ขึ้นชื่อว่าเป็นแอลกอฮอล์แล้ว คงไม่มีแอลกอฮอล์ชนิดไหนที่ดีต่อสุขภาพถึงขนาดที่หมอแนะนำให้ดื่มกันเป็นประจำราวกับนมอย่างแน่นอน แต่เราก็มีวิธีที่จะกินเหล้า และดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่นๆ ที่ไม่ทำร้ายสุขภาพมากจนเกินไป จากนพ.ปฏิพัทธ์ ดุรงค์พงศ์เกษม อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลสมิติเวช มาฝากกัน
กินเหล้า ตับไม่พัง ขึ้นอยู่กับปริมาณ และชนิดที่ดื่ม
การดื่มแอลกอฮอล์ให้ถูกชนิด ในปริมาณที่เหมาะสม ก็สามารถให้ประโยชน์กับร่างกายได้เช่นกัน
เบียร์ เป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไม่มาก ราวๆ 5% หรือ 5 ดีกรี
ไวน์ มีแอลกอฮอล์ราว 10% หรือ 10 ดีกรี
เหล้าต่างๆ มีแอลกอฮอล์ราวๆ 35-40% หรือ 35-40 ดีกรี
วอดก้า บรั่นดี วิสกี้ มีแอลกอฮอล์ค่อนข้างสูง ราวๆ 40-50% หรือ 40-50 ดีกรี
ขนาดมาตรฐานที่เรามักเรียกกัน คือ 1 ดริ๊งค์ (drink) หรือ 1 แก้วที่มีปริมาณเครื่องดื่มราว 10-14 กรัม หากทำการคำนวณโดยนำปริมาณเครื่องดื่มหน่วยซีซี (cc.) x จำนวนดีกรี x 0.789 (ความถ่วงจำเพาะของแอลกอฮอล์) จะได้ออกเป็นจำนวนแอลกอฮอล์ที่ดื่มไปเป็นหน่วยกรัม ต่อ 1 ดริ๊งค์ หรือ 1 แก้ว
เช่น ไวน์ 100 cc x 10 ดีกรี x 0.789 = 7.89 กรัม คือจำนวนแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไปต่อ 1 แก้ว
เมื่อคำนวณคร่าวๆ จะได้ปริมาณแอลกอฮอล์ที่เราสามารถดื่มได้คร่าวๆ ดังนี้
เบียร์ = ครึ่งแก้วเบียร์ใหญ่ หรือ 3-4 กระป๋องเล็ก หรือไม่เกิน 200-300 cc ต่อวัน
ไวน์ = ก้นแก้วไวน์ หรือราวๆ 100 cc
เหล้า = 2 ใน 3 ของแก้วเป๊ก (แก้วเหล้าเล็กๆ)
จำนวนนี้ถือเป็น 1 ดริ๊งค์ของแอลกอฮอล์ในแต่ละชนิด
ดื่มมาก ดื่มน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง?
- หากแบ่งแยกตามเพศ ผู้หญิงไม่ควรดื่มเกิน 1 แก้ว ในขณะที่ผู้ชายไม่ควรดื่มเกิน 2 แก้ว สาเหตุที่ผู้หญิงดื่มแอลกอฮอล์ได้น้อยกว่า เพราะมีการกระจายไขมันต่อแอลกอฮอล์น้อยกว่า แอลกอฮอล์ดูดซึมได้เร็วกว่า
- กรรมพันธุ์ แต่ละคนจะมีระบบเผาผลาญไม่เหมือนกัน และไม่เท่ากัน อาจมีคนที่คออ่อน และคนคอแข็ง ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ของคนนั้นๆ
- โรคประจำตัว หากเป็นโรคตับอยู่แล้ว ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งเพิ่มอันตรายต่อโรคตับให้มากขึ้น
- ช่วงเวลารับประทานอาหาร ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ขณะท้องว่าง อาจทำให้เมาได้เร็ว และทำร้ายตับได้มากกว่า
ดื่มแอลกอฮอล์เท่าไร เสี่ยงโรคตับ?
หากดื่มแอลกอฮอล์เกิน 4-5 ดริ๊งค์ต่อวันติดต่อกันเกิน 5 ปี จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคตับได้ โดยอาการเริ่มแรกอาจพบเพียงไขมันสะสมที่ตับ หากยังดื่มในปริมาณมากๆ เหมือนเดิมติดต่อกันถึง 10 ปี อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคตับแข็งได้
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในการเป็นโรคตับแข็งของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย กรรมพันธุ์ ปริมาณที่ดื่ม และพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ อีกด้วย
ดื่มไม่เกินปริมาณที่แนะนำ มีประโยชน์อะไรบ้าง?
- ช่วยป้องกันโรคหัวใจ
- ลดคอเลสเตอรอล
- ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
- บางรายงานกล่าวว่า ป้องกันโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ได้ด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้น การเลือกชนิดของแอลกอฮอล์ที่ควรดื่มก็สำคัญ
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ให้ประโยชน์มากที่สุด คือ
- ไวน์แดง เพราะไวน์แดงมีสารบางชนิดที่มีผลต่อหลอดเลือดหัวใจที่ทำให้ไขมันดีเพิ่มขึ้น
- ไวน์ขาว
- เหล้าต่างๆ
- เบียร์ ให้ผลเสียต่อร่างกายมากกว่า เพราะเบียร์จะทำให้ไขมันในร่างกายเพิ่มมากขึ้น ตัวบวม
ดื่มมากๆ ทีเดียว VS ดื่มน้อยๆ แต่ทุกวัน
มีรายงานว่า การดื่มมากๆ ทีเดียว ดื่มหนักในปริมาณมากๆ รวดเดียว เป็นการเพิ่มความเสี่ยงโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน และตับอักเสบเฉียบพลันได้ ถ้ามีโรคประจำตัวอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น เส้นเลือดในสมองตีบ ก็อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของโรคเหล่านั้นได้เช่นกัน ซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้
หากดื่มน้อยๆ แต่ทุกวัน และดื่มในปริมาณที่เกินกว่าที่แนะนำ จะทำให้ตับค่อยๆ แย่ลง เกิดพังผืด จนกลายเป็นตับแข็งในอนาคตได้
เคล็ดลับการดื่มแอลกอฮอล์ ให้เสี่ยงอันตรายน้อยที่สุด
- ดื่มตามปริมาณที่กำหนด
- ไม่จำเป็นต้องดื่มทุกวัน ถ้าอยากดื่มทุกวันต้องไม่ดื่มมากเกินไป
- เลือกดื่มไวน์ มากกว่าเหล้า และเบียร์ เพราะมีประโยชน์มากกว่า
- ควรรับประทานอาหารลงท้องก่อนดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะได้ไม่ถูกดูดซึมเร็วเกินไป
- ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคตับได้เช่นกัน
สิ่งที่คุณหมออยากเตือน คือ ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากรวดเดียว เพราะเสี่ยงตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน และตับอักเสบที่ทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว และพบได้บ่อยครั้งในคนไทย หากพบว่าตัวเองเป็นคนดื่มแล้วตัวแดงง่าย แปลว่าร่างกายของเรากำจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายได้ไม่เร็วมากพอ ไม่ควรดื่มซ้ำ เพราะอาจเกิดอันตรายได้ นอกจากนี้หากมีสัญญาณของพิษสุราเรื้อรัง และแอลกอฮอล์ลิซึ่ม เช่น ตื่นเช้ามาก็อยากดื่มเลย หรือถ้าไม่ได้ดื่มจะหงุดหงิดงุ่นง่าน โมโหร้าย ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาทันที