ต้อนรับปีงูใหญ่ กู้ภัยตื่นเต้นเจอ งูหายาก ไม่ใช่งูหลามธรรมดา สีสวยลายแปลก บอกนานๆ จะได้เจอสักตัว
ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชิติพัทธ์ ทองสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัย มูลนิธิประชาร่วมใจ เทศบาลเมืองกระบี่ ได้โพสต์ภาพและคลิปงูขนาดใหญ่ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นงูคล้ายงูเหลือมและงูหลาม แต่มีสีสันลวดลายที่แปลกตา และรูปร่างป้อมกว่า โดยระบุข้อความว่า
“นานๆได้เจอสักตัว งูหลามปากเป็ด หาดูยากที่เขาพนม”
โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้จับจากบ้านเรือนประชาชน ไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติแล้ว
งูหลามปากเป็ด (อังกฤษ: Blood python; ชื่อวิทยาศาสตร์: Python curtus) เป็นงูไม่มีพิษ มีลำตัวที่อ้วน หนา กว่างูหลามและงูเหลือม แต่มีหางที่สั้นแลดูไม่สมส่วน และมีลวดลายที่แปลกออกไป มีหลายหลากสี ทั้งน้ำตาล, แดง, เหลือง, ส้ม หรือ เขียว โดยงูแต่ละตัวจะมีสีสันและลวดลายต่างกันออกไป ขนาดโตเต็มที่ได้ประมาณ 1.50 เมตร จัดเป็นงูที่มีขนาดเล็กที่สุดในสกุลนี้
งูหลามปากเป็ดพบในประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป ตลอดจนมาเลเซีย, สิงคโปร์จนถึงอินโดนีเซีย โดยสถานที่ค้นพบครั้งแรกอยู่ที่เกาะสุมาตรา เป็นงูที่ไม่ค่อยขึ้นต้นไม้ มักจะซุ่มรออาหารตามพื้นดินที่เฉอะแฉะใกล้แหล่งน้ำ ที่โดยมากเป็นสัตว์เลือดอุ่นขนาดเล็ก งูหลามปากเป็ดวางไข่ครั้งละประมาณ 30–50 ฟอง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงของผู้ที่นิยมสัตว์เลื้อยคลานเพราะมีความสวยงาม