การเมืองเกี่ยวทุกเรื่อง : "มอสโก 1980" เมื่อโซเวียตเป็นเจ้าภาพแต่โดน 65 ชาติพร้อมใจหักหน้า

Home » การเมืองเกี่ยวทุกเรื่อง : "มอสโก 1980" เมื่อโซเวียตเป็นเจ้าภาพแต่โดน 65 ชาติพร้อมใจหักหน้า

โอลิมปิก 1980 ที่กรุงมอสโก คือการแข่งขันที่ สหภาพโซเวียต หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นเวทีแสดงแสนยานุภาพของพวกเขาในฐานะผู้นำแห่งโลกคอมมิวนิสต์

พวกเขาชนะการโหวตเลือกเจ้าภาพเหนือ สหรัฐอเมริกา มาแล้ว และกำลังล้างคอรอที่จะเป็นเจ้าเหรียญทองเพื่อข่มขวัญอเมริกาซ้ำเป็นดาบสอง

อย่างไรก็ตาม เกมการเมืองทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป อเมริกาปรากฏตัวอีกครั้ง และจับมืออีก 65 ชาติจากทุกทวีปบอยคอตต์การแข่งขัน ทำให้โซเวียตเจ็บจี๊ด … เพราะมันกลายเป็นโอลิมปิกครั้งที่กร่อยที่สุดในประวัติศาสตร์ 

เพราะโอลิมปิกไม่ใช่แก่กีฬา …

หลายคนอาจจะเคยว่ากันไว้ “ไม่ควรเอาการเมืองมาเกี่ยวข้องกับกีฬา” แต่แท้จริงแล้ว การเมืองเกี่ยวข้องกับทุก ๆ เรื่องในชีวิตของเรา แน่นอนนอนว่าสำหรับกีฬาระดับมหกรรมของโลกอย่าง โอลิมปิก ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในเวทีแสดงศักยภาพของประเทศต่าง ๆ เป็นอย่างดี  

จริงอยู่ที่ประวัติศาสตร์ของโอลิมปิกนั้น เกิดขึ้นจากความต้องการให้ “โลกสามัคคีกัน” เรื่องทั้งหมดเริ่มจาก บารอน ปิแอร์ เดอ กูเบอร์แต็ง ขุนนางชั้นสูงจากประเทศฝรั่งเศส ที่คลั่งไคล้ในกีฬาและเชื่อว่ากีฬาสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตมนุษย์ทุกคน เขามีคติประจำใจจากการศึกษาว่า “กีฬาคือยาที่ดีที่สุดสำหรับอาการเจ็บป่วยทั้งปวง”

 


Photo : ABC NEws 

จากนั้น บารอน ปิแอร์ รวบรวมตัวแทนจากชาติต่าง ๆ ทั่วโลกได้ 79 คน และหลังจากนั้นพวกเขาก็ก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี ภายใต้คติพจน์ “Citius, Altius, Fortius” (เร็วขึ้น, สูงขึ้น, และ แข็งแกร่งขึ้น) พร้อมด้วยการสร้างสัญลักษณ์วงแหวน 5 วงที่หมายถึงแต่ละทวีป

เห็นได้ชัดว่าการก่อตั้งโอลิมปิกนั้น แต่เดิมมีเพื่อเสริมสร้างและกระชับสัมพันธ์ตามความตั้งใจ ทว่าโลกนี้มันกว้างใหญ่นัก แต่ละประเทศล้วนมีประวัติศาสตร์ มีเรื่องราวอันยาวนาน และมากพอที่จะ “มีความคิดฝังหัว” ตั้งตัวเป็นศัตรูหรือคู่ปรับกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ดังนั้นเมื่อชาติที่ถือว่า “เป็นโจทก์เก่า” ได้มาแข่งขันกีฬาในโอลิมปิก และต้องห้ำหั่นกัน มีหรือพวกเขาจะอยากแพ้ ? … คำตอบคือไม่มีทาง

ดังนั้นชัยชนะในโอลิมปิกจึงเป็นเหมือนสงครามแบบหนึ่งก็ว่าได้ ยกตัวอย่างเช่น โอลิมปิก 1900 ที่จัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นั้น ชาวฝรั่งเศสเจ้าถิ่น ก็โกรธเกลียดเยอรมัน จากสงคราม “ฟรังโก-ปรัสเซีย” ในอดีต นอกจากนี้ยังมีโจทก์ในฟากพันธมิตรเองอย่าง อังกฤษ และ สหรัฐอเมริกา ที่แม้จะสมาทานแนวคิดโลกเสรี แต่ก็เขม่นกันมานานนมตั้งแต่สมัยอเมริกาประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ ทั้งหมดนี้ทำให้การแข่งขันโอลิมปิกแต่ละครั้งผ่านไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะในยุคที่มีสงครามและการเมืองร้อนแรงพร้อม ๆ กันทั้งโลก    


Photo : WikiWand

 

หลายครั้งเหลือเกินที่ประเทศต่าง ๆ ใช้โอลิมปิกเป็นการต่อสู้กันด้วย อุดมการณ์ โฆษณาชวนเชื่อ วัฒนธรรม และ อำนาจตามบทบาทต่างๆ ของโลก และหนึ่งในโอลิมปิกครั้งที่ร้อนแรงเป็นไฟ ได้กลิ่นการเมืองชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นเมื่อปี 1980 … สมัยนั้น สหภาพโซเวียต ชาติตัวพ่อแห่งคอมมิวนิสต์ เป็นเจ้าภาพ และเรื่องทั้งหมดก็ร้อนแรงตั้งแต่เอ่ยชื่อประเทศของพวกเขาออกมาแล้ว 
 

ไฟ vs น้ำมัน 

ไม่มีระบอบการปกครองใดที่ดีเพอร์เฟกต์ 100% สำหรับประชากรทุกคนบนโลกนี้ ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มว่ากันถึงโอลิมปิกปี 1980 ที่สหภาพโซเวียตเป็นเจ้าภาพนั้น มันไม่เกี่ยวว่าพวกเขาเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วจะต้องเป็นตัวโกงเหมือนกับในภาพยนตร์เสมอไป เช่นเดียวกัน พระเอกขี่ม้าขาวแห่งประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา ก็ไม่ใช่พระเจ้าที่สามารถชี้นิ้วสั่งได้ และตัวเองกลายเป็นผู้ถูกต้องในทุกสถานการณ์ 

เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในปี 1979 สมัยนั้นประธานาธิบดีของอเมริกาคือ จิมมี่ คาร์เตอร์ ที่ดำรงตำแหน่งเข้าสู่ช่วงปีที่ 4 ของตัวเองแล้ว เขารู้ว่าตัวเองใกล้จะหมดวาระลงไปทุกที ขณะที่ประชาชนในชาติก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ชอบใจ ชอบพอการทำงานของเขามากมายนัก ชาวอเมริกันคิดว่า คาร์เตอร์ คือคนที่ทำให้ประเทศของพวกเขาล้าหลัง อีกทั้งยังอ่อนกำลังเรื่องความแข็งแกร่ง ปล่อยให้ชาติคอมมิวนิสต์อย่าง โซเวียต ลูบคมอยู่บ่อย ๆ 


Photo : CNN 

ประเด็นใหญ่ใจความสำคัญนั้นคือการแย่งชิงอำนาจในแถบตะวันออกกลาง ทั้งอเมริกาและโซเวียต ต่างมี “เครือข่าย” ของตัวเอง และพวกเขาต่างชักใยจนทำให้เกิดเหตุการณ์ “การปฏิวัติอิสลาม”

 

เข้าใจกันแบบสั้น ๆ คือ ฝั่งโซเวียตนั้น ถือหาง อยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำทางจิตวิญญาณของการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านครั้งนั้น ขณะที่อเมริกา ถือหางฝั่ง พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี กษัตริย์ผู้ปกครองอิหร่าน จนนำมาซึ่งการปะทะของ 2 ฝั่งอย่างรุนแรง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง 

การตัดสินเดินทางมาถึงจุดสิ้นสุด เมื่อมีการลงมติว่าให้อิหร่านเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นสาธารณรัฐอิสลามในช่วงต้นปี 1979 ผู้นำทางศาสนาได้สิทธิ์ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ นั่นเท่ากับว่าฝั่งอเมริกาเป็นฝ่ายแพ้ไปแล้วในครั้งแรก 

เท่านั้นยังไม่พอ ปัญหาก็ถาโถมใส่อเมริกาซ้ำสองและซ้ำสามในช่วงปลายปี 1979 เมื่อนักศึกษาอิหร่านบุกยึดสถานทูตโซเวียตประจำกรุงเตหะราน (เหตุการณ์ดังกล่าวถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ Argo เจ้าของรางวัลออสการ์ครั้งที่ 85) ซ้ำร้าย โซเวียตยังเปิดหน้าลุยเอง ด้วยการเข้ายึดประเทศอัฟกานิสถาน สร้างความไม่พอใจซ้ำสองให้รัฐบาลอเมริกาเป็นอย่างมาก เพราะทำให้ภาพลักษณ์ของพวกเขาติดลบ ดูอ่อนกำลัง ไม่แข็งแกร่งสมกับเป็นผู้นำโลกประชาธิปไตย 


Photo : IMDB 

เมื่อโดนจัง ๆ เข้ากับตัวแบบนี้ ประธานาธิบดี คาร์เตอร์ จึงได้เริ่มเดินเกมการเมืองกับชาติพันธมิตร กดดัน เลโอนิด เบรซเนฟ ผู้นำของฝั่งโซเวียต ด้วยการขู่จะยกเลิกสนธิสัญญา Salt II (ว่าด้วยการเจรจาเพื่อจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและ สหภาพโซเวียต) หลัก ๆ คือเรื่องการห้ามทดลองและผลิตอาวุธนิวเคลียร์นั่นเอง 

 

การส่งสัญญาณของอเมริกา บอกโซเวียตอยู่กลาย ๆ ว่า หากยังไม่เลิกดึงดันและข้ามเส้นด้วยการยึดอัฟกานิสถานต่อไป พวกเขาอาจจะต้องเจอ “ไม้เด็ด” จากฝั่งอเมริกาบ้างก็เป็นได้

ขณะที่ฝั่งโซเวียตก็ไม่ได้มีท่าที่อ่อนข้อ พวกเขาเชื่อว่า อเมริกาเองก็ไม่ได้ต่างอะไรกับที่พวกเขาทำ  พวกเขาเชื่อว่าการที่อเมริกาสนับสนุนชาติต่าง ๆ ด้วยอาวุธให้ทำสงครามตัวแทน นั้นมีความชอบธรรม หรือดีกว่าพวกเขาตรงไหน ? ซึ่งพูดง่าย ๆ ก็คือ “ไม่ยอม” นั่นเอง 

“ได้ !” อเมริกาคงอยากตอบกลับประมาณมั้น เพราะหลังจากโดนปฏิเสธเรื่องการถอนกำลังทหาร ประธานาธิบดีคาร์เตอร์ ก็เรียกประชุมกลุ่ม นาโต หรือ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ กลุ่มพันธมิตรที่จัดตั้งเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงของกลุ่มโลกเสรี ต้านทานฝั่งคอมมิวนิสต์ที่มี กติกาสัญญาวอร์ซอ หรือ วอร์ซอ แพคท์ หนึ่งในมติการประชุมเนโตครั้งนั้นคือ “เราจะบอยคอตต์โอลิมปิก 1980 ที่สหภาพโซเวียตเป็นเจ้าภาพ” 


Photo : Breacher Report 

“ชาวอเมริกัน และรวมถึงผมจะไม่สนับสนุนการส่งนักกีฬาเข้าสู่การแข่งขันโอลิมปิกที่มอสโก” คาร์เตอร์ กล่าวหลังจบประชุมนาโตได้ 3 วัน ซึ่งการกล่าวของเขาเป็นการเริ่มต้นทำให้โซเวียตรู้ว่า ฝั่งอเมริกานั้นมีแสนยานุภาพและพันมิตรขนาดไหน

 

เพราะหากอเมริกาถอนตัวแค่ชาติเดียว คงไม่ได้ลำบากใจหรือเป็นเรื่องหนักอกของโซเวียตมากมายนัก ทว่าอเมริกามาแบบพร้อมให้โอลิมปิกครั้งนั้นเหงาหงอยและล้มเหลวที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะพวกเขาได้ทำเรื่องไปยังประเทศกลุ่มโลกเสรีอีก 65 ประเทศทั่วโลกให้ถอนตัวจากการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ออกทั้งหมด … ว่าง่าย ๆ ก็คือ โอลิมปิก 1980 เป็นเหมือนกีฬาของกลุ่มชาติคอมมิวนิสต์ ที่จัดแข่งกันเองเท่านั้น 

อเมริกาใช้ความพยายามอย่างมากในการเกลี้ยกล่อมชาติต่าง ๆ กว่าจะได้ครบทั้ง 65 ชาติดังที่กล่าวไป ที่ทวีปแอฟริกา พวกเขาส่ง “แบล็ค ซูเปอร์แมน” อย่าง มูฮัมหมัด อาลี เข้าไปกล่อมผู้นำชาติต่าง ๆ ในทวีปแอฟริกาเพื่อให้ถอนตัวตามมติของ นาโต ซึ่งการส่งอาลีไปเป็นตัวเกลี้ยกล่อมนั้นก็ประสบความสำเร็จดี เพราะมีชาติในแอฟริกาถึง 16 ชาติ ที่ประกาศถอนตัวตามคำเกลี้ยกล่อมนั้น 


Photo : NY Times 

ขณะที่อีก 49 ชาติที่ถอนตัวนั้น มาจากทุกทวีป (ประเทศไทย ก็บอยคอตต์ โอลิมปิก 1980 ด้วย) เรียกง่าย ๆ ว่า อเมริกา เอาอยู่ในการหักหน้ามหกรรมกีฬาที่ โซเวียต จะใช้แสดงแสนยานุภาพและการเป็นเลิศของนักกีฬาของพวกเขา เพราะหากในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนั้นเป็นไปตามปกติ และโซเวียตเกิดเป็นเจ้าเหรียญทองขึ้นมา นั่นหมายความแบบอ้อม ๆ ว่า “คอมมิวนิสต์ เจ๋งกว่าเยอะ” 

อเมริกาชนะในเกมการเมืองครั้งนี้ เพราะสุดท้าย โซเวียตก็จัดโอลิมปิกกันเองแข่งกันเอง แทบไม่เหลือชาติมหาอำนาจใด ๆ ร่วมแข่งขันเลย ถึงกลุ่มประเทศโลกเสรีบางชาติจะส่งนักกีฬามา ก็เข้าร่วมภายใต้ธงโอลิมปิกเท่านั้น ที่สุดแล้ว สหภาพโซเวียตก็กวาดเหรียญรวมไปทั้งหมดถึง 195 เหรียญ โดยเป็นเหรียญทอง 80 เหรียญ คว้าตำแหน่งเจ้าเหรียญทองไปตามระเบียบ … แต่มันจะมีความหมายอะไรในเมื่อเป็นการแข่งขันในแบบที่ไม่มีคู่แข่งเช่นนี้ ?

 

ฝั่งอเมริกาดูจะสุขใจกับสิ่งที่พวกเขาทำสำเร็จ พวกเขาแสดงถึงอำนาจการต่อรองด้านการเมืองที่กว้างไกลและระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งเสมอ อย่างไรก็ตาม แม้จะดูเป็นเหมือนชัยชนะของรัฐบาลคาร์เตอร์ และพวกเขากำลังชื่นมื่นที่ได้หักหน้าโซเวียต ทว่าพวกเขาอาจจะลืมไป ว่าไม่ใช่ชาวอเมริกันทุกคนที่ชื่นชอบการกระทำเช่นนี้ … กลุ่มคนเหล่านั้นคือ “นักกีฬาชาวอเมริกัน” นั่นเอง 
 

สิ่งที่แลกด้วยการเมือง 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงยุค 80s นั้น เป็นช่วงเวลาที่วิทยาการต่าง ๆ รวมถึงการกีฬาเป็นเรื่องที่หลายคนทุ่มเทกับมัน ต่างคนต่างก็อยากจะชนะเพื่อพิสูจน์ตัวเอง พวกเขารู้ถึงความหมายในการคว้าเหรียญทองในโอลิมปิก ที่เป็นกีฬาของมวลมนุษยชาติ … พวกเขาฝึกเป็นแรมปี เพื่อต้องการเป็นที่ 1 ของโลก ดังนั้นการคว่ำบาตรโอลิมปิก 1980 คือสิ่งที่นักกีฬาอเมริกัน หรืออีก 65 ชาติ รู้สึกไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาลในประเทศพวกเขา


Photo : NY Daily 

ณ นาทีนั้นคงไม่มีใครออกปากต่อต้านรัฐบาลตัวเองมากมายนัก แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปจนหลายอย่างเริ่มตกผลึก นักกีฬาที่พลาดการแข่งขันโอลิมปิก 1980 กลับรู้สึกว่าพวกเขาต้องเสียดายไปตลอดชีวิต เพราะมีหลายคน ที่เมื่อไม่ได้ไปโอลิมปิกครั้งนั้น ต้องเปลี่ยนเส้นทางชีวิตไปเลยก็มี 

เรนัลโด เนเฮเมียห์ นักวิ่งข้ามรั้วระยะ 110 เมตร ชาวอเมริกันคือหนึ่งในตัวแทนของความเสียดายครั้งนั้น ในช่วงปลายยุค 70s เรนัลโด้ คือนักวิ่งข้ามรั้วเจ้าของสถิติโลก เก่งกาจที่สุด และรอเพียงเหรียญทองโอลิมปิกเท่านั้นที่จะเติมเต็มเขาได้ เขาหมายมั่นปั้นมือว่า โอลิมปิก 1980 จะเป็นแรงผลักดันครั้งสำคัญ แต่สุดท้ายมันก็ไม่เกิดขึ้น 

“ผมออกจากวงการกรีฑาตั้งแต่วันนั้นเลย (1980) ผมไม่รู้จะพูดอะไรอีกดี เพราะคำพูดผมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้ สิ่งที่พอจะทำได้คือจัดการกับตัวเอง ไม่ให้เหตุการณ์ในปี 1980 นั้น มาเป็นตัวกำหนดอาชีพนักกีฬา หรือแม้แต่ความหวังในการใช้ชีวิตของผม” เจ้าของกระโดดข้ามรั้วสถิติโลก ที่เปลี่ยนตัวเองมาเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล NFL เมื่อปี 1982 ว่าไว้ ซ้ำร้าย ชีวิตการเป็นนักอเมริกันฟุตบอลของเขานั้นก็ไม่ได้รุ่งโรจน์ระดับโลกเหมือนกับตอนที่เป็นนักกรีฑาแม้แต่น้อย เพราะเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น เจ้าตัวก็อำลาวงการ 


Photo : AMezon

มีนักกีฬาอเมริกันอีกหลายคนที่อยู่ในช่วงที่ดีที่สุดในอาชีพเมื่อโอลิมปิก 1980 มาถึง และพวกเขาต่างพูดกันอย่างชัดเจนว่านั่นคือการตัดสินใจที่ผิดพลาดของรัฐบาล บางคนถึงขั้นเปลี่ยนขั้วการเมือง จากพรรคเดโมแครต ที่เป็นต้นสังกัดของ จิมมี่ คาร์เตอร์ ประธานาธิบดีในขณะนั้น ไปสนับสนุนพรรครีพับลิกันเลยก็มี และนี่อาจเป็นอีกสาเหตุ ที่ทำให้ จิมมี่ คาร์เตอร์ แพ้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 1980 ให้กับอดีตดาราฮอลลีวูดอย่าง โรนัลด์ เรแกน 

“ผมพยายามแทบตายในการคัดเลือกตัดตัวจนเหลือแค่ 2 คน 24 เดือนก่อนแข่งผมฝึกฝนตัวเองให้แข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ ในปี 1979 ผมซ้อมเข้มข้นขึ้นและถือว่ามันเป็นการซ้อมที่ดีที่สุดของผมเลยด้วย … ผมฝันหวานเลยล่ะ” ดอน เพจ ชายผู้ถูกเรียกว่า “ชาวอเมริกันที่เร็วที่สุดในประเทศ” กล่าว

“หลังจากนั้น คาร์เตอร์ก็บอกว่า ‘เราจะไม่ไปแข่ง’ ผมนี่แบบ … นี่ล้อกันเล่นหรือเปล่าวะ ? เราจะไม่ไปโอลิมปิกเหรอ ผมอาจจะปวดใจที่คิดว่าโอลิมปิกไม่เกี่ยวกับการเมือง ซึ่งความจริงแล้วพวกเขา (รัฐบาล) ทำ … และการเมืองมันเกี่ยวข้องกับกีฬาโอลิมปิกมาโดยตลอด ทั้งที่ปากของพวกเขาแสร้งด้วยคำพูดที่สวยงามมากมาย” 

“พูดก็พูดเถอะ หลังจากเหตุการณ์นั้น ผมไม่เคยดูการแข่งขันวิ่ง 800 เมตรในโอลิมปิกเลยสักครั้ง ผมสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ดูมันให้เจ็บปวดหัวใจแน่ ๆ ช่างมันเหอะ ผมคิดว่าผมแก้แค้นพวกเขาไปแล้ว ทุกวันนี้ผมเป็นคนรีพับลิกันเต็มตัว 100%”


Photo : Wikiwand

“คาร์เตอร์คิดว่าการคว่ำบาตรเป็นวิธีสันติ … ไม่ใช่วิธีทางทหารในการประท้วงการรุกราน ถามจริง ตลกตายล่ะ” เพจ กล่าวอย่างร้อนแรง

เสียงของนักกีฬาอเมริกันในยุคนั้นออกมาพูดถึง “การเสียโอกาสในชีวิต” จากการคว่ำบาตรโอลิมปิก 1980 มากมาย … มันมากจน ซาราห์ เฮิร์ชสแลนด์ (Sarah Hirshland) ที่เคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมการโอลิมปิกและพาราลิมปิกของสหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลานั้น ต้องเขียนจดหมายเปิดผนึกเพื่อขอโทษที่ทำร้ายความฝัน และความพยายามของเหล่านักกีฬาอเมริกันทุกคน


Photo : USA Today

“ถึงนักกีฬาโอลิมปิกของสหรัฐอเมริกา ในปี 1980 มันเห็นได้ชัดเจนว่าการที่เรา (อเมริกา) ไม่ส่งทีมนักกีฬาไปแข่งขันที่มอสโกนั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อการเมืองในโลกยุคนั้นแต่อย่างใดเลย”

“เมื่อเวลาผ่านไปเรากลับพบว่ามันทำร้ายคุณ ที่คอยอุทิศตัวเพื่อความเป็นเลิศ และเพื่อเป็นตัวแทนของชาติ … เราควรจะสนับสนุนพวกคุณมากกว่านี้ พวกคุณสมควรได้รับสิ่งที่ดีกว่า พวกคุณควรได้กลายเป็นบุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลัง และพวกคุณควรจะได้ไปแข่งขัน เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศของเรา” 

มันคงจะดีหากจดหมายเปิดผนึกของประธานโอลิมปิกอเมริกาฉบับนี้ สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ … แต่โลกความจริงนั้นโหดร้ายเสมอ จดหมายฉบับดังกล่าว “มาช้าไป 40 ปี” ซึ่งตอนนี้ มันแทบจะไม่มีความหมายอะไรแล้ว นอกจากทำให้ความขุ่นเคืองที่เคยมีทุเลาลงบ้าง ในฐานะคนที่ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อความเป็นเลิศด้านกีฬา 

เป็นอีกครั้งที่ทำให้เราเห็นว่า “ถ้าการเมืองดี” ทุกอย่างก็จะดีตามอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะการเมืองท้องถิ่นหรือระดับโลก หากการเมืองดี ก็สามารถสนับสนุนและให้ความสำคัญกับประชาชนได้อย่างเท่าเทียม และจะไม่เคยเรื่องที่ทำให้เกิดความแตกแยก เหมือนที่โอลิมปิก 1980 เป็น 


Photo : CNN 

กีฬาไม่เกี่ยวกับการเมือง … คงเป็นประโยคที่ทำได้จริงยาก เพราะการเมืองผูกกันกับทุกเรื่องในชีวิตมนุษย์ ความจริงที่โหดร้ายและชัดเจนของเรื่องนี้คือ แม้ประธานโอลิมปิกอเมริกาจะกล่าวคำขอโทษและบอกว่าประเทศคิดผิด แต่บุคคลทางการเมืองอย่าง วอลเตอร์ มอนเดล รองประธานาธิบดี ณ เวลานั้น ก็ได้ออกมาพูดในมุมของคนการเมืองว่า

“สหรัฐอเมริกาทำในสิ่งที่ถูกต้อง … และขอโทษด้วยที่ความถูกต้องนั้นได้ทำร้ายพวกเขา” มอนเดล กล่าวกับ The Wall Street Journal ในตอนท้าย อันเป็นบทสรุปของเรื่องนี้อย่างชัดเจน 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ