กิตติศักดิ์ เผยปมโหวตนายกฯ ส.ว.แตกเป็น 3 กลุ่ม มีส.ว.ถึง 6 รายที่จะหนุนพิธา แต่ตอนนี้กลุ่มส.ว.งดออกเสียงเป็นกลุ่มใหญ่สุด ‘ศิธา’ ชี้อีกฝ่ายควรรู้แพ้รู้ชนะ
วันที่ 17 พ.ค.66 น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย และนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. มาพูดคุยกันในรายการ อยากมีเรื่องคุย ของข่าวสดออนไลน์ ในประเด็นทิศทางและท่าทีของส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรี
น.ต.ศิธา เปิดเผยว่า เราต้องการให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ แม้จะใช้รัฐธรรมนูญที่ถูกขีดเขียนมาแบบที่เราเห็นๆ โดยประชาชน 60 % ที่ออกมาเลือกตั้ง เขาเลือกแบบนี้แล้ว แต่ในอีก 40 % ที่ไม่ได้เลือกให้อีกฝั่งทำหน้าที่รัฐบาล ก็จะมี 1 เสียงของส.ว.ที่ไปเลือกตั้งเช่นกัน ซึ่งส.ว.ก็ออกไปเลือกตั้งแล้ว แต่อีกหน้าที่ของส.ว.ที่ถูกแต่งตั้งโดยคสช.เดิม ก็มีหน้าที่เช่นกัน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ที่จะถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของคนทำรัฐประหาร การที่ส.ว.บอกว่าไม่เข้าใจเลยทำไมคนดู 1 ล้านคน ทำไมมาด่าถึง 9.5 แสนคน ต้องเรียนส.ว.ว่าความจริงคนด่ามากกว่า 9.5 แสนคน แต่ต้องเข้าใจว่าประชาชนพูดที่ระบบ และประเทศจะเดินได้ด้วยเสียงของประชาชน ที่สำคัญส.ว.ก็ใช้สิทธิ์ของตัวเองในการเลือกตั้งไปแล้ว จึงเป็นเรื่องที่จะให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยได้
น.ต.ศิธา กล่าวว่า หากส.ว.คิดจะให้ประเทศก้าวเดินต่อไป เพราะความจริงส.ว.ถือว่าได้โหวตไปแล้วในการเลือกตั้งที่ผ่านมา อีกฝั่งก็ชนะไปแล้ว จึงควรรู้แพ้รู้ชนะ การเลือกตั้งของประเทศอื่น หากผลออกมาแบบนี้ ได้เสียงรวมกันมากขนาดนี้ จะสามารถตั้งรัฐบาลได้แล้ว แต่ประเทศไทยต้องให้คนที่ขอเวลาอีกไม่นานได้อยู่ต่อก่อน ซึ่งจะรักษาการไปเรื่อยๆ ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกตั้งมา ไม่อยากให้อยู่แล้ว
น.ต.ศิธา กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลตอนนี้ ต้องให้พรรคอันดับ 1 ทำหน้าที่ก่อน แต่หากติดขัดในกรณีนายพิธา ก็จะมีพรรคอันดับ 2 อยู่ ซึ่งมีคุณอุ๊งอิ๊งและคุณเศรษฐาอยู่ แต่สุดท้ายหากยังเลือกไม่ได้ ตามกฎหมายจะให้เสียงในสภา 750 เสียงมาตกลงกัน โดยเอาเสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา โหวตนายกฯจากคนนอกได้ แต่ถ้าไปถึงจุดนั้นก็จะเกิดคำถามตามมาว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ แต่ทั้งหมดถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ
ด้านนายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบเป็นเพราะอะไรทำไมผู้ชมถึงด่าส.ว. ซึ่งเราเข้าใจ ถ้าจะด่าจะตินั้น ต้องเข้าใจว่าส.ว.มาตามรัฐธรรมนูญ และเราทำหน้าที่ตรวจสอบกลั่นกรอง ซึ่งอาจโดนติชมบ้าง ส่วนการที่เราจะให้ความเห็นชอบหรือไม่นั้น ในส่วนของนายพิธา ประการแรกส.ว.ได้คุยกันนอกรอบว่า กกต.ยังไม่ได้รับรองส.ส.ทุกคน และนายพิธามีเรื่องร้องเรียน ซึ่งกกต.ต้องพิจารณา ทำให้ส.ว.ต้องปรึกษากันว่า ถ้าเรารีบไปสนับสนุนอาจเป็นการล้ำหน้ากกต.ไปหรือไม่ ส่วนส.ว.จะเลือกนายพิธาหรือไม่นั้น ตอนนี้ส.ว.มี 3 กลุ่มคือ 1.เห็นชอบ 2.ไม่เห็นชอบ และ 3.งดออกเสียง ซึ่งคงบอกไม่ได้ว่าจะออกมาเช่นไร
เมื่อถามว่าส.ว.กลุ่มเลือกพิธาจะมีประมาณกี่คน กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ส.ว.คุยกันตลอด โดยไม่มีการบังคับหรือตำหนิกัน ซึ่งตอนนี้มีส.ว.ถึง 6 รายที่จะสนับสนุนนายพิธา แต่ตอนนี้กลุ่มส.ว.ที่จะงดออกเสียงเป็นกลุ่มใหญ่สุด
นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า นายพิธาในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาในการทำหน้าที่ส.ส. เราเห็นว่า 2 ครั้งอย่างน้อยที่นายพิธานำคนมาปิดสภาฯ ส.ส.ต้องนั่งเรือหนี การที่จะมาอ้างประชาธิปไตย การใช้กำลังจึงไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ส่วนตัวนายพิธาจึงยังไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกฯ เพราะต้องรอกกต.พิจารณาปมถือหุ้นสื่อด้วย
“ใครจะมาเป็นรัฐบาลในช่วงต่อไป ประเทศจะเกิดความวุ่นวาย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายลุง หรือฝ่ายพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพราะประเทศเกิดความขัดแย้งทางความคิด ประเทศไทยไม่ควรเทข้างไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ควรเป็นกลาง”
“ส่วนประเด็นมาตรา 112 เราเป็นห่วงและไม่เห็นด้วย การเมืองควรอยู่ในกรอบ ไม่ควรเลยไปถึงสถาบัน เราจะไปแตะทำไม แตะแล้วฝ่ายที่เคารพก็ไม่พอใจ อาจเป็นที่มาของความขัดแย้ง และเกิดความวุ่นวายหากไปแตะมาตรา 112”
“ผู้ที่จะมาเล่นเกมในกติการัฐธรรมนูญ 60 ต้องศึกษารัฐธรรมนูญด้วย เราต้องเคารพกติกาด้วย ถ้าเราไม่ทำตามกติกาก็ไม่ได้ จะมาโวยวายว่าตั้งส.ว.มาสืบทอดอำนาจไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติมาอย่างนี้ หากนักการเมืองไม่มองกติกาอาจผิดหลักการและอคติไปนิดนึง หากเราไม่พอใจรัฐธรรมนูญนี้ก็ควรอยู่บ้านก่อน ไว้รอแก้รัฐธรรมนูญแล้วค่อยมาเล่นการเมืองใหม่”
นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า หากพรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็จะกลับไปเหมือนปี 2562 โดยอยากสมมติว่าหากเป็นเหมือนปี 2562 ก็จะเป็นหน้าที่ของพรรคอันดับ 2 ทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาล แต่ตอนนี้ยังเป็นหน้าที่พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลไปก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างอัดรายการมีผู้ชมรายการพิมพ์คอมเมนต์เข้ามาจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะพิมพ์ ค. ตัวเดียว โดยกิตติศักดิ์กล่าวว่า ไม่เป็นไร อาจหมายถึง คิด วิเคราะห์ แยกแยะ พร้อมอยากบอกคนในโลกโซเชียลต้องทำใจเป็นกลางด้วย