับว่ากฎดังกล่าว ยังคงเป็นปัญหาสำหรับการดำเนินการเจรจาซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขันมหกรรมกีฬา ซึ่งก็รวมถึงซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชาด้วย อีกทั้งยังยากต่อการที่จะหาภาคเอกชนมาร่วมลงทุนภายใต้เงื่อนไขและกฎดังกล่าวด้วย” ดร.ก้องศักด กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับ กสทช.ได้ออกกฎ “มัสต์แฮฟ” (Must Have) ระบุไว้ว่า มหกรรมกีฬาที่คนไทยต้องดูฟรี 7 รายการ ประกอบด้วย ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชียนเกมส์, เอเชียนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์, พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลก พร้อมกับออกกฎ “มัสต์ แครี่” (Must Carry) ควบคู่กัน โดยระบุว่า เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องดำเนินการให้ทุกแพลตฟอร์ม เพื่อให้คนไทยได้ชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในประเด็นนี้ทำให้ไม่มีภาคเอกชนกล้าลงทุนที่จะซื้อลิขสิทธิ์ เนื่องจากไม่สามารถนำมาต่อยอดธุรกิจได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ