กูเกิ้ลปิดฟังก์ชั่นแปลภาษาในจีน หลังใช้งานยาก-ถูกบล็อกหนักหน่วง

Home » กูเกิ้ลปิดฟังก์ชั่นแปลภาษาในจีน หลังใช้งานยาก-ถูกบล็อกหนักหน่วง


กูเกิ้ลปิดฟังก์ชั่นแปลภาษาในจีน หลังใช้งานยาก-ถูกบล็อกหนักหน่วง

กูเกิ้ลปิดฟังก์ชั่นแปลภาษาในจีน หลังใช้งานยาก-ถูกบล็อกหนักหน่วง

กูเกิ้ลปิดฟังก์ชั่นแปลภาษาในจีน – วันที่ 3 ต.ค. เอพีรายงานว่า กูเกิ้ล ผู้พัฒนาเสิร์ชเอ็นจิ้นยอดนิยมของโลกจากสหรัฐอเมริกา ประกาศยุติให้บริการแปลภาษาหรือ Google Translate ในจีนแล้วท่ามกลางความพยายามปิดกั้นโซเชียลมีเดียของต่างชาติจากรัฐบาลจีน

ล่าสุด ผู้ใช้ในฮ่องกงพบว่าหน้าเว็บ Google Translate บนคอมพิวเตอร์ทั่วไปและแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟน ถูกเปลี่ยนเป็นช่องสำหรับค้นหาแทน พร้อมลิงค์สำหรับผู้ใช้จีนไปยังหน้าเว็บของกูเกิ้ลในฮ่องกง ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้ในจีนแผ่นดินใหญ่

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของกูเกิ้ลเกิดขึ้นหลังมีผู้ใช้จีนจำนวนมากเปิดเผยว่าไม่สามารถใช้ฟังก์ชั่นแปลภาษาจากกูเกิ้ลได้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ฟังก์ชั่นแปลภาษาบนบราวเซอร์ Google Chrome ก็หยุดทำงานเช่นกันสำหรับผู้ที่เข้าถึงจากในจีน

แถลงการณ์กูเกิ้ล ระบุว่า การให้บริการ Google Translate ในจีนจะยุติลงเนื่องจากมีปริมาณผู้ใช้น้อย แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจำนวนผู้ใช้บริการดังกล่าวของกูเกิ้ลในจีนมีเท่าใด

รายงานระบุว่า ที่ผ่านมา กูเกิ้ลกับรัฐบาลจีนมีความระหองระแหงกันมาต่อเนื่อง โดยกูเกิ้ลเคยถอนการให้บริการค้นหาข้อมูลด้วยเสิร์ชเอ็นจิ้นกูเกิ้ลจากจีนมาแล้ว เนื่องจากไม่สามารถยอมรับและปฏิบัติตามข้อกำหนดของทางการจีนได้เมื่อปี 2553 (โดยเฉพาะการเซ็นเซอร์ข้อมูล)

ต่อมาทางการจีนดำเนินการปิดกั้นการเข้าถึงการให้บริการของกูเกิ้ลหลายอย่าง เช่น บริการอีเมล Gmail และบริการแผนที่ Google Maps

ทั้งนี้ ทางการจีนปิดกั้นการเข้าถึงสื่อโซเชียลจากชาติตะวันตกส่วนใหญ่ อาทิ กูเกิ้ล เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ รวมถึงดิสคอร์ด เพื่อรักษาสภาพการเซ็นเซอร์ข้อมูล

ขณะที่สื่อโซเชียลสัญชาติจีนต้องปฏิบัติตามนโยบายเซ็นเซอร์ของทางการอย่างเคร่งครัด เช่น คำต่างๆ ไปจนถึงประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง (โดยเฉพาะต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน)

ส่วนบริการ Google Translate ในจีนนั้นทางกูเกิ้ลเปิดให้บริการในจีนครั้งแรกเมื่อปี 2560 ท่ามกลางความพยายามหนทางเพื่อให้บริการค้นหาข้อมูลแก่ชาวจีน แข่งขันกับเอกชนค่ายอื่นในจีน อาทิ ไป่ตู้และโซวโก่ว

นอกจากนี้ กูเกิ้ลยังเคยทดลองเปิดให้บริการค้นหาข้อมูลแบบพิเศษเฉพาะในจีนโดยมีการเซ็นเซอร์ตามที่รัฐบาลจีนกำหนดเมื่อปี 2562 แต่ต้องยุติความพยายามไปหลังเผชิญกับเสียงประณามอย่างรุนแรงจากประชาคมโลก

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ